- Details
- Category: ปปช.
- Published: Saturday, 23 September 2023 12:05
- Hits: 1998
ป.ป.ช. ขับเคลื่อนจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระดับชาติ ปี 2566
สำนักงาน ป.ป.ช. เดินหน้าขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตต่อเนื่อง จัดโครงการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้หัวข้อ “ผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี: ความท้าทายของการทุจริตในอนาคต”
พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ประธานกรรมการ ป.ป.ช.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ร่วมงานสัมมนาโครงการ “แลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระดับชาติ ประจำปี พ.ศ. 2566” ภายใต้หัวข้อ “ผลการดำเนินการตามตัวชี้วัดด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี: ความท้าทายของการทุจริตในอนาคต” โดยงานจัดขึ้นที่ ห้องจูปิเตอร์ ชั้น 3 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 14 กันยายน พ.ศ.2566 ที่ผ่านมา
โดย พล.ต.อ.วัชรพล ประธาน ป.ป.ช. ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในหัวข้อ “กระบวนทัศน์รับมือกับการทุจริตในอนาคต” ว่า นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 ที่ ป.ป.ช. ได้จัดงานสัมมนาโครงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระดับชาติ เรื่อยมาเป็นประจำทุกปี ได้มีการประเมินการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และติดตามผล โดยหวังผลให้เกิดแรงกระเพื่อมด้านการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับชั้น ทั้งในพื้นที่ส่วนกลาง กทม. และระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสัมมนาดังกล่าวให้ตรงไปตามแผนแม่บทในหลายๆ ปีที่ผ่านมา รวมถึงแผนแม่บทเมื่อปี 2565 ที่นำมาใช้เป็นกรณีศึกษาหาจุดที่ต้องปรับปรุง เพื่อจะนำมาทบทวนบทเรียนกันกับการดำเนินงานของสำนักงาน ป.ป.ช. ในปัจจุบัน และแม้ว่าปีนี้จะมีคณะรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน อาจทำให้การพิจารณางบประมาณประจำปี พ.ศ. 2567 ต้องเลื่อนออกไป แต่ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. นั้นการดำเนินงานด้านการป้องปรามและปราบปรามการทุจริตยังคงต้องเดินหน้าต่อไป
สิ่งสำคัญที่สุดของเป้าหมายในการจัดสัมมนาทุกๆ ปี คือ การสร้างการตื่นตัวและตื่นรู้ให้กับข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการทุจริต และผลักดันให้เป็นวาระระดับชาติ โดยมีเป้าหมายสูงสุด คือ การลดปัญหาการทุจริตในทุกมิติ
ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวต่อว่า สืบเนื่องจากปีงบประมาณ 2564 การจัดสัมมนาโครงการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ระดับชาติ ว่าด้วยหัวข้อประเด็น “การถอดกับดักคอร์รัปชัน” (The Big Push in Corruption Trap) ซึ่งมีผลต่อเนื่องมาในปี 2565 ที่ทำให้เกิดโครงการที่ชื่อว่า “แท็คทีม”(Together against Corruption) ที่บูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ภาคประชาชน สมาชิกชมรม Strong-จิตพอเพียงต้านทุจริต ซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ได้มีการทำงานร่วมกันกับ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ส่วนกลาง สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด ร่วมกับผู้แทนจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้แทนจาก สำนักงาน ป.ป.ท. ผู้แทนจากอำเภอ กรมบัญชีกลาง หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และสื่อมวลชน โดยร่วมมือกันทำงานกระทั่งสามารถถอดหมุดความเสี่ยงต่อการทุจริตใน 27 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ ในปี 2565 ยังเป็นการสานต่อการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของ ป.ป.ช. ที่ได้เพิ่มหัวข้อ “ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” (Strong Together Against Corruption) ซึ่งส่งผลในแง่บวกและเป็นรูปธรรมเป็นวงกว้างในหน่วยงานของรัฐ ทำให้มีการปรับปรุงกลไกในการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐที่เปิดเผยและโปร่งใสมากขึ้น ลดการใช้ดุลยพินิจจากเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่ถูกต้อง ในขณะเดียวกันก็ทำให้ภาคประชาชนเกิดความตื่นตัวในการปกป้องทั้งสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิในทรัพย์สินส่วนของสาธารณะมากขึ้น เกิดการรักษาทรัพยากรและสาธารณประโยชน์ในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่การรุกล้ำจากโครงการต่างๆ ในท้องถิ่น จากการกระทำที่ส่อในทางทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้จัดจ้างและผู้รับจ้าง และนี่คือแนวทางของโครงการสัมมนาทุกครั้ง ที่จะช่วยลดปัญหาการทุจริตทุกช่องทางในอนาคต ภายใต้แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
A9815