- Details
- Category: ผู้ตรวจการแผ่นดิน
- Published: Sunday, 30 July 2017 08:54
- Hits: 4242
ผู้ตรวจการแผ่นดิน ชี้มติครม.จัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนไม่ขัดรธน. ไม่เป็นการสร้างภาระให้ประเทศ
ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยกรณีกองทัพเรือดำเนินโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S-26T จากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23 ประกอบ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำโดยมิได้ขอความเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ขัดต่อบทบัญญัติ มาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560
นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการและโฆษกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา และคณะ ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไว้เมื่อวันที่ 8 พ.ค.60 โดยได้วินิจฉัยร่วมกันว่า กองทัพเรือได้เสนอโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 ไว้ในคำของบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ภายใต้ยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ งบรายจ่ายอื่น ในลักษณะก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2566 ซึ่งเป็นไปตามภารกิจ หน้าที่ ความรับผิดชอบ และยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ (พ.ศ.2558-2567) และสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ.2558-2564) กรณีนี้จึงต้องเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติการก่อหนี้ผูกพันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 ใช้บังคับ ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 23 วรรสามแห่ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ภายหลัง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 ต.ค.59 สำนักงบประมาณได้รวบรวมรายการที่จะต้องก่อหนี้ผูกพันของส่วนราชการต่างๆ เสนอให้ ครม.พิจารณา ซึ่งรวมถึงโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกองทัพเรือด้วย ต่อมาวันที่ 25 ต.ค.59 ครม.ได้มีมติอนุมัติให้กองทัพเรือก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 วงเงินงบประมาณ 13,500 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาหกสิบวันนับตามกำหนด ส่วนมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 เม.ย.60 นั้นเป็นการรับทราบและเห็นชอบตามความเห็นของสำนักงบประมาณก่อนดำเนินการต่อไป เนื่องจากโครงการนี้ก่อหนี้ผูกพันมีวงเงินรวมกันเกิน 1,000 ล้านบาท ส่วนราชการเจ้าของเรื่องจะต้องนำเสนอ ครม.รับทราบอีกครั้งหนึ่งตามระเบียบการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ พ.ศ.2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กรณีนี้จึงมิได้ขัดต่อกฎหมายวิธีการงบประมาณแต่อย่างใด
ในการนี้ ครม.ได้นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงการต่างประเทศที่มีความเห็นในทำนองเดียวกันว่า ข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำมีลักษณะเป็นการทำสัญญาซื้อขายในเชิงพาณิชย์ในทำนองเดียวกับการทำสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชน มิได้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าลักษณะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาประกอบการพิจารณาให้ความเห็นชอบและมีมติอนุมัติโครงการจัดหาเรือดำน้ำแล้ว ซึ่งแสดงว่า ครม.ได้พิจารณาแล้วว่าการดำเนินการตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำมิได้มีลักษณะเป็นสัญญาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 178
กรณีนี้ จึงไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน และหาก ครม.เห็นว่าหนังสือสัญญาดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ครม.ก็มีอำนาจที่จะเสนอเรื่องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ทั้งนี้ตามนัยมาตรา 178 วรรคท้าย ประกอบกับบทบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินในการพิจารณาเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยแต่อย่างใด กรณีที่มีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป้นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนหรือไม่ จึงไม่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 231 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
ทั้งนี้ กองทัพเรือได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ (กจด.) เพื่อศึกษาทั้งในระดับยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี เพื่อปกป้องรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตั้งแต่ภาวะปกติจนถึงภาวะขัดแย้ง โดยที่โครงการจัดหาเรือดำน้ำได้มีการริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2537 และได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงการเพื่อให้สอดคล้องกับสถานภาพของงบประมาณที่คาดว่าจะได้รับมาโดยลำดับ และสอดคล้องกับนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ
เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าเรือดำน้ำเป็นยุทโธปกรณ์ที่เปี่ยมประสิทธิภาพตามแนวคิดการรักษาความมั่นคงทางทะเล รวมทั้งมีขีดความสามารถสูง และสามารถปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย ทั้งภาวะปกติและภาวะขัดแย้ง จึงเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีความจำเป็นสำหรับกองทัพเรือในการปกป้องและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ประกอบกับการดำเนินการจัดซื้อเรือดำน้ำได้ดำเนินการภายใต้กรอบแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือที่ได้กำหนดไว้แล้ว จึงมิได้เป็นการสร้างภาระแก่ประเทศชาติหรือประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือเกินสมควรแก่เหตุแต่อย่างใด
"ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัยให้ยุติการพิจารณาเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เนื่องจากการดำเนินการตามโครงการจัดหาเรือดำน้ำของกระทรวงกลาโหม โดยกองทัพเรือ และคณะรัฐมนตรี มิได้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด กรณีนี้จึงเป็นเรื่องที่มิได้เป็นไปตามมาตรา 230 และมาตรา 231 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560"นายรักษเกชา กล่าว
อินโฟเควสท์