WORLD7

การคุ้มครองผู้ลงทุนตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

LINE it!
การคุ้มครองผู้ลงทุนตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ
0 Share

SEC news

การคุ้มครองผู้ลงทุนตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ

โดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

 

          ก.ล.ต. มีภารกิจหลักตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ) ในการออกหลักเกณฑ์ กำกับดูแลการปฏิบัติงานของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดทุนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และบังคับใช้กฎหมายเมื่อมีการฝ่าฝืนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้มีส่วนได้เสียและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลงทุน ดังนั้น “การคุ้มครองผู้ลงทุน” ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและดำเนินการควบคู่ไปกับกระบวนการการทำงานด้านต่างๆ ของ ก.ล.ต. ตลอดทั้งสาย ตั้งแต่ด้านการระดมทุน เช่น ผ่านการออกหลักทรัพย์ การกำกับธุรกิจในตลาดทุน และการบังคับใช้กฎหมาย หรือที่เรียกกันว่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ 

          ในบริบทนี้ขอชวนมาทำความเข้าใจกับ “การคุ้มครองผู้ลงทุน” ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเป็นภารกิจที่อยู่ปลายน้ำ โดยอาจมองได้ทั้งมิติของกระบวนการทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระทำผิดอันเนื่องจากการซื้อขายหรือการกระทำที่ไม่เป็นธรรมในตลาดทุน และการกระทำความผิดโดยทุจริตของกรรมการและ/หรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนหรือธุรกิจในตลาด 

          แม้การกระทำฝ่าฝืนกฎหมายจะเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งเมื่อเทียบกับการดำเนินงานและธุรกรรมปกติในตลาดทุน แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำผิดเพียงไม่กี่ครั้ง มักส่งผลกระทบในวงกว้างต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน ก.ล.ต. จึงให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด เช่น การเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้ผู้ลงทุนหรือตลาดทุนเสียหาย การเอาเปรียบผู้ลงทุนโดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ล่วงรู้มา การสร้างราคาหลักทรัพย์ เป็นต้น โดย ก.ล.ต. จะดำเนินการกับผู้กระทำผิดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในตลาดทุน 

          ความผิดที่เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มความผิด ดังนี้

          (1) กลุ่มการเปิดเผยข้อมูลที่อาจทำให้ผู้ลงทุนหรือตลาดทุนเสียหาย แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 

                    1.1 มาตรา 240 การบอกกล่าวหรือเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จหรือที่ทำให้สำคัญผิด อาจเป็นข้อมูลเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงานของบริษัท ราคาการซื้อขายหลักทรัพย์ และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์นั้น 

                    1.2 มาตรา 241 การวิเคราะห์หรือคาดการณ์ ที่ใช้ข้อมูลเท็จหรือบิดเบือนข้อมูล ซึ่งรู้ว่าข้อมูลนั้นเป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วนแต่ยังเลือกใช้ข้อมูลนั้น ละเลยพิจารณาความถูกต้องของข้อมูล หรือบิดเบือนข้อมูลที่นำมาใช้ ซึ่งทั้ง 2 กรณี ได้ส่งผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์และส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน โดยความผิดในมาตรา 240 และ 241 นั้น มีบทลงโทษตามมาตรา 296 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่ผู้ฝ่าฝืนเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 296/2 ในส่วนของโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของผลประโยชน์

          (2) กลุ่มการเอาเปรียบผู้ลงทุนโดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ล่วงรู้มา แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ 

                    2.1 มาตรา 242 การซื้อขายหลักทรัพย์โดยใช้ข้อมูลภายใน โดย “ข้อมูลภายใน” ในที่นี้หมายถึง ข้อมูลที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหรือมูลค่าของหลักทรัพย์ มีบทลงโทษตามมาตรา 296 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 296/2 ในส่วนของโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของผลประโยชน์

                    2.2 มาตรา 244/1 และ 244/2 การซื้อขายหลักทรัพย์ตัดหน้าลูกค้า โดยใช้ข้อมูลคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ของลูกค้าซึ่งเป็นการที่ลูกค้า ส่งแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อหรือขายหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้า ไปยังโบรกเกอร์ บลจ. พนักงาน หรือลูกจ้าง และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องนำข้อมูลเหล่านั้นไปบอกต่อผู้อื่นโดยนำข้อมูลคำสั่งซื้อขายของลูกค้าไปใช้ประโยชน์ มีบทลงโทษตามมาตรา 296 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 296/2 ในส่วนของโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของผลประโยชน์

          (3) กลุ่มการสร้างราคาหลักทรัพย์ แบ่งออกเป็น 2 กรณี คือ

                    3.1 มาตรา 244/3 (1) การซื้อขายหลักทรัพย์ที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดเกี่ยวกับราคาหรือปริมาณการซื้อขาย ดังที่ปรากฏเป็นข่าวในช่วงที่ผ่านมา สร้างความเข้าใจผิดต่อผู้ลงทุนและประชาชนทั่วไป โดยการร่วมกันเข้าซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนทำให้เสมือนว่าหุ้นมีราคาหรือปริมาณการซื้อขายเปลี่ยนแปลงผิดปกติและไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นภายในเวลาที่กำหนด จึงส่งผลกระทบต่อบริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งและผู้ลงทุนรายย่อย ซึ่งมีบทลงโทษตามมาตรา 296 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 5 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 296/2 ในส่วนของโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของผลประโยชน์

                    3.2 มาตรา 244/3 (2) การซื้อขายหลักทรัพย์ในลักษณะต่อเนื่องกันโดยมุ่งหมายทำให้ราคาหรือปริมาณการซื้อขายผิดไปจากสภาพปกติของตลาด ซึ่งการกระทำผิดนี้มีบทลงโทษตามมาตรา 296/1 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 1 ล้านบาท ถึง 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 296/2 ในส่วนของโทษปรับเป็นเงินไม่เกิน 2 เท่าของผลประโยชน์

          ในกรณีที่มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์ข้างต้น การไม่ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการหรือผู้บริหารตามมาตรา 89/7 หรือการใช้บัญชีบุคคลอื่นซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น ก.ล.ต. สามารถเลือกนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับได้ โดยเสนอให้คณะกรรมการพิจารณามาตรการลงโทษทางแพ่ง (ค.ม.พ.) เป็นผู้เห็นชอบและกำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่ง โดยพิจารณาถึงปัจจัย 4 ด้าน ได้แก่ (1) ความร้ายแรงของการกระทำ (2) ผลกระทบต่อตลาดทุน (3) พยานหลักฐาน (4) ความคุ้มค่าในการดำเนินการ
          เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นจะดำเนินมาตรการลงโทษ ดังนี้
          1. ชำระค่าปรับทางแพ่ง

          2. ชดใช้ผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงที่จะได้รับจากการกระทำความผิด

          3. ห้ามซื้อขายหลักทรัพย์/สัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี 

          4. ห้ามเป็นผู้บริหาร/กรรมการ ของบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี

          5. ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคืนแก่ ก.ล.ต. 

          ทั้งนี้ มาตรการลงโทษดังกล่าวขึ้นอยู่กับคณะกรรมการ ค.ม.พ. พิจารณาบังคับใช้ ไม่จำเป็นต้องใช้ทุกมาตรการ โดยหากผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมปฏิบัติตามมาตรการลงโทษทางแพ่ง ก.ล.ต. มีอำนาจฟ้องต่อศาลแพ่ง เพื่อขอให้ศาลพิจารณากำหนดมาตรการลงโทษทางแพ่งให้ผู้กระทำความผิดปฏิบัติต่อไป 

          สำหรับการกระทำความผิดโดยทุจริตของกรรมการและ/หรือผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนหรือธุรกิจในตลาดทุน พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ยังกำหนดแนวทางการทำหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารของบริษัท ว่าต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ความระมัดระวัง และความซื่อสัตย์สุจริต รวมทั้งต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย วัตถุประสงค์ ข้อบังคับของบริษัท มติคณะกรรมการตลอดจนมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตามมาตรา 89/7 โดยหากพบว่ากรรมการและผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่สุจริต เช่น การมีพฤติการณ์ร่วมกันกระทำหรือยินยอมให้มีการลงข้อความเท็จ ทำบัญชี ไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง การเปิดเผยงบการเงินที่เชื่อได้ว่ามีการตกแต่งงบการเงิน เป็นต้น จะมีบทลงโทษตามมาตรา 312 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5 แสน ถึง 1 ล้านบาท

          อย่างไรก็ดี การดำเนินการกับผู้กระทำผิดในแต่ละกรณีมีความแตกต่างกัน ตามข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการพิสูจน์การกระทำความผิดตามองค์ประกอบของกฎหมาย ซึ่งในบางกรณีการรวบรวมและแสวงหาหลักฐานทำได้ไม่ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับอาชญกรรมทางเศรษฐกิจ บางกรณีสามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่พิสูจน์การกระทำผิดได้อย่างชัดเจน ประกอบกับเป็นข้อมูลที่ผู้กำกับดูแลสามารถเรียกตรวจสอบได้ทันที แต่ในขณะเดียวกันมีการกระทำความผิดหลายกรณีที่พยานหลักฐานส่วนใหญ่อยู่กับผู้กระทำผิดที่ต้องการปกปิดหรือกระทำอำพรางความผิดของตน อย่างกรณี “การกระทำทุจริตของผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียน” ที่จำเป็นต้องแสวงหาข้อมูลและพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การกระทำผิดและต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ 

          ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้จัดลำดับความสำคัญในการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุนและตลาดทุน
ในวงกว้าง โดยบูรณาการความร่วมมือและร่วมทำงานกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นเมื่อมีกรณีบังคับใช้กฎหมาย เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บชก.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดทุน

          นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังเดินหน้ามาตรการส่งเสริมและยกระดับการคุ้มครองผู้ลงทุน โดยการจัดทำโครงการยกระดับทั้งองคาพยพในตลาดทุนในส่วนที่เป็นต้นน้ำและกลางน้ำ เพื่อให้ป้องกันเหตุที่ไม่สมควรเกิดในตลาดทุน (ปลายน้ำ) ได้มากขึ้น ได้แก่ (1) การคัดกรองคุณภาพและกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ให้ดำเนินธุรกิจโดยยึดหลักแห่งธรรมาภิบาล การปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการจดทะเบียนโดยอ้อม (backdoor listing) ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น และ (2) การยกระดับบุคลากรในตลาดทุนที่เกี่ยวข้องอย่างผู้สอบบัญชี ที่ปรึกษาทางการเงิน บุคลากรของบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์ ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างชอบธรรมและรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างแท้จริง และ (3) การสร้างกลไกที่เอื้ออำนวยให้ผู้ลงทุนมีความรู้และสามารถปกป้องสิทธิตนเองได้ 

          ก.ล.ต. มุ่งเน้นการดำเนินการตามพันธกิจภายใต้ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ โดยการปฏิบัติหน้าที่บนหลักของความถูกต้อง เป็นธรรม กำกับและพัฒนาตลาดทุนให้น่าเชื่อถือ มีประสิทธิภาพ โดยสามารถติดตามความคืบหน้าการดำเนินการกับผู้กระทำความผิดและการบังคับใช้กฎหมายได้ที่เว็บไซต์สำนักงาน ก.ล.ต. www.sec.or.th หากผู้ใดพบเห็นการกระทำความผิดในตลาดทุนสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ศูนย์บริการประชาชนโทร 1207 หรืออีเมล This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. 

 

 

A10675

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX

CKPower 720x100

MTL 720x100

kasat 720x100TOA 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100

iconmotor