- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Sunday, 17 December 2017 20:29
- Hits: 9499
ก.บ.ภ.เห็นชอบกรอบแผนพัฒนา 6 ภาค แบ่งงาน 5 รองนายกฯ เป็นผู้ติดตามกำกับดูแล
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาคและพื้นที่ (ก.บ.ภ.) ครั้งที่ 1/2560 ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่าที่ประชุมได้พิจารณากำหนดแนวทางและกลไกการบูรณาการ นโยบายพัฒนาภาค กลุ่มภาค และกำหนดนโยบายหลักเกณฑ์ รวมถึงวิธีการจัดทำแผนพัฒนาและแผนปฎิบัติการประจำปีในระดับจังหวัดกลุ่มจังหวัดและระดับภาค ว่า ที่ประชุมเห็นชอบกรอบแผนดำเนินการของ ก.บ.ภ.ทั้ง 6 ภาค ที่เน้นการพัฒนาแต่ละจังหวัดรวมถึงกลุ่มจังหวัดให้มีประสิทธิภาพทัดเทียมกันทั่วทุกภูมิภาค
และเห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการ ก.บ.ภ. โดยมีรองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับและติดตามงานในแต่ละกลุ่มจังหวัด ดังนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ติดตามกำกับดูแลภาคกลาง, พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง กำกับดูแล ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กำกับดูแลภาคตะวันออก, นายวิษณุ เครืองาม กำกับดูแลภาคเหนือ และกำกับดูแลงานด้านวิชาการ, พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ กำกับดูแลภาคใต้และภาคใต้ชายแดน
ทั้งนี้ ทิศทางการพัฒนาภาคจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) โดยให้แต่ละอนุกรรมการไปพิจารณาจัดเตรียมงบประมาณประจำปี 2562 โดยมีงบประมาณในส่วนของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่เตรียมไว้ 28,000 ล้านบาท โดยให้พิจาณาความจำเป็นแต่ละโครงการภายใน 1 เดือน ก่อนเสนอกลับมายังที่ประชุมให้พิจารณาอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม หากงบประมาณไม่เพียงพอ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในที่ประชุมว่า พร้อมจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ โดยจะนำไปหารือกับทางสำนักงบประมาณต่อไป
นายปรเมธี กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาภาคกลางและพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะพัฒนา กทม.สู่มหานครทันสมัย และภาคกลางเป็นฐานการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง ควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติและสร้างความเชื่อมโยงเพื่อกระจายการท่องเที่ยวทั่วทั้งภาค เปิดประตูการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย-ภาคกลาง-ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก และบริหารจัดการน้ำและทรัพยากรธรรมชาติเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม
ทิศทางการพัฒนาภาคเหนือจะเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยพัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่อเนื่องให้มีคุณภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืนและกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึง รวมทั้งต่อยอดการผลิตสินค้าการบริการที่มีศักยภาพสูงด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรม ใช้โอกาสจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและการเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาคเพื่อขยายฐานเศรษฐกิจของภาคและยกระดับเป็นฐานการผลิตเกษตรอินทรีย์และเกษตรปลอดภัยเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้คงความสมบูรณ์ จัดระบบบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสมและเชื่อมโยงให้ทั่วถึงป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษหมอกควันอย่างยั่งยืน
ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ มีเป้าหมายทำให้เป็นเมืองท่องเที่ยวพักผ่อนตากอากาศระดับโลก และเป็นศูนย์กลางผลิตภัณฑ์ยางพาราและปาล์มน้ำมันของประเทศ และเป็นเมืองเศรษฐกิจเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับภูมิภาคอื่นๆของโลก การพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งใหม่ของประเทศ การพัฒนาผลิตสินค้าเกษตรหลักของภาค และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนการท่องเที่ยว การพัฒนาเขตอุตสาหกรรม และเชื่อมโยงการค้าโลก
ทิศทางการพัฒนาภาคใต้ชายแดน ให้เป็นแหล่งผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่สำคัญของประเทศ และเป็นเมืองชายแดนเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวพื้นที่ภาคใต้และการพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซียและสิงคโปร์ โดยเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร เพื่อความมั่นคงให้กับภาคผลิต พัฒนาเมืองสุไหงโก-ลก และเมืองเบตง ให้เป็นเมืองการค้าและเมืองท่องเที่ยวชายแดน รวมทั้งการเสริมสร้างความเข้มเข็งให้กับชุมชน
ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตอย่างยืน และใช้โอกาสจากการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งที่เชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจหลักภาคกลาง และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเพื่อพัฒนาเมือง และพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆของภาค และพัฒนาความร่วมมือและใช้ประโยชน์จากข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดนและแนวระเบียงเศรษฐกิจ
ทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออก มีเป้าหมายในเป็นฐานเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน เน้นการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกให้เป็นเขตเศรษฐกิจที่ดีและทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ปรับปรุงมาตรฐานสินค้าและธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว พร้อมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่มีวิกฤต และจัดระบบการบริหารจัดการมลพิษให้มีประสิทธิภาพ
อินโฟเควสท์