- Details
- Category: ปปช.
- Published: Thursday, 14 September 2023 19:33
- Hits: 2747
คณะผู้แทนไทยและสำนักงาน ป.ป.ช. เข้าร่วมประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติ ต่อต้านการทุจริต สมัยที่ 14
ป.ป.ช. สานต่อเจตนารมย์พัฒนาการด้านการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทยสู่ระดับสากล เข้าร่วมประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ต่อต้านการทุจริต สมัยที่ 14
โดยคณะผู้แทนไทยประกอบด้วย นายชีวินท์ ณ ถลาง อุปทูตรักษาราชการ สถานเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเวียนนา นายสุวิทย์ แสวงทอง รองอัยการสูงสุด และเจ้าหน้าที่สำนักกิจการและคดีทุจริตระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ช. เข้าร่วมการประชุมต่อเนื่องของ การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต สมัยที่ 14 (Resumed 14th Session of the Implementation Review Group: IRG) ที่กรุงเวียนนา ประเทศสาธารณรัฐออสเตรีย
ในการประชุมในวันแรก (วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ.2566) อุปทูตรักษาราชการ สถานเอกอัครราชทูต ประจำกรุงเวียนนา ได้กล่าวแถลงการณ์รายงานเกี่ยวกับพัฒนาการด้านการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทยในฐานะรัฐผู้ถูกประเมิน ตามที่ได้รับข้อเสนอแนะจากฝ่ายเลขานุการ UNODC จากกลไกการประเมินการปฏิบัติตามอนุสัญญา UNCAC
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะหน่วยงานกลางของประเทศไทย ได้แสดงความมุ่งมั่นในการพัฒนากฎหมาย มาตรการ และแนวปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการให้ความมือระหว่างประเทศ และการติดตามทรัพย์สินคืน ให้สอดคล้องกับพันธกรณีแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตอย่างต่อเนื่อง
สำหรับ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต (United Nations Convention against Corruption: UNCAC) เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตในระดับนานาชาติฉบับแรก โดยมีพันธกรณีต่อรัฐภาคีแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.) พันธกรณีที่รัฐภาคีจะต้องปฏิบัติตาม 2.) พันธกรณีที่รัฐภาคีมีสิทธิเลือกที่จะกระทำหรือไม่ก็ได้ และ 3.) พันธกรณีที่รัฐภาคีจะต้องพิจารณา โดยแบ่งเนื้อหาหลักในอนุสัญญา UNCAC ได้ 5 หมวดหมู่ คือ หมวดการป้องกันการทุจริต หมวดการกำหนดความผิดทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย หมวดความร่วมมือระหว่างประเทศ หมวดการติดตามทรัพย์สินคืน และหมวดความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการแลกเปลี่ยนข้อมูล ปัจจุบัน มีรัฐภาคีรวม 187 ประเทศ (แบ่งเป็น ทวีปยุโรปตะวันตก 27 ประเทศ ยุโรปตะวันออก 23 ประเทศ ละตินอเมริกาและแคริบเบียน 29 ประเทศ แอฟริกา 53 และทวีปเอเชีย 55 ประเทศ โดยจะมีตัวแทนจากสหภาพยุโรปเข้าร่วมประชุมด้วยทุกสมัย) สำหรับประเทศไทยได้ลงนามและให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UNCAC ตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2546 และวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ.2554 ตามลำดับ
การประชุมระหว่างประเทศภายใต้อนุสัญญา UNCAC มีการประชุมเป็นระยะเพื่อเสริมสร้างศักยภาพประเทศสมาชิกและความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต ซึ่งประกอบด้วย
1. การประชุมรัฐภาคี (Conference of the State Parties) จะจัดขึ้นทุก 2 ปี โดยในครั้งนี้เป็น การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการประเมินติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต สมัยที่ 14 (Resumed 14th Session of the Implementation Review Group: IRG จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-8 กันยายน พ.ศ. 2566 ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย
2. การประชุมคณะทำงาน มีทั้งสิ้น 4 รายการ ซึ่งจะจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ที่กรุงเวียนนา สาธารณรัฐออสเตรีย โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 1.) การประชุมคณะทำงานว่าด้วยการป้องกันการทุจริต หรือ “Working Group on Prevention” เป็นโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ การดำเนินการในปัจจุบันของรัฐภาคีในการป้องกันการทุจริต รวมถึงการนำข้อแนะนำในข้อมติต่างๆ จากที่ประชุมรัฐภาคี UNCAC ไปปฏิบัติตามที่ได้รับมอบหมายไว้เบื้องต้น 2.) การประชุมคณะทำงานว่าด้วยการติดตามทรัพย์สินคืน หรือ “Working Group on Asset Recovery” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล แนวปฏิบัติที่ดี และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศผู้ร้องขอความร่วมมือในการดำเนินการติดตามและริบทรัพย์สินคืน กับประเทศผู้รับการร้องขอ 3.) การประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือ “Expert Meeting on International Cooperation” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการเสริมสร้างขีดความสามารถตามความต้องการของรัฐภาคี และ 4.) การประชุมกลุ่มทบทวนการปฏิบัติตามอนุสัญญา UNCAC หรือ “Implementation Review Group” (IRG) เพื่อติดตามความคืบหน้าของรัฐภาคีในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ โดยมีกลไกการทบทวนเป็นการเฉพาะกิจ
3. ย้อนไปในปี พ.ศ. 2561 ได้มีการจัดการประชุมในหัวข้อ “การป้องกันการทุจริตในกีฬา” (Safeguarding Sport from Corruption Conference) เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 – 6 มิถุนายน พ.ศ.2561 ที่กรุงเวียนนา ซึ่งเป็นการดำเนินการที่สืบเนื่องมาจากข้อมติที่ประชุมรัฐภาคี UNCAC ที่ 7/8 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการรับรองข้อมติเรื่องการทุจริตในวงการกีฬาเป็นการเฉพาะ
กลไกการทบทวนการปฏิบัติตามอนุสัญญา UNCAC ได้มีกลไกทบทวน (Review Mechanism) เพื่อประเมินผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ของรัฐภาคี โดยมีการทบทวนในลักษณะจัดสรรรัฐผู้ประเมินและผู้ถูกประเมินโดยการจับสลาก และมีสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะผู้ประเมิน โดยมีผู้เชี่ยวชาญของรัฐที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ประเมินดำเนินการประเมินในนามของประเทศตน การประเมินแต่ละวงจะมีระยะเวลาในการประเมิน 6 ปี โดย 2 ครั้งที่ผ่านมา เป็นการประเมินผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ รอบแรก ระหว่างปี 2553 – 2558 กำหนดให้เป็นความผิดทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย (Criminalization and Law Enforcement) และความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) ส่วนรอบที่ 2 ระหว่างปี 2559 – 2564 ประเมินผลการปฏิบัติ เรื่องมาตรการป้องกัน (Preventive Measures) และการติดตามทรัพย์สินคืน (Asset Recovery)
A9486