- Details
- Category: ปปช.
- Published: Sunday, 26 July 2015 09:20
- Hits: 7832
'สมบัติ'ขอพักงานที่ปรึกษาปปช. หลังเจอเรื่องฉาวถูกไต่สวนปมขสมก.
แนวหน้า : พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณี พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เรียกร้อง พล.ต.อ.สถาพร รับผิดชอบในการแต่งตั้งนายสมบัติ ธรธรรม เป็นที่ปรึกษากรรมการป.ป.ช. ทั้งที่เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอดีตกรรมการบริหารองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)ถูกร้องเรียนกรณีจัดประกวดให้เช่าเนื้อที่โฆษณาบนรถเมล์ปรับอากาศ จำนวน 1,109 คัน ว่า นายสมบัติ ได้แสดงเจตนารมณ์กับตน เพื่อขอพักการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันอังคารที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผลในวันที่ 22 ก.ค. เนื่องจากนายสมบัติระบุว่ามีความไม่สบายใจต่อกรณีที่คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตั้งนายสมบัติเป็นที่ปรึกษาของตน และเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการทำงานหน้าที่กรรมการป.ป.ช.ของตนด้วยจึงได้ขอพักการปฏิบัติหน้าที่ของตัวเอง อย่างไรก็ตาม เป็นการพักทำหน้าที่เนื่องจากมีคดีขสมก.อยู่ เมื่อมีการพิจารณาคดีขสมก.เสร็จสิ้น แล้วมีการชี้มูลว่านายสมบัติมีความผิดจะต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่ปรึกษากรรมการป.ป.ช.ไปเลย
พล.ต.อ.สถาพร กล่าวว่า สำหรับการแต่งตั้งที่ปรึกษาในระเบียบกำหนดว่า ให้มาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและให้ข้อเสนอแนะแก่กรรมการป.ป.ช. ส่วนหน้าที่รับผิดชอบของตนในป.ป.ช.คือ งานปราบปราม คดีอาญา คนที่จะมาเป็นที่ปรึกษาจะต้องมีความรู้ ประสบการณ์ในด้านงานไต่สวน และงานสอบสวนคดีอาญา ซึ่งนายสมบัติจบกฎหมาย มีประสบการณ์ในงานนี้มามาก เคยเป็นทนายความว่าความมาเยอะ ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา จึงมาช่วยตนในการกลั่นกรองคดี ทั้งนี้ คดีการประมูลเช่าเนื้อที่โฆษณาบนรถเมล์ปรับอากาศเกิดขึ้นในปี 2542 และมีการร้องเรียนมายังป.ป.ช.ตอนปี 2544 โดยมีการแสวงหาข้อเท็จจริงจนนำมาสู่การแต่งตั้งอนุกรรมการไต่สวนในปี 2546 จากนั้นมีการไต่สวนมาจนถึงปี 2550 ก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวอนุกรรมการไต่สวนมาเป็นนายใจเด็ด พรไชยา โดยตอนแรกไต่สวนเพียง 2 คนเท่านั้น คืออดีตผอ.ขสมก.และเจ้าหน้าที่อีก 1 คน นายสมบัติยังไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง กระทั่งมาถึงปี 2556 มีการขยายไต่สวนไปในส่วนของอนุกฎหมายในการพิจารณาสัญญาเช่าของขสมก. ซึ่งมีนายสมบัติเป็น 1 ในอนุกฎหมายดังกล่าว ต่อมาปี 2557 อนุกรรมการไต่สวนฯ ที่มีการเปลี่ยนประธานอนุกรรมการไต่สวนมาเป็นนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการป.ป.ช. ได้มีความเห็นว่า ควรจะต้องไต่สวนบอร์ดขสมก.ปี 2542 ทั้งชุด ซึ่งมีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช. และนายสมบัติอยู่ด้วย ดังนั้น นายสมบัติ จึงเพิ่งโดนไต่สวนเมื่อปี 2556 แต่ตนแต่งตั้งเมื่อปี 2555 คือ ถูกไต่สวนหลังจากตนแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาไปแล้ว ซึ่งตอนที่แต่งตั้งตนไม่ทราบเรื่อง เพิ่งมาทราบตอนที่อนุกรรมการไต่สวนฯได้ไต่สวนนายสมบัติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดเมื่อทราบว่า นายสมบัติ ถูกไต่สวนจึงไม่ปลดออกหรือพักการทำหน้าที่ พล.ต.อ.สถาพร กล่าวว่า ได้แจ้งต่อคณะกรรมการป.ป.ช.ว่าตนขอถอนตัวในการร่วมพิจารณาคดีนี้ แต่คิดว่ายังไม่พอ จึงได้ไปสอบถามนายสมบัติว่าเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แล้วทำไมไม่บอกตนตั้งแต่ทีแรก เขาบอกว่าไม่ทราบเรื่อง เพิ่งมาทราบเรื่องตอนถูกไต่สวนในปี 2556 เพราะตั้งแต่ปี 2544 ก็ไม่เคยมีชื่อของเขาเลย จากนั้นพอทราบเขาก็มาดูว่าเขาทำอะไรผิดไปในบอร์ดขสมก.หรือไม่ ซึ่งเขาอธิบายว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องสัญญาลดหนี้ให้กับบริษัทที่ทำสัญญากับขสมก. เพราะไม่มีอำนาจเนื่องจากเป็นอนุกฎหมาย ส่วนในฐานะบอร์ดขสมก.ก็เป็นการพิจารณาในภาพรวมของบอร์ด เขาสามารถให้ประนีประนอมในเรื่องของหนี้ได้
"ทั้งสองประเด็นนี้ ผมเห็นว่า ไม่ได้เป็นการทุจริตโดยส่วนตัว แต่ทำในรูปของบอร์ด ประการสำคัญคือ เขาถูกกล่าวหา แสดงว่ายังไม่ได้มีความผิด ยังไม่ได้ถูกอนุกรรมการไต่สวนแจ้งข้อกล่าวหาเขาเลย แต่หากอนุกรรมการไต่สวนฯไต่สวนเป็นที่ยุติว่าให้แจ้งข้อกล่าวหานายสมบัติ ผมก็จะปลดทันที เพราะถือว่ามีมลทินในการที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษากรรมการป.ป.ช. แต่หากอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่าไม่มีมูลก็จะให้นายสมบัติกลับมาทำหน้าที่ที่ปรึกษาเช่นเดิม" พล.ต.อ.สถาพร กล่าว
เมื่อถามว่า คิดว่าการที่ นายสมบัติ ถูกป.ป.ช.ไต่สวน ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่กรรมการป.ป.ช.ของตนเองหรือไม่ พล.ต.อ.สถาพร กล่าวว่า ไม่มีผลกระทบต่อการทำงานของตน เพราะเป็นที่ปรึกษาทางคดีเท่านั้น งานอื่นๆ ตนก็พิจารณาด้วยตัวเอง เมื่อถามว่า มีชื่อของน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการป.ป.ช.ถูกไต่สวนในฐานะบอร์ดขสมก.ด้วยนั้นได้มีการพูดคุยกันหรือไม่ พล.ต.อ.สถาพร กล่าวว่า ไม่ได้พูดคุยกันแต่อย่างใด เพราะเป็นเรื่องทางคดี ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล เมื่อถามย้ำว่า ในเมื่อนายสมบัติแสดงเจตนารมณ์ในการพักการปฏิบัติหน้าที่ตัวเองแล้ว น.ส.สุภาควรแสดงเจตนารมณ์ด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.สถาพร กล่าวว่า ตนไม่ขอก้าวล่วงในส่วนนั้น การถูกกล่าวหายังไม่ใช่การถูกชี้ว่าเป็นผู้กระทำผิด ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานส่วนบุคคล