WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

P8

'ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ'สะท้อนภาพ'องค์กรปราบโกง'ล้างครหา'ดับเบิลสแตนดาร์ด'

มติชนออนไลน์ : สัมภาษณ์พิเศษ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2558  

หมายเหตุ - นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์พิเศษ "มติชน" เนื่องในโอกาสดำรงตำแหน่งครบวาระในวันที่ 22 พ.ค. 2558 ถึงแนวทางการดำเนินงานของ ป.ป.ช.ในอนาคต

- การทำงานของ ป.ป.ช.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง รวมถึงการแก้ปัญหาการทุจริต

     การที่ได้มาทำงานใน ป.ป.ช.ถือเป็นความภาคภูมิใจเพราะงานปราบปรามการทุจริตถือเป็นงานที่สำคัญของประเทศ การได้มีโอกาสมาทำงานตรงนี้ถือเป็นโอกาสที่ดีและเป็นเกียรติที่ได้รับความกรุณาที่ได้ทำหน้าที่ประธาน ป.ป.ช. โดยได้รับความร่วมเป็นอย่างดีจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้บริหารสำนักงาน ป.ป.ช. และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้วยดีมาตลอด รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ต้องประสานงานร่วมกัน

อย่างไรก็ตามเป็นธรรมดาของงานไต่สวนที่จะต้องมีปัญหาและอุปสรรคพอสมควร แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี ได้ผลการทำงานเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แม้ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นจะไม่หมดไปเพราะมีอยู่จำนวนมาก แต่การทำงานของคณะกรรมการ ป.ป.ช.น่าจะเป็นแนวทางหรือพื้นฐานในการทำงานให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดต่อไปได้ ทั้งเรื่องงานป้องกันและงานปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมไปถึงการทำงานในมิติใหม่ๆ การเปิดตัวเองไปสู่นานาชาติงานด้านต่างประเทศถือว่างานด้านการป้องกันทำได้อย่างดี ส่วนงานปราบปรามก็พยายามทำในขอบเขตอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมาย ป.ป.ช.

     ป.ป.ช.ทำหน้าที่ไต่สวน จนโดนกล่าวหาว่าไม่เป็นมาตรฐาน แต่ก็ไม่เป็นอะไร กรรมการ ป.ป.ช.พยายามทำงานในอำนาจหน้าที่ให้ดีที่สุด และอธิบายให้สังคมรับฟังว่า การทำงานของ ป.ป.ช.เป็นอย่างไร แต่ยังมีที่ถูกเข้าใจผิดว่าทำคดีของฝ่ายนั้นมากเกินไป ทำของฝ่ายนี้น้อยเกินไป ต้องเข้าใจด้วยว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้มีที่มาจาก คมช.และทำงานที่ต่อเนื่องจาก คตส. คตส.มีหน้าที่ไต่สวนรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พอ ป.ป.ช.รับงานต่อมา งานที่ทำจึงหนักไปในการตรวจสอบรัฐบาลชุดดังกล่าว แต่ในความเป็นจริง ป.ป.ช.ดำเนินการไต่สวนทุกรัฐบาล แต่ใครจะเข้าใจไปอย่างนั้นก็ไม่เป็นอะไร เราต้องพยายามชี้แจงสังคมให้เข้าใจ 

      ที่ผ่านมาอาจจะโดนมองว่าเลือกปฏิบัติ ยืนยันว่าทำงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่วนคนมองจะมองเราอย่างไร เราต้องอธิบายว่าได้ทำตามกฎหมาย แต่บางเรื่องต้องใช้เวลา ป.ป.ช.พยายามทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด สามารถทำงานลุล่วงได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังมีคดีที่ยังค้างอยู่กว่า 8,000 คดี และได้ตั้งเป้าไว้ว่าในสิ้นปี"58 จะต้องบริหารจัดการคดีให้ลดลงไปกว่า 50% 

- ภาพของการเลือกปฏิบัติยังติดอยู่กับ ป.ป.ช. มองอย่างไร

    ยอมรับว่ามันยังติดอยู่ แต่จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อมันเป็นอย่างนี้ เพราะคณะกรรมการชุดนี้ถูกตั้งโดยรัฐบาลเฉพาะกิจของ คมช. ทำให้ภาพนี้ยังอยู่กับ ป.ป.ช.ว่าทำงานเพื่อตรวจสอบอีกฝ่ายหนึ่ง อีกส่วนคือภารกิจหน้าที่ มาจาก คตส. ก็ล้วนแต่เป็นคดีที่ตรวจสอบทางด้านทุจริต จึงถูกข้อครหาว่าทำไมเล่นแต่ทางนั้น ไม่ตรวจสอบทางนี้ ความจริงเราทำทุกอย่าง ทุกคดี แต่บางคดียังไม่มีข้อมูล ยังไม่ได้ตามที่ขอไป แต่ขณะนี้ยังเร่งทำอยู่ อย่างคดีจำนำข้าวก็มีข้อมูลเข้ามาจำนวนมาก และเป็นคดีที่สนใจของสังคม มีข้อมูลที่ได้เข้ามาใหม่ๆ มีข้อมูลจากงานวิชา จึงทำได้อย่างรวดเร็วทั้งเรื่องถอดถอนและไต่สวน ในส่วนคดีประกันราคาข้าวก็ทำไปได้จำนวนมาก บางเรื่องต้องตกไป ยังเหลืออีก 2-3 คดี เราเร่งทำอยู่ ไม่ใช่เราไม่ทำ แต่พยายามหาข้อมูลแล้ว แต่ไม่ได้ข้อมูลมา และคอยชี้แจงความคืบหน้าให้ได้รับทราบ

- คำกล่าวที่ว่า ป.ป.ช.ทำงานโดยเลือกข้างแล้ว จะชี้แจงอย่างไร

     ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เพราะถึงจะพูดอย่างไรคนที่เข้าใจอย่างนั้นก็ยังเข้าใจอย่างนั้นอยู่ดี ดังนั้นต้องแสดงออกด้วยการปฏิบัติของเราเอง โดยต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรง ทำทุกคดี ทำทุกคำร้องที่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฝ่ายไหนที่เข้ามาก็ต้องทำ เช่น เรื่องสลายการชุมนุมกำลังไต่สวนอยู่ ถึงแม้ว่าเราจะอธิบายไปอย่างไร ภาพของ ป.ป.ช.ถูกเข้าใจอย่างนั้น คงลำบากที่จะอธิบาย ดังนั้นต้องอธิบายด้วยการปฏิบัติ ต้องทำให้ชัดเจนมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ผมอยากให้ภาพพจน์ของ ป.ป.ช.เป็นหลักให้กับสังคม ให้เป็นที่เชื่อถือว่าต่อต้านการทุจริต ป.ป.ช.สามารถทำงานปราบปรามทุจริตได้โดยไม่เลือกปฏิบัติ ต้องการภาพอย่างนั้นและกำลังพยายามทำอยู่ คงต้องใช้เวลาพอสมควร ตอนนี้พยายามทำงานเพื่อให้เห็นว่าค่อยๆ มีผลว่าเราไม่ได้เลือกปฏิบัติ สังคมก็ต้องดูต่อไป กรรมการชุดนี้ทำงานอย่างเต็มที่เพื่อวางรากฐาน แม้เวลาเหลือน้อยก็ต้องพยายาม แล้วเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราไม่ได้เลือกปฏิบัติ

- เมื่อมีกรรมการ ป.ป.ช.ชุดใหม่เข้าทำหน้าที่ ต้องยอมรับภาพลักษณ์ดังกล่าวหรือไม่

     หากกรรมการชุดใหม่เข้ามาก็อาจจะดีขึ้น เพราะชุดเก่าที่ตั้งโดย คมช.กำลังจะหมดวาระไป แต่กรรมการ ป.ป.ช.ใหม่ๆ ที่เข้ามาโดยการสรรหา เช่น กรรมการ ป.ป.ช. 4 คนในขณะนี้จะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามปกติ ขณะนี้จึงมีการมอบหมายงานเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่สอดรับกันได้ โดยให้เข้าร่วมรับผิดชอบคดีที่กรรมการเดิมซึ่งกำลังจะหมดวาระไป ให้สามารถรับช่วงในคดีนั้นๆ ต่อไปได้อย่างราบรื่น ขณะนี้จึงอยู่ในรูปของกรรมการร่วมในทุกคดี เพื่อให้ส่งต่องานกันได้ หากกรรมการ ป.ป.ช.ทั้ง 5 คนหมดวาระไป ยังมีกรรมการอีก 4 คนคอยเป็นฐานให้ ทำให้รอยต่อในช่วงนี้มีความสำคัญมาก

      เทอมของประธานหมดไปตามวาระของอายุ 70 ปี ส่วนกรรมการอีก 4 คนจะหมดไปตามวันที่เข้าดำรงตำแหน่ง ในกฎหมาย ป.ป.ช.ระบุว่า ให้อยู่ในวาระจนกระทั่งมีกรรมการใหม่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ โดยทั้ง 4 คนจะหมดวาระในเดือนกันยายน 2558 ดังนั้นเมื่อหมดวาระในเดือนกันยายนแล้ว ทาง ป.ป.ช.ต้องแจ้งให้ที่ประชุมวุฒิสภาทราบ เพื่อให้มีการดำเนินการสรรหา

สิ่งที่ ป.ป.ช.ต้องรีบดำเนินการในขณะนี้ คือเรื่องกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ โดย ป.ป.ช.ต้องศึกษาจากร่างรัฐธรรมนูญที่มีออกมา เพื่อพิจารณาและเตรียมข้อเสนอแนะไปให้กรรมาธิการยกร่างฯ เช่น ประเด็นที่ระบุว่า ป.ป.ช.มีงานค้างอยู่จำนวนมาก จะให้ ป.ป.ช.ทำงานด้านการไต่สวนเพียงอย่างเดียว แต่ให้ลดจำนวนของการป้องกันลงไปจนเหลือน้อยมาก โดยประเด็นนี้ ป.ป.ช.เห็นว่าคงทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะงาน ป.ป.ช.ต้องทำทั้งงานป้องกันและงานปราบปราม จึงต้องยืนยันไปว่า ด้านป้องกันเราก็ต้องทำ ปราบปรามเราก็ต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะเป็นมีชื่อเป็น ป.ป.ช.ได้อย่างไร ไม่ใช่จะให้ตัดงานป้องกันออกไปเลย เป็นไปไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่ใช่ชื่อ ป.ป.ช คือ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ส่วนงานไต่สวนที่จะให้ ป.ป.ช.ทำเฉพาะไต่สวนในระดับสูง ส่วนอื่นๆให้ส่งมอบไปในหน่วยงานอื่น เห็นด้วยในระดับหนึ่ง เพราะงานไต่สวนหลักๆ ยังมีความจำเป็น เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ป.ป.ช.ควรต้องทำ และคดีถอดถอน คดีร่ำรวยผิดปกติ คดีฮั้ว ก็ควรเป็นหน้าที่หลัก ส่วนการไต่สวนผู้บริหารระดับท้องถิ่นที่ปฏิบัติมิชอบ ป.ป.ช.ก็ต้องขอทำ แต่อย่างไรก็ตามความจริงก็เป็นปัญหาของ ป.ป.ช.เหมือนกันเรื่องการบริหารจัดการคดีเพื่อให้ลดลง ป.ป.ช.ก็ต้องปรับตัวเองด้วย

- หากมีคำสั่งหัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ คิดเห็นอย่างไร

      ถ้ามีคำสั่งให้ต่อ แสดงว่าเห็นความจำเป็นว่าเรายังต้องทำงานในช่วงนี้ แต่ถ้าถามว่าหนักใจต่อกระแสต่อต้านหรือไม่ ต้องตอบว่ากระแสคงเป็นอย่างนั้น เพราะมีทั้งคนเชียร์และคนต่อว่า เหมือนการทำงานที่มีคนบอกว่าสองมาตรฐาน มีทั้งบอกว่าดี-ไม่ดี มันก็ธรรมดา เป็นเรื่องโลกธรรม มีทั้งสรรเสริญ นินทา ไม่เป็นอะไร เราต้องทำงานเต็มที่ เพราะคนเราถ้าทำงานโดยมีจุดมุ่งหมาย เราทำงานด้วยความสบายใจ ไม่มีอคติ พยายามทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด ปัญหามีก็ต้องแก้ไขไป อย่าไปท้อถอย หากมีคำสั่งดังกล่าวออกมาต้องทำงานต่อไป โดยเฉพาะเรื่องการวางรากฐานเพื่อให้กรรมการชุดใหม่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่เป็นเป้าหมายสำคัญ นอกจากนี้ยังมีงานที่ต้องทำร่วมกันกับรัฐบาลในเรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริต

      การต่อคงไม่ใช่ต่อไปหลายปี แต่ต่อในช่วงระยะเวลาต่อเนื่อง เพื่อที่จะให้สามารถเลือกกรรมการ ป.ป.ช.ตามเงื่อนไขใหม่ได้เท่านั้นเอง เพราะกรรมการ ป.ป.ช.ที่จะมาตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญใหม่ได้นั้นไม่ใช่ตามโครงสร้างเดิม สมมุติได้รับการต่อ บอกให้อยู่ต่อไปจนกระทั่งมีการเลือกกรรมการ ป.ป.ช.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ อาจจะ 1-2 ปี เพราะในรัฐธรรมนูญใหม่คงมีกรรมการสรรหามาจากหลากหลายมากกว่ารัฐธรรมนูญเก่า หากได้ต่ออายุก็จะทำงาน ไม่ใช่ต่อเพื่ออยู่ทำอะไรต่ออะไร

     เรื่องการทำงานป้องกันและปราบปรามทุจริตนั้นทุกคนจะเบื่อไม่ได้ ต้องถือสโลแกนที่ว่า "การต่อต้านการทุจริตเป็นภารกิจของคนทั้งประเทศ" ผมเองก็ถือสโลแกนนี้ประจำใจ ที่สำคัญอยู่ที่สำนึกของแต่ละคน ต้องให้ความร่วมมือต่อสังคม ไม่ละเลย ต้องถือเป็นวินัย ป.ป.ช.มียุทธศาสตร์เรื่องจิตสำนึกในการรักษาสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เห็นการทุจริตที่ไหนต้องตื่นตัว เพราะงบประมาณทุกบาท คือ เงินของประชาชน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!