- Details
- Category: ปปช.
- Published: Thursday, 07 January 2016 11:23
- Hits: 7401
ญาติ 99 ศพจุดเทียน-ค้านปปช.ตีตกคดี 'แม่เกด' พ่อเฌอ ลั่น-สู้ต่อ ลุยคนสั่ง ข้อหาฆ่า
แม่เกด พ่อเฌอ ญาติ 99 ศพ เดินเท้าต่อสู้เพื่อความยุติธรรม แถลงการณ์ 5 ข้อ ไม่เห็นด้วยมติป.ป.ช.ตีตกไม่ฟ้อง 'มาร์ค-เทือก'จวกยับกระบวนการได้มาของข้อเท็จจริงไม่โปร่งใส ไม่เรียกสอบพยานรอบด้าน สลายการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักสากล มีการใช้กระสุนจริง ใช้'สไนเปอร์' ปฏิบัติการยามวิกาล ลั่นจะต่อสู้ให้ความจริงปรากฏ นำผู้เกี่ยวข้องมาลงโทษ โดยเฉพาะคดีอาญา ข้อหาเจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผล ตามที่ศาลมีคำสั่งไปแล้ว 17 ศพ ตายด้วยกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่
วันที่ 07 มกราคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9171 ข่าวสดรายวัน
ค้านป.ป.ช. - นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นางพะเยาว์ อัคฮาด และกลุ่มญาติเหยื่อ 99 ศพ ร่วมจุดเทียน พร้อมอ่านแถลงการณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของป.ป.ช. ที่มีมติยกฟ้องคดีดังกล่าว ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อ วันที่ 6 ม.ค.
เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 6 ม.ค. ที่วัดปทุมวนาราม กทม. นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา ที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของม็อบเสื้อแดง เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 ที่บริเวณวัดปทุมฯ และนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดานายสมาพันธ์ ศรีเทพ เยาวชนนักกิจกรรมที่ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 บริเวณปากซอยรางน้ำ ถนนราชปรารภ ใส่เสื้อสีดำสกรีนข้อความว่า FIGHT FOR JUSTICE ร่วมกันรำลึกการสูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยการจุดธูปบอกกล่าวดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต โดยมีตำรวจและทหาร ทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 60 นาย วางกำลังรักษาความปลอดภัยและสังเกตการณ์อยู่รอบบริเวณวัด
จากนั้นนางพะเยาว์ นายพันธ์ศักดิ์ และญาติผู้สูญเสียเดินเท้าเพื่อไปยังอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนิน เพื่ออ่านแถลงการณ์คัดค้านมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สั่งไม่ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553 และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.
ต่อมาเวลา 17.30 น. กลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเดินเท้าถึงอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา จากนั้นนายพันธ์ศักดิ์อ่านแถลงการณ์ว่า กลุ่มญาติผู้เสียหายไม่เห็นด้วยต่อมติของ ป.ป.ช. เนื่องจาก 1.กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. ไม่ชัดเจน กระบวนการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงไม่โปร่งใส ไม่เรียกพยานหลักฐานไปให้ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน และไม่เรียกพยานจากทางผู้เสียหายไปให้ปากคำ 2.กลุ่มญาติผู้เสียหายเห็นว่าการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมากมาจากนโยบายรัฐบาล โดยมีเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ หรือเป็นผู้ก่อ หรือใช้ให้มีการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาเล็งเห็นผล ไม่ใช่ความรับผิดเฉพาะตัว
โดยมีปัจจัยประกอบ ดังต่อไปนี้ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง นำไปสู่การใช้กองกำลังติดอาวุธเพื่อสลายการชุมนุม การใช้กระสุนจริงสลายการชุมนุม การเข้าสลายการชุมนุมในยามวิกาล กระบวน การการป้ายสีผู้ชุมนุมว่าเป็นพวกล้มเจ้าและสมควรตาย ส่งผลให้ทหารในสังกัดและประชาชนที่สนับสนุนเห็นชอบต่อการสลายการชุมนุมด้วยกำลังอาวุธ ด้วยการแสดงผังล้มเจ้าและนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งภายหลัง พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษก ศอฉ. ได้ยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นความเท็จ การให้ข้อมูลเท็จว่ากลุ่มผู้ชุมนุมมีกองกำลังติดอาวุธในนามชายชุดดำ และทหารที่เสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน เกิดจากน้ำมือของชายชุดดำ การจัดวางพลซุ่มยิงตามพื้นที่ด่านเข้มแข็ง ทำให้มีประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก กระจายกันในหลายพื้นที่ และผู้เสียชีวิตล้วนแต่ถูกยิงที่จุดสำคัญ และการปฏิเสธที่จะเจรจาต่อรองโดยสิ้นเชิง
นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า 3.กลุ่มญาติผู้เสียหายเห็นว่าการที่ ป.ป.ช.อ้างอยู่หลายครั้งว่าการสลายการชุมนุมเป็นไปตามหลักสากลนั้นเป็นข้อวินิจฉัยที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เนื่องจากปฏิบัติการดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักสากลที่กล่าวอ้าง เป็นการใช้อำนาจและกำลังเกินกว่าเหตุ ขัดกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ที่รัฐไทยเป็นภาคี ดังมีข้อเท็จจริงของการสลายการชุมนุมที่ขัดกับหลักสากลเกิดขึ้นต่อไปนี้ ไม่มีการแจ้งให้ผู้ชุมนุมและผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงทราบล่วงหน้าเกี่ยวกับการสลายการชุมนุม การใช้กระบอง แก๊สน้ำตา และกระสุนยางอย่างไม่ได้สัดส่วนและไม่แยกแยะ การสลายการชุมนุมยามวิกาล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก
แถลงการณ์ระบุต่อว่า การอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงในการสลายการชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง วันที่ 10 เม.ย. และวันที่ 19 พ.ค. การวางพลซุ่มยิง หรือสไนเปอร์ บนพื้นที่สูง โดยมีเป้าหมาย ที่พลเรือนผู้บริสุทธิ์ และเป็นการเล็งไปยังจุดสำคัญของร่างกาย เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยการซุ่มยิงจำนวนมาก การประกาศเขตการใช้กระสุนจริงในหลายพื้นที่ เสมือนเป็นใบอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้กระสุนจริงโดยขาดวิจารณญาณ ต่อเมื่อถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศโจมตีอย่างหนัก จึงปลดป้ายออกจากพื้นที่ การขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ ประชาชนไม่น้อยต้องเสียชีวิตเพราะหน่วยแพทย์อาสาไม่สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันท่วงที เพราะไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ รวมทั้งการยิงสกัด อีกทั้งหน่วยแพทย์อาสาหน่วยต่างๆ ก็ถูกข่มขู่คุกคาม ทำร้ายจนเสียชีวิต 6 ราย แม้จะแต่งกายและใส่เครื่องหมายที่ชัดเจนก็ตาม
นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า 4.กลุ่มญาติ ผู้เสียหายเห็นว่าข้อกล่าวอ้างของ ป.ป.ช. ว่าการที่ ศอฉ.ปรับเปลี่ยนรูปแบบปฏิบัติการ ทำให้สามารถลดความสูญเสียได้เป็นจำนวนมากนั้นเป็นเท็จ เพราะเมื่อวันที่ 6 พ.ค.2553 ศอฉ.ได้ปรับเปลี่ยนวิธีการ ด้วยการมีคำสั่งจัดตั้งด่านแข็งแรงรอบพื้นที่การชุมนุมสี่แยกราชประสงค์ จำนวน 6 จุด มาตรการดังกล่าว นำไปสู่ มีการวางพลซุ่มยิงบนพื้นที่สูง มีการประกาศเขตการใช้กระสุนจริงในหลายพื้นที่ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันแนวร่วมเข้าไปในพื้นที่การชุมนุม ขัดขวางการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ สลายการชุมนุมยามวิกาล ด้วยอาวุธสงครามและกระสุนจริง ทำให้มีผู้เสียชีวิตเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 13-19 พ.ค. รวม 58 ราย และบาดเจ็บจำนวนมาก
นายพันธ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า 5.กลุ่มญาติ ผู้เสียหายเห็นว่าข้อวินิจฉัยของ ป.ป.ช. นอกจากจะเป็นความผิดพลาดร้ายแรงแล้ว ยังปราศจากบรรทัดฐานของความยุติธรรม หากเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. เองต่อกรณีการสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 โดยมีมติชี้ว่านายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กับพวกมีความผิด ทั้งที่กรณีการสลายการชุมนุม นปช. ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์กับพวก มีความรุนแรงหนักหน่วงอย่างต่อเนื่องต่างกันอย่างเห็นได้ชัด
แถลงการณ์ระบุต่อว่า จากประมวลข้อเท็จจริง (บางส่วน) ที่กลุ่มญาติผู้เสียหายได้รวบรวมมา จะเห็นได้ว่าคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ให้คำร้องต่อการถอดถอนนายอภิสิทธิ์และพวกตกไปนั้น ไม่ได้ยืนอยู่บนหลักฐานข้อเท็จจริงตามที่ ป.ป.ช.ได้แถลงไว้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ ป.ป.ช. นอกจากจะไม่โปร่งใส และไม่สามารถตรวจสอบได้แล้ว ยังเป็นเครื่องมือในการช่วยเหลือให้ผู้เกี่ยวข้องพ้นผิด บิดเบือนกระบวนการยุติธรรม เข้าข่ายการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตด้วยเช่นกัน กลุ่มญาติผู้เสียหายจะขอยืนหยัดต่อสู้เพื่อให้ความจริงปรากฏ และนำอาชญากรที่มีส่วนร่วมในการสังหารหมู่ประชาชนในทุกระดับมาลงโทษ เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เยี่ยงนี้ขึ้นอีกในอนาคต
นายพันธ์ศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า หลายคนเข้าใจผิดต่อกรณีมติของป.ป.ช. เพราะเป็นคดีปกครองมาตรา 157 แต่ที่ญาติต่อสู้อยู่คือคดีทางอาญา ข้อหาเจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 เพราะคดีอาญายังคงอยู่ และมี 17 รายที่ศาลมีคำสั่งว่าถูกกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงผู้เสียชีวิต 6 รายในวัดปทุมฯ ซึ่งจะต้องต่อสู้ในคดีอาญาต่อไป ขณะที่กรณีนายสมาพันธ์ ลูกชายนั้น ยังทำอะไรไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิต
ส่วนนางพะเยาว์กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ขอให้หยุดเคลื่อนไหว เพราะกำลังปฏิรูปประเทศว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของความยุติธรรม ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป หากพล.อ.ประวิตรจะปฏิรูป ก็ให้ปฏิรูปไป เพราะจะไม่ยอมให้ลูกตายฟรี อยากเรียนถามกลับว่าหากลูกหลานใครตาย จะมีใครยอมหยุดที่จะทวงหาความยุติธรรมให้หรือไม่
จากนั้นกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตร่วมกันจุดประทัด โดยระบุว่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ส่งเสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้ดังขึ้น และจุดเทียนร่วมกัน ก่อนร้องเพลงนักสู้ธุลีดินปิดท้ายกิจกรรมสู้เพื่อความยุติธรรม หรือ FIGHT FOR JUSTICE