เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนก.ย. 2555 บ่งชี้จีดีพีไตรมาส 3/2555 อาจออกมาต่ำกว่าคาด
- Details
- Category: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
- Published: Friday, 01 April 2016 09:54
- Hits: 1604
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนก.ย. 2555 บ่งชี้จีดีพีไตรมาส 3/2555 อาจออกมาต่ำกว่าคาด
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยเดือนก.ย. 2555 ยังคงย้ำภาพผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีต่อการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยให้ปรากฎชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านการหดตัวที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะเดียวกัน แม้ภาคการใช้จ่ายในประเทศจะยังคงขยายตัวได้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน แต่ระดับของรายจ่ายทั้งเพื่อการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน ที่ไม่สะท้อนภาพการเร่งตัวขึ้นเหมือนในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านั้น (ยกเว้น การใช้จ่ายของภาคเอกชนบางรายการ อาทิ ยอดขายรถยนต์ ที่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการของรัฐบาล) ก็อาจเป็นสัญญาณว่า กิจกรรมการใช้จ่ายภายในประเทศหลายรายการที่เคยได้รับแรงหนุนจากตามซ่อมแซม-ฟื้นฟูในช่วงหลังน้ำลด น่าจะมีภาพที่อ่อนแรงลง
จากภาพความอ่อนแอของเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขจีดีพีของไทยในช่วงไตรมาสที่ 3/2555 (ซึ่งสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะประกาศในวันที่ 19 พ.ย. 2555) จะมีค่าต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เบื้องต้นที่ร้อยละ 3.9 (YoY) ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ซึ่งเป็นการย้ำภาพการชะลอตัวจากไตรมาส 2/2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 (YoY) ท่ามกลางความซบเซาของเศรษฐกิจในหลายๆ ภูมิภาคของโลก
การใช้ภายในประเทศไม่เร่งตัว...ท่ามกลางบรรยากาศความเชื่อมั่นที่ถดถอยลง การใช้จ่ายของภาคเอกชนในเดือนก.ย. 2555 หดตัวลงจากเดือนก่อนหน้าท่ามกลางภาพการถดถอยลงของความเชื่อมั่น โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนถดถอยลงร้อยละ 0.8 (MoM) และร้อยละ 0.5 (MoM) ในเดือนก.ย. 2555 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ที่พลิกกลับลงไปอยู่ต่ำกว่าระดับ 50.0 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน (ซึ่งสะท้อนความไม่เชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคธุรกิจ) โดยปรับตัวลงไปที่ระดับ 49.9 ในเดือนก.ย.2555 จาก 50.2 ในเดือนส.ค. ย้ำภาพผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีต่อบรรยากาศการทำธุรกิจ
แม้ว่าปริมาณจำหน่ายยานยนต์ (ทั้งรถยนต์นั่งและรถกระบะ) จะอยู่ในระดับสูงโดยมีอานิสงส์สำคัญจากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกของรัฐ แต่ก็คงต้องยอมรับว่า อัตราการเติบโตของยอดขายรายเดือนเริ่มมีภาพที่ชะลอลงกว่าในช่วงหลายเดือนก่อน นอกจากนี้ การหดตัวของการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และการนำเข้าสินค้าทุน ก็น่าจะเป็นส่วนที่สะท้อนว่า การเร่งตัวหลังผลกระทบอุทกภัย