- Details
- Category: ปปช.
- Published: Tuesday, 04 July 2023 22:11
- Hits: 2713
ปลูกฝังวัฒนธรรมสุจริต เพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ปัญหาความไม่โปร่งใสการทุจริตเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก นับวันมีแต่ทวีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งเป็นปัญหาที่ทุกประเทศต้องการขจัดให้หมดไป สำหรับในประเทศไทย ไม่เพียงแต่องค์กรหรือ หน่วยงานภาครัฐเท่านั้น ที่มีการรณรงค์หาวิธีการแก้ปัญหา ป้องกัน ตลอดจนปราบปรามการทุจริตอย่างต่อเนื่อง จริงจัง ในส่วนของภาคเอกชน ก็ถือว่าเป็นปัญหาการทุจริต ต้องลงมือปฏิบัติให้เกิดผลจริง ด้วยวิธีการป้องกัน ทั้งการปลูกฝัง รณรงค์ เรื่องการต่อต้านทุจริต เช่นกัน
เห็นได้จาก แนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (Thai Private Sector Collective Action Against Corruption: CAC) มุ่งสร้างและขยายแนวร่วมภาคเอกชนสร้างกระแสต่อต้านการคอร์รัปชันโดยสมัครใจ ในรูปแบบของแนวร่วมปฏิบัติ ซึ่งมีภาคเอกชนประกาศเจตนารมณ์ร่วมจำนวน 1,345 บริษัท และมีบริษัทที่ผ่านการรับรอง ว่ามีกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการที่จะปฏิเสธการรับและจ่ายสินบน รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ จำนวน 499 บริษัท
หัวใจหลักของโครงการ คือ
(1) เปลี่ยนทัศนคติผู้นำภาคธุรกิจ ให้ปฏิเสธการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ
(2) ผลักดันให้ภาครัฐปรับปรุงกระบวนการทำงานให้โปร่งใส ยอมรับการมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้
(3) ส่งเสริมและขยายเครือข่ายการประกอบธุรกิจที่สะอาดปราศจากการผูกขาดหรือซื้อความได้เปรียบจากเงินสินบน
มุ่งมั่นที่จะทำธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน และมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชัน (Fraud and Corruption) การให้หรือรับสินบน (Bribery) แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาคเอกชน ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้บุคลากรทุกระดับมีจิตสำนึก ในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในทุกรูปแบบ
นอกจากนั้น ยังมีกรณีศึกษาที่น่าสนใจของ บริษัทในภาคเอกชน ที่ขับเคลื่อนสู่องค์กรคุณธรรม บนพื้นฐานการสร้างบุคลากรที่เป็นคนดี และคนเก่งอย่าง บริษัทในกลุ่มสมบูรณ์ (Somboon Group: SBG) โดยกลุ่มบริษัทมีนโยบายในการจัดการทุนมนุษย์ และการดำเนินธุรกิจแบบ 3 สมบูรณ์ สร้างสมดุล (Somboon Triple Bottom Line) ประกอบด้วย
ฅนสมบูรณ์ (Smart People) คือการ สร้างคุณค่าต่อตนเอง องค์กร และสังคม มุ่งสร้างพนักงานให้เป็นคนเก่งและดี สร้างประโยชน์ให้เกิดคุณค่าต่อตนเอง ธุรกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน
ธุรกิจสมบูรณ์ (Business Trust) สร้างมูลค่า ตอบสนองผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างมูลค่าทางธุรกิจบนพื้นฐาน หลักธรรมาภิบาล ปรัชญาแห่งเศรษฐกิจพอเพียง และเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจด้วยนวัตกรรม
ชุมชนสมบูรณ์ (Growth Society) สร้างโอกาสเพื่อสังคมที่เข้มแข็ง ส่งเสริมการอยู่ร่วมกับสังคมอย่างมีความสุข มุ่งเน้นที่การสร้างโอกาสด้านการศึกษาและเป็นแหล่งเรียนรู้ ตลอดจนส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน
เป็นสร้างค่านิยมและวัฒนธรรมอันเป็นแบบอย่างที่ดี มีการถ่ายทอดสู่รุ่นต่อไป และมีการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ด้วยความเชื่อที่ว่า การปลูกฝังให้คนมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี มีการพัฒนาทักษะต่างๆ เห็นคุณค่าของตนเอง ไม่ทุจริต ทำงานด้วยความโปร่งใส ด้วยหลักธรรมาภิบาลและความพอเพียง
หากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันต่อต้านการทุจริต อาจส่งผลให้ปัญหาการทุจริตเบาบางลง เพราะที่ผ่านมาปัญหาการทุจริตเกิดขึ้นทั้งจาก ผู้ให้สินบน คือ เอกชน กับ ผู้รับ คือ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น การป้องกันปัญหาสินบนที่มีประสิทธิภาพที่สุด ต้องป้องกันทั้งสองฝ่าย เพราะเมื่อไม่มีผู้ให้ก็ไม่มีผู้รับ และภาคธุรกิจไม่ต้องเสียต้นทุนไปกับการให้ที่ไม่จำเป็น นอกจากจะเป็นการลดต้นทุนบริษัทแล้ว ยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ในการประกอบธุรกิจบนความโปร่งใส ที่ไม่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายอีกด้วย
ปัญหาทุจริต มี 3 ระดับได้แก่
(1) การทุจริต ขนาดเล็ก การรับเงินที่ไม่ชอบธรรม หรือไม่ถูกต้องของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จำนวนเงินไม่มาก เพื่อดำเนินการบางอย่างให้กับผู้ที่ให้เงิน
(2) การทุจริตขนาดใหญ่ ส่วนมากจะเป็นการคอร์รัปชัน ของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ที่รับเงินในรูปแบบของสินบนเป็นเงิน จำนวนสูงในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ตลอดจนการทุจริตเชิงนโยบาย
(3) การให้ของกำนัล ที่มีมูลค่า เช่น รถยนต์ สร้อยคอทองคำ ซื้อรายการท่องเที่ยวให้ไปพักผ่อนต่างประเทศ หรือเชิญไปพักผ่อนต่างประเทศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันใกล้ชิด
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และประมวลกฎหมายอาญา วางหลักว่า การติดสินบนมีความผิด ทั้งผู้ให้สินบน และผู้รับสินบน ตามมาตรา 143 ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล โดยทุจริตหรือผิดกฎหมาย หรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 144 ผู้ใดให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล เพื่อจูงใจให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 149 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ โทษจำคุกตั้งแต่ 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000 - 400,000 บาท หรือประหารชีวิต
ในประเทศไทยมีกฎหมายปราบปรามการทุจริต มากเป็นอันดับต้นๆ ในโลก คือ จำนวนกว่า 200 มาตรา และมีโทษสูงสุดร้ายแรง ถึงขั้นประหารชีวิต แต่ปัญหาบังคับใช้กฎหมายก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากบางครั้งขาดหลักฐาน ไม่มีคนชี้ช่องเบาะแส (Whistleblower) ดังนั้นการสร้างการป้องกัน ด้วยการปลูกฝัง การรณรงค์ จึงอาจจะเป็นทางออกที่ดีกว่า การปราบปราม อีกทั้งความร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินการต้านทุจริต ส่งผลให้ “ประเทศจะรุ่งเรือง เมื่อบ้านเมืองสุจริต”
A7146