- Details
- Category: ปปช.
- Published: Saturday, 23 September 2023 13:00
- Hits: 2021
ป.ป.ช. ขับเคลื่อนนโยบาย ‘No Gift Policy’ ยกระดับ ITA เจ้าหน้าที่รัฐทั่วประเทศ
เลขาฯ ป.ป.ช. ย้ำการเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย “เจ้าหน้าที่รัฐ ต้องไม่รับสินบน ไม่รับของขวัญ และไม่รับของกำนัล” (No Gift Policy) ให้สอดคล้อง “แผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ” จากหน่วยงานของรัฐ ต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง!
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. และคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ได้จัดทำ “แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ” (พ.ศ. 2566–2570) เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน รวมถึง “แผนปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและ ประพฤติมิชอบ” (ฉบับปรับปรุง) โดยกำหนดกิจกรรมปฏิรูปที่สำคัญคือ “พัฒนาระบบราชการไทยให้โปร่งใส ไร้ผลประโยชน์” ด้วยเป้าหมายสำคัญ คือการร่วมผลักดันหน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วน ประกาศเป็นหน่วยงานที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนพึงปฏิบัติด้วยการไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) ทั้งนี้เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐสามารถดำเนินนโยบาย “No Gift Policy” ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติหน้าที่ด้วยมาตรการเดียวกันและสามารถประยุกต์ใช้ให้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป
เท่าที่ผ่านมาพบว่าการทุจริตและประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ มีด้วยกัน 3 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่
1.) เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ราชการต้องปฏิบัติตามหน้าที่ราชการใดๆ ส่อให้เกิดการทุจริตมิชอบอาจเกิดจากกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง หรือได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติจากผู้บังคับบัญชา
2.) การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบโดยเจตนา และ
3.) การเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์อันมิควรได้รับโดยเจตนา
นายนิวัติไชย เลขาธิการ ป.ป.ช. จึงได้กล่าวย้ำถึงหลักปฏิบัติในการยึดมั่นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่รัฐ จากนโยบาย “No Gift Policy” ว่า เป็นแนวทางที่จะช่วยป้องกัน และลดโอกาสในการรับสินบน การนำมาซึ่งผลประโยชน์ทับซ้อนในรูปแบบต่างๆ ในกลุ่มของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เป็นการส่งเสริมและสร้างจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่รัฐ ในการปฏิเสธการรับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อเป็นการ “สร้างวัฒนธรรมองค์กรด้านคุณธรรมและความโปร่งใส (Organization of Integrity) ของระบบราชการให้เข้มแข็งและยั่งยืน อันจะช่วย “ยกระดับการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ตามแผนแม่บทฯ และแผนการปฏิรูปประเทศ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม” ดังนั้นนโยบายนี้จึงมีความสำคัญ เป็นส่วนหนึ่งของแนวทาง ใน “การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในหน่วยงาน ภาครัฐ” (ITA) ให้ยกระดับสูงขึ้นทุกๆ ปี จึงจำเป็นต้องติดตามผลการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และเป็นรูปธรรมกับข้าราชการในหน่วยงานของรัฐ ทั้งพื้นที่ส่วนกลางคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงทุกท้องหน่วยงานระดับท้องถิ่น ทุกๆ จังหวัดทั่วประเทศ
A9825