- Details
- Category: ปปช.
- Published: Friday, 18 August 2023 12:48
- Hits: 2617
ป.ป.ช. เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พ.ร.บ. ป.ป.ช. (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อพัฒนากระบวนการสอบสวนคดีร่ำรวยผิดปกติ และให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
สำนักงาน ป.ป.ช. สร้างการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในด้านกระบวนการยื่นคำร้อง ไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติ และให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อให้กระบวนการดำเนินการทางกฎหมายมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป โดยแสดงความเห็นได้ที่ https://law.go.th/listeningDetail?survey_id=MjQ0MkRHQV9MQVdfRlJPTlRFTkQ= ภายในวันที่ 18 สิงหาคมนี้
นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยว่า กระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้นำไปสู่การบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งการเปิดรับฟังความคิดเห็น (ร่าง) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในครั้งนี้ เป็นส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อกำหนดผู้มีหน้าที่ยื่นคำร้องขอและกระบวนการในการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สิน รวมทั้งบรรดาทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ โดยให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน เพื่อให้การดำเนินการตามกฎหมายมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพแก่กระบวนการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
โดย (ร่าง) พระราชบัญญัติฉบับนี้มีจำนวน 6 มาตรา มีเนื้อหาสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกอบด้วย มาตรา ๓ กำหนดให้อัยการสูงสุดต้องหารือกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่จะไม่อุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนแล้วและมีความเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระร่ำรวยผิดปกติ และกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาของศาล ได้เสมือนเป็นโจทก์ มาตรา 4 กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีหน้าที่และอำนาจดำเนินการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติได้เอง มาตรา 5 กำหนดให้นำการหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา การถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งรวมทั้งผลของการถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ตามความในมาตรา 81 มาใช้โดยอนุโลมกับกรณีที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบประทับฟ้องคดีตามร่างมาตรา 4 แล้ว เป็นต้น
ประชาชนทั่วไป ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับ (ร่าง) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในรายละเอียด ดังกล่าว ได้ตามคิวอาร์โค้ดแนบท้าย ภายในวันที่ 18 สิงหาคม 2566
A8549