WORLD7

หุ้นกู้ทั่วไปและหุ้นกู้ Crowdfunding ความเหมือนที่แตกต่าง

LINE it!
หุ้นกู้ทั่วไปและหุ้นกู้ Crowdfunding ความเหมือนที่แตกต่าง
0 Share

 

หุ้นกู้ทั่วไปและหุ้นกู้ Crowdfunding ความเหมือนที่แตกต่าง

โดย ฝ่ายนโยบายสินทรัพย์ดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเงิน และฝ่ายสื่อสารองค์กร

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) 

 

          ในช่วงที่ผ่านมาหลายท่านคงได้เห็นการระดมทุนในลักษณะการเสนอขาย หุ้นกู้ ที่ออกและเสนอขายโดยบริษัทต่างๆ เป็นจำนวนมากซึ่งมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ แต่ทราบหรือไม่ว่า บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก อย่างเช่น SMEs และ Startups ก็สามารถระดมทุนในลักษณะเช่นเดียวกันได้โดยวิธีการออกและเสนอขาย หุ้นกู้ Crowdfunding แม้ว่าหุ้นกู้ทั้งสองประเภทนี้จะเป็นทางเลือกทั้งในการระดมทุนและการลงทุนได้เช่นกัน โดยบทความนี้จะขอชวนผู้อ่านได้รับทราบถึงความเหมือนและความต่างในรายละเอียด ดังนี้

 

12424 SEC Crowdfunding

          หุ้นกู้ทั่วไป และ หุ้นกู้ Crowdfunding เป็นตราสารทางการเงินประเภทเดียวกัน คือ ตราสารหนี้ ที่ผู้ออกหุ้นกู้มีสถานะเป็นลูกหนี้ และผู้ลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ทั้งหุ้นกู้ทั่วไปและหุ้นกู้ Crowdfunding มีผลตอบแทนการลงทุนที่ได้รับเหมือนกันคือ ดอกเบี้ยและคืนเงินต้นให้แก่ผู้ลงทุน เมื่อครบกำหนดเวลาตามที่ระบุไว้ โดยผู้ออกและเสนอขายหุ้นกู้ทั่วไป (issuer) ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่ต้องการระดมทุน สามารถกำหนดประเภท อายุ และลักษณะของหุ้นกู้ที่เสนอขายให้สอดคล้องกับความต้องการระดมทุนได้ หุ้นกู้ทั่วไปเป็นทางเลือกในการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการได้รับดอกเบี้ยสม่ำเสมอ ยอมรับความเสี่ยงการลงทุนในหุ้นกู้ได้ มีกำหนดระยะเวลาการลงทุนที่แน่นอนตามอายุของหุ้นกู้ ส่วนหุ้นกู้ Crowdfunding เป็นการระดมทุนวิธีหนึ่งของกิจการ SMEs และ Startups ที่ระดมทุนจากคนหมู่มาก ผ่านช่องทางออนไลน์ เสนอขายผ่าน “เว็บไซต์ตัวกลาง” หรือ funding portal ที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งหุ้นกู้ Crowdfunding เป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับผู้ที่สามารถยอมรับความเสี่ยงได้สูง เนื่องจากกิจการที่เข้ามาระดมทุนส่วนใหญ่เป็น SMEs หรือ Startups ที่เพิ่งทำธุรกิจได้ไม่นาน ธุรกิจยังมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความรู้จักบริษัท ศึกษารายละเอียดธุรกิจ รวมถึงผลการดำเนินงานเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน จากความเสี่ยงที่สูง จึงทำให้ดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ผู้ลงทุนจึงมักจะสูงตามไปด้วยเพื่อชดเชยความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามหลัก High risk High expected return 

          ก่อนระดมทุน: กรณีหุ้นกู้ทั่วไป เมื่อบริษัทตัดสินใจระดมทุน จะยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลตามเกณฑ์ที่ระบุไว้มาที่ ก.ล.ต. เพื่อพิจารณาขออนุญาต เช่น การเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไป (Public offering: PO) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth: HNW) เป็นต้น กรณีหุ้นกู้ Crowdfunding บริษัทจะนำแผนการดำเนินธุรกิจ (business plan) เสนอต่อ funding portal เพื่อคัดกรองบริษัท และเปิดเผยข้อมูลบริษัทและหลักทรัพย์ที่จะเสนอขายบนเว็บไซต์ของ funding portal เพื่อให้ผู้ลงทุนใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ การเสนอขายหุ้นกู้ Crowdfunding ไม่ได้เป็นการเสนอขายเป็นการทั่วไป แต่จำกัดการเข้าซื้อได้ให้เฉพาะผู้ลงทุนที่เป็นสมาชิกของ funding portal เท่านั้น 

          การพิจารณาลงทุน: เมื่อต้องการลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไป ผู้ลงทุนควรพิจารณาความเสี่ยงและปัจจัยอื่นๆ รวมถึงต้องติดตามการจัดอันดับหรือเรตติ้งของหุ้นกู้ที่ลงทุนด้วย ซึ่งเรตติ้งนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในกรณีที่บริษัทมีสถานะและความสามารถในการชำระหนี้เปลี่ยนไป ส่วนหุ้นกู้ Crowdfunding เนื่องจากผู้ระดมทุนเป็นกิจการขนาดเล็กหรือเป็นกิจการที่เพิ่งเริ่มต้น ดังนั้น เพื่อจำกัดความเสียหายจากการลงทุน ก.ล.ต. จึงกำหนดเกณฑ์ให้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลทั่วไปสามารถลงทุนแบบคราวด์ฟันดิง ได้ไม่เกิน 100,000 บาทต่อบริษัทที่เสนอระดมทุน และมูลค่าเงินลงทุนรวมไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้) เพื่อให้ผู้ลงทุนกระจายการลงทุนในแต่ละบริษัทไม่มากจนเกินไป และเพื่อให้บริษัทไม่ระดมทุนจากผู้ลงทุนกลุ่มนี้มากเกินไป จึงกำหนดวงเงินระดมทุนไว้ โดยบริษัทแต่ละแห่งจะระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลทั่วไปได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท (นับรวมทั้งหุ้นและหุ้นกู้ โดยไม่นับมูลค่าหุ้นกู้คราวด์ฟันดิงที่ชำระหนี้แล้ว) โดยมี Funding Portal ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงให้หุ้นกู้ Crowdfunding หรือ Credit Scoring ของบริษัทนั้นๆ ซึ่งผู้ลงทุนควรพิจารณาอัตราดอกเบี้ย หรือความเสี่ยงที่เหมาะสมกับตนเองก่อนลงทุน 

          หลังจากการระดมทุน/ลงทุน: สำหรับหุ้นกู้ทั่วไป Issuer ต้องรายงานผลการขายต่อ ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่กำหนด และต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับรายงานทางการเงินและข้อมูลอื่นที่เป็นสาระสำคัญต่อผู้ลงทุนอย่างครบถ้วน เช่น ข้อมูลอัตราส่วนการทางเงินที่สำคัญ (key financial ratio) วัตถุประสงค์การใช้เงิน รายงานตามมาตรา 57[1] รายงานการเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ภายหลังการออกหุ้นกู้ เป็นต้น และถูกต้อง ทันเวลา เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ ในกรณีหุ้นกู้ Crowdfunding หากบริษัทสามารถระดมเงินทุนได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ บริษัทก็จะได้รับเงินทุนไปดำเนินการตามวัตถุประสงค์ และผู้ลงทุนก็จะได้หุ้นกู้ของบริษัทไปตามสัดส่วนเงินที่ลงทุนโดยกิจการจะได้เงินเมื่อระดมทุนได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ของมูลค่าที่เสนอขาย ซึ่ง Funding Portal ต้องเปิดเผยและแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบก่อนการลงทุน โดย Issuer มีหน้าที่รายงานผลการขายต่อ ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่กำหนด และรายงานความคืบหน้าในการใช้เงินรวมถึงรายงานตามมาตรา 57 เช่นกัน

          จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่ากระบวนการพิจารณาออกและอนุญาตเสนอขายหุ้นกู้ทั่วไปและหุ้นกู้ Crowdfunding มีความแตกต่างกัน ถ้าเป็นหุ้นกู้ทั่วไป ก.ล.ต. เป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ออกและเสนอขาย ในขณะที่หุ้นกู้ Crowdfunding ก.ล.ต. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบผู้ให้บริการ Funding Portal เท่านั้น และ Funding Portal จะเป็นผู้คัดกรองคุณสมบัติและให้ข้อมูลการเสนอขายของ issuer ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องพึงตระหนักว่าหุ้นกู้ Crowdfunding เป็นเครื่องมือในการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง เหมาะสำหรับผู้ที่เข้าใจความเสี่ยง โดยเลือกลงทุนเพื่อมีโอกาสรับผลตอบแทนสูงหากโครงการหรือธุรกิจนั้นประสบความความสำเร็จ ในทางกลับกันหากไม่สำเร็จก็สามารถสูญเงินทั้งจำนวนได้เช่นกัน ทั้งนี้ ก.ล.ต. ไม่ได้รับรองผลิตภัณฑ์หรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจ Funding Portal และผลตอบแทนในการลงทุน ผู้ลงทุนจึงควรศึกษารายละเอียดผลิตภัณฑ์และความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น จากผู้ให้บริการ Funding Portal เพิ่มเติม และหากพบการกระทำของผู้ให้บริการ Funding Portal ที่มิชอบ แจ้งมายังสายด่วน ก.ล.ต. ได้ที่ โทร 1207 หรือ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

          หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อยจากความเหมือนและความต่างของหุ้นกู้ทั้งสองประเภท ซึ่งสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนตระหนักรู้และพึงยอมรับได้ 

 

[1] มาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

 

 

12424

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

SME 720x100 66

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

QIC 720x100

TOA 720x100

วิริยะ 720x100AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

gen 720x100