- Details
- Category: ปปช.
- Published: Thursday, 17 December 2015 11:58
- Hits: 9423
นักวิชาการวิพากษ์ 'วัชรพล'นั่งประธานป.ป.ช.
ยุทธพร อิสรชัย - ชำนาญ จันทร์เรือง
สุขุม เฉลยทรัพย์-ธวัชชัย ศุภดิษฐ์
หมายเหตุ - ความคิดเห็นของนักวิชาการต่อกรณีที่ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติในที่ประชุม ป.ป.ช.เลือกให้ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่
ยุทธพร อิสรชัย
รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ส่วนตัวมองว่าบุคคลที่จะเข้ามาทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต้องมีคุณสมบัติครบถ้วน เป็นที่ยอมรับของสังคม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในเรื่องของการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชั่น ต้องสามารถประสานงานและประสานความร่วมมือ กล้าคิดกล้าตัดสินใจต่างๆ ได้
ซึ่ง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ถือว่ามีความเหมาะสมพอสมควร เพราะเคยผ่านงานระดับประเทศมาแล้ว โดยเป็นถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ น่าจะมีความรู้เรื่องกฎหมายพอสมควร
ดังนั้น อยากให้ทุกฝ่ายรอดูผลงานของ พล.ต.อ.วัชรพล ในการทำหน้าที่ประธาน ป.ป.ช.ว่าจะเป็นอย่างไร
ส่วนข้อครหาที่ระบุว่า พล.ต.อ.วัชรพล ใกล้ชิดกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ส่วนตัวเห็นว่าข้อวิพากษ์วิจารณ์มันเกิดขึ้นได้เสมอทุกยุคทุกสมัย โดยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ถูกวิจารณ์ว่าการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเอาเฉพาะพรรคพวกตัวเองหรือพวกที่มีสายสัมพันธ์ ส่วนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ถูกวิจารณ์เช่นกัน
ฉะนั้น ในแง่ของการวิพากษ์วิจารณ์ไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของ ป.ป.ช. เพราะโดยปกติคนทั่วไปจะต้องมีคนที่รู้จักกัน มีคนที่รู้มือรู้ใจกันเป็นธรรมดา
แต่ว่าสิ่งที่จะพิสูจน์ได้คือผลการทำงานของ ป.ป.ช.นับจากนี้ไปมากกว่าว่าจะออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะ พล.ต.อ.วัชรพล ว่าจะสามารถปฏิบัติงานให้เป็นรูปธรรมและทำให้ ป.ป.ช.ไม่ได้มีบทบาทแค่เพียงปราบปรามการทุจริตหรือการใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ควรจะต้องมีบทบาทในการป้องกันหรือทำงานเชิงรุกที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตด้วย เช่น การส่งเสริมหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมเรื่องหลักนิติธรรม ส่งเสริมเรื่องความโปร่งใสให้เกิดขึ้นในทุกส่วนของสังคม ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า
อยากฝากกรรมการ ป.ป.ช.ให้มุ่งเน้นการทำงานแบบเชิงรุก ทำงานในลักษณะการป้องกันการทุจริตมากกว่าเพียงแค่การทำหน้าที่ปราบปราม หรือไปตรวจสอบที่ปลายทาง โดยกระบวนการตรวจสอบต้องเกิดตั้งแต่จุดเริ่มต้น และต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ความโปร่งใส และหลักธรรมาภิบาลด้วย
ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ถ้าถามว่ามีการล็อบบี้หรือไม่ คงไม่มีใครยอมรับว่ามีการล็อบบี้ ถามว่ามีความคุ้นเคย สนิทชิดเชื้อกันหรือไม่ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ารู้จักกัน ซึ่งมีการเปลี่ยนจากอดีตผู้พิพากษาที่ทำงานอีกสไตล์หนึ่ง มาเป็นประเด็นอดีตตำรวจ จะอีกสไตล์หนึ่ง
โดยกระบวนการสรรหาเข้ามาสู่ตำแหน่ง แน่นอนว่าก็ต้องมีกระบวนการเฟ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่แล้ว ถามว่าจะเปลี่ยนแปลงมากหรือไม่ คิดว่าทิศทางคงเปลี่ยน เปลี่ยนจากชุดเดิม เพราะสถานการณ์ในขณะนี้ก็เปลี่ยนไปหมด คดีต่างๆ ของกลุ่มอำนาจเดิมก็เปลี่ยนหมดแล้ว
แต่อย่าลืมว่าคนที่ให้การรับรอง หนึ่งคือการสรรหา สองคือการให้การรับรองโดยวุฒิสภา ในที่นี้หมายถึงสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ซึ่ง สนช.ทาง คสช.ก็เป็นคนตั้ง ถ้าคดีไหนที่จะเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจปัจจุบัน ในปัจจุบัน คสช.เป็นคนกุมอำนาจแม่น้ำ 3 สาย แม่น้ำ 5 สายก็ว่ากันไป คงหวังได้ยากว่าจะทำอย่างตรงเผง 100 เปอร์เซ็นต์ มีอำนาจเด็ดขาดเลย ไม่มีทาง ในส่วนตัวของ พล.ต.อ.วัชรพลก็มีปัญหา ในเรื่องที่มีคนมองว่าสมัยก่อนตอนที่จะถอดยศนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็มีการหน่วงกันไปหน่วงกันมา จนหัวหน้า คสช.ต้องใช้ ม.44
โดยสรุป ผมมองว่าการใช้อำนาจของ ป.ป.ช.คงหวังได้ยากที่จะตรวจสอบผู้มีอำนาจปัจจุบัน ถ้าเป็นสมัยก่อนที่เปิดกว้าง มีวุฒิสมาชิกมาจากการเลือกตั้ง มีการสรรหามา ทั้งนี้ ป.ป.ช.ชุดที่แล้วก็มีปัญหา เพราะมาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เหมือนกัน โอกาสที่เปลี่ยน ประสิทธิภาพก็คงต่างกัน
สุขุม เฉลยทรัพย์
ประธานที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยสวนดุสิต
มองได้ 2 ทาง คือ ถ้ามองในมิติเชิงบวกการที่มีประสบการณ์ในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะเรื่องของการที่เป็นตำรวจมีเรื่องของการสอบสวน การหาพยานหลักฐาน การดูพฤติกรรมของผู้ที่ต้องสงสัยทางคดี หรือรูปแบบในกระบวนการยุติธรรม ตรงนี้ก็จะเป็นข้อได้เปรียบในเชิงบวกกว่าบุคคลธรรมดา
นอกจากนี้ ค่อนข้างที่จะผ่านในเรื่องของกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีต่างๆ มายาวนาน ก็ถือเป็นประสบการณ์เชิงบวก
แต่ถ้ามองในเชิงลบ ในมิติของการทำอาชีพใดอาชีพหนึ่งที่เกี่ยวพันกับการตั้งข้อหา ตั้งข้อสงสัย ในการตรวจจับต่อบุคคลทั่วไป กับลักษณะงานของ ป.ป.ช.บางครั้งความที่จะโน้มเอียงในลักษณะของการชี้นำในรูปแบบของการดำเนินคดี เช่น มีอคติติดอยู่ในเรื่องใดอยู่ตรงนี้ก็อาจจะไปบดบังวิสัยทัศน์ในเรื่องของความเป็นธรรมได้
จะเห็นว่าในส่วนของกระบวนการยุติธรรมของศาล ผู้พิพากษา อัยการ ถ้าเรียบเรียงตรงนี้จะเห็นว่า ทำไมการวางตัวหรือพฤติกรรมของอัยการหรือผู้พิพากษาที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมมักจะเป็นคนที่ค่อนข้างปิด ไม่เข้าสมาคมอะไรมากนักซึ่งเป็นแบบฉบับมานาน เพราะกลัวในเรื่องของเพื่อนพ้อง ฯลฯ เข้ามาทำให้การพิจารณา หรือกระบวนการยุติธรรมถูกบั่นทอน
แต่วงการของตำรวจ เป็นอาชีพที่ต้องคลุกคลีกับส่วนต่างๆ เยอะ ซึ่งมีทั้งคนดีและไม่ดี พฤติกรรมอันนี้หากมองในเชิงลบอาจจะไม่เหมาะนักสำหรับการเป็น ป.ป.ช. ที่พูดนี้เป็นเพียงแค่การตั้งข้อสงสัย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมองบวกหรือมองลบ เราต้องเคารพการเลือกที่มีคะแนนถึง 7 ต่อ 2 เสียง
ที่ถามว่า มองอย่างไรกับกระแสเรื่องความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้น ต้องยอมรับว่าในภาวะปัจจุบันนี้ พล.อ.ประวิตรเป็นผู้ที่มากด้วยบารมีในสายตาของคนทั่วไป ดังนั้น ใครก็ตามตอนนี้ถ้าสนิทกับท่านแล้วก้าวเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญในตอนนี้ก็มักจะถูกมองว่าเกี่ยวข้องกับท่านทั้งสิ้น แต่จะจริงไม่จริงก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่ถามว่าสนิทกันอย่างนี้ แน่นอนก็จะเป็นที่คลางแคลงใจของประชาชน และฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับ พล.อ.ประวิตร ซึ่งก็จะทำให้การทำงานของ พล.ต.อ.วัชรพลลำบากขึ้น เพราะจะถูกจ้องมองว่าจะเข้าข้าง หรือตั้งธงหรือไม่
ธวัชชัย ศุภดิษฐ์
รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
มองได้ 2 นัยยะ นัยยะแรกคือ การที่ พล.ต.อ.วัชรพลถูกมองว่าเป็นคนใกล้ชิดกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในระยะยาวอาจจะตั้งพรรคการเมืองของทหารขึ้นมา และอาจจะให้น้ำหนักเรื่องการปราบปรามคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่ในอนาคตอาจจะมีลักษณะทำนองนี้เกิดขึ้น
นัยยะที่สอง คือ อาจจะเป็นการเลือกตั้งของคณะกรรมการ ป.ป.ช.กันเอง แต่โดยปกติแล้วการเลือกตั้งมักมีการล็อบบี้กันอยู่แล้ว เชื่อว่าคงเป็นการส่งเข้าไป เพียงแต่จะเป็นประเด็นอะไรนั้น ผมไม่ทราบว่าจะเป็นแง่บวกหรือแง่ลบ ในแง่บวกคือ การให้ พล.ต.อ.วัชรพลเข้าไปทำหน้าที่ประธาน ป.ป.ช. อาจเพื่อให้การทำงานขับเคลื่อนการปราบปรามทุจริตรวดเร็วมากขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
แง่ลบ คือ การวางฐานตัวเองต่อไปในอนาคตก็ได้ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าข้างในมีการเลือกกันอย่างไร จริงๆ คนที่ให้คำตอบได้คือคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่ร่วมกันคัดเลือกประธาน ป.ป.ช. แต่คนนอกไม่รู้ ในเรื่องกระบวนการสรรหาที่เลือกออกมา คะแนนค่อนข้างจะขาด ทำไมถึงมีการเลือกลักษณะนั้นเกิดขึ้น ทั้งยังเป็นคนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลด้วย
ทั้งนี้ คนที่ชอบรัฐบาลก็อาจจะบอกว่า ไปช่วยในการปราบปรามทุจริต ส่วนคนที่ไม่ชอบรัฐบาลก็อาจจะบอกว่า น่าจะเป็นการวางฐานอำนาจต่อเรื่องหนึ่งเรื่องใดเอาไว้ก็ได้
โอกาส ป.ป.ช.
บทนำมติชน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. จำนวน 9 คน ประกอบด้วย กรรมการเก่า 4 คน ได้แก่ นายปรีชา เลิศกมลมาศ พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง นายณรงค์ รัฐอมฤต น.ส.สุภา ปิยะจิตติ และกรรมการใหม่ 5 คน ได้แก่ พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ นายวิทยา อาคมพิทักษ์ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร ได้ประชุมเพื่อคัดเลือกประธาน ป.ป.ช.คนใหม่ ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 45/2558
ผลการลงมติปรากฏว่า พล.ต.อ.วัชรพลได้รับเสียงโหวต 7 เสียง ส่วนนายปรีชาได้รับเสียงโหวต 2 เสียง หลังจากนั้นจะนำชื่อ พล.ต.อ.วัชรพลขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อโปรดเกล้าฯ เป็นประธาน ป.ป.ช.ต่อไป เท่ากับว่าในขณะนี้ พล.ต.อ.วัชรพลเป็นว่าที่ประธาน ป.ป.ช. และการดำเนินการของ ป.ป.ช.ชุดใหม่ก็สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องต่อไป โดยมีภารกิจที่คั่งค้างจากชุดที่แล้วจำนวนมากซึ่งต้องเร่งสะสาง
ภารกิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่ นอกจากจะมีหน้าที่พิจารณาสำนวนคำร้องข้อหาทุจริตประพฤติมิชอบแล้ว ยังต้องพิสูจน์ภาพลักษณ์ของ ป.ป.ช. ซึ่งโดนครหามากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่ามีมาตรฐานการยกเรื่องขึ้นมาพิจารณา มาตรฐานการพิจารณา รวมถึงมาตรฐานการตัดสินที่เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ข้อครหาเช่นนี้มิได้มีต่อ ป.ป.ช.เป็นการเฉพาะ หากแต่องค์กรอิสระอีกหลายแห่งต่างตกอยู่ในสภาพเดียวกัน โดยเฉพาะเหตุการณ์ในปี 2556-2558 ซึ่งมีคดีเกี่ยวกับนักการเมืองเข้าสู่การพิจารณาหลายคดี มีข้อสงสัยเรื่องความเป็นกลางและมาตรฐานในการตัดสิน
ดังนั้น ในโอกาสที่ ป.ป.ช.เปลี่ยนชุดและมีประธานคนใหม่ ป.ป.ช.จึงมีโอกาสพิสูจน์ตัวเองด้วยการวางตัวและดำรงตนให้อยู่ในความยุติธรรม ไม่มีอคติเกาะกุมจิตใจ ไม่มีบุคคลหรือองค์กรหรืออำนาจใดเข้ามาแทรกแซง ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ ป.ป.ช.ต้องพิสูจน์ให้เห็นจากการทำงานหนักนับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ซึ่งหาก ป.ป.ช.สามารถปฏิบัติตนจนได้รับการยอมรับในความยุติธรรม ได้รับความเชื่อถือในความซื่อสัตย์ ต่อไป ป.ป.ช.จะเป็นแบบอย่างที่ดีให้องค์กรอิสระอื่นที่กำลังประสบปัญหาเดียวกันอยู่ในขณะนี้ นี่จึงคือโอกาสของ ป.ป.ช.