- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Sunday, 28 May 2017 21:41
- Hits: 13109
สศช.เผย Q1/60 การจ้างงานลดลง หลังส่งออก-ลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นไม่เต็มที่, หนี้สินครัวเรือนชะลอลง
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงภาพรวมภาวะสังคมไทยในไตรมาสแรกปี 60 พบว่า มีการจ้างงาน อยู่ที่ 37.4 ล้านคน ลดลง 0.6% โดยเป็นการจ้างงานภาคเกษตรลดลง 1.4% เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงานไปสู่นอกภาคเกษตรต่อเนื่องจากช่วงปี 2557-2559 และนอกภาคเกษตรลดลง 0.3% เนื่องจากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% เพิ่มขึ้น 0.97% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยยังทรงตัวที่ 41.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์อื่นลดลง 0.9% และผลิตภาพแรงงานไตรมาสแรก ปี 2560 เพิ่มขึ้น 4% เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจากภาคเกษตร 9.2% และนอกภาคเกษตร 3.2%
นายปรเมธี กล่าวถึงการฟื้นตัวของการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่จะมีผลต่อการจ้างงาน แม้การส่งออกจะมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 3/59 เป็นต้นมา แต่ยังเป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยมูลค่าของการส่งออกสินค้ายังคงต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกในช่วงปี 55-56 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวช้า ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการจ้างงานเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้นเป็นลำดับจากระดับ 48.7 ในปี 58 เป็น 49.6 และ 50.8 ในปี 59 และไตรมาสแรกปี 2560 ตามลำดับ ส่วนในช่วงที่เหลือของปี 2560 หากการส่งออกสามารถเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายและตลอดปีขยายตัวได้เฉลี่ย 3.6% ตามแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลก และการเร่งการใช้จ่ายภาครัฐโดยเฉพาะการใช้จ่ายลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จะทำให้ภาคเอกชนมีความมั่นใจ และนำไปสู่การขยายตำแหน่งงานในระยะต่อไป โดยเฉพาะภาคการผลิต การก่อสร้าง และการขายส่ง/ขายปลีก และช่วยลดอัตราการว่างงาน
อย่างไรก็ดี ในส่วนการพัฒนาประเทศตามโมเดลประเทศไทย 4.0 นั้น ยังพบว่าแรงงานกว่า 63% และผู้ประกอบการ 78.7% รับรู้แนวคิดการพัฒนาประเทศไทย 4.0 แต่ยังขาดความเข้าใจที่ชัดเจน ดังนั้นควรมีการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ “ไทยแลนด์ 4.0” ให้มีความชัดเจน ทุกภาคส่วนสื่อสารในเรื่องดังกล่าวได้ตรงกัน เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนักและนำไปสู่การปรับตัวและเตรียมความพร้อมของผู้เกี่ยวข้องทั้งแรงงาน ธุรกิจเอกชน สถานศึกษา และหน่วยงานต่าง ๆ
ขณะที่หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 4.6% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 4.9% ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับอยู่ที่ 12.8% และสินเชื่อบัตรเครดิต อยู่ที่ 10.1%
อินโฟเควส
สภาพัฒน์ เผยการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ ยังเป็นข้อจำกัดของการพัฒนาตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยแพร่บทความเรื่อง "การเตรียมความพร้อมทักษะแรงงานไทยในอนาคต: กรณีกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพ First S-Curve" ระบุว่า จากผลสำรวจทักษะแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพที่จะเป็นอุตสาหกรรมในอนาคต 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิคส์ เกษตร/การผลิตยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง แปรรูปอาหาร และที่พัก สปา และเรือสำราญ ในกลุ่มแรงงานระดับกลางวุฒิ ปวช. ขึ้นไป 1,353 ตัวอย่าง ผู้บริหาร/ผู้ประกอบการ 239 ราย ใน 10 จังหวัด พบว่า (1) ในด้านการรับรู้เกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 แรงงาน 63.0% รับรู้แนวคิดการพัฒนาประเทศไทย 4.0 แต่ยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน ผู้ประกอบการกว่า 80.0% เห็นด้วยกับแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 โดยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องขับเคลื่อน แต่ยังมีข้อกังวลในกลุ่ม SMEs ที่ยังมีข้อจำกัดและอาจไม่สามารถก้าวทันตามการพัฒนา ซึ่งรัฐจำเป็นต้องมีแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจนในการส่งเสริมและสนับสนุน และ (2) ด้านทักษะของแรงงาน ผู้ประกอบการเห็นว่าแรงงานมีทักษะในระดับมาก มีเพียงการใช้ภาษาอังกฤษและการค้นคว้าข้อมูลที่อยู่ระดับปานกลาง แต่แรงงานจบใหม่มีทักษะต่ำกว่าแรงงานที่มีประสบการณ์ในทุกด้าน สอดคล้องกับการประเมินตนเองของแรงงานที่ทักษะด้านภาษาอังกฤษกว่า 50.0% ยังต้องปรับปรุงเนื่องจากยังไม่สามารถสื่อสารได้ ส่วนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศส่วนใหญ่มีทักษะใช้อุปกรณ์คอมพิเตอร์ แต่ยังขาดทักษะในการสร้างเนื้อหา โดยทักษะที่ผู้ประกอบการเห็นว่าควรเพิ่มเติมในการเรียนการสอน คือ ภาษา การฝึกปฏิบัติจริง และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ
"การพัฒนาตามแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 ยังมีข้อจำกัดในเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ คุณภาพแรงงานใหม่ยังไม่ได้ตามที่ต้องการ การรับรู้/ความเข้าใจเกี่ยวกับไทยแลนด์ 4.0 ยังไม่ชัดเจนเพียงพอ ขาดเงินทุน/การลงทุนนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ และความพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน"
ดังนั้น จึงควรมีการดำเนินงาในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี แนวทาง
การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ 'ไทยแลนด์ 4.0'ให้มีความชัดเจน ทุกภาคส่วนสื่อสารในเรื่องดังกล่าวได้ตรงกัน เพื่อสร้างการรับรู้ ความตระหนักและนำไปสู่การเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน
การพัฒนาทักษะแรงงาน โดยส่งเสริมความร่วมมือและพัฒนาการออกแบบหลักสูตรอบรมให้เหมาะกับแต่ละคลัสเตอร์ของภาคอุตสาหกรรม เพิ่มทักษะบางด้าน อาทิ ด้าน Digital Skill การจัดการ Big Data ควบคู่กับคุณลักษณะการทำงาน อาทิ การคิดวิเคราะห์ การผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีกับการลงพื้นที่จริง
อย่างเหมาะสม การคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถหลากหลายยืดหยุ่น รู้จักการปรับตัว และทักษะการสร้างทีม การพัฒนาแรงงานในกลุ่มต่างๆ โดยแบ่งกลุ่มเพื่อพัฒนาได้ครอบคลุมและเหมาะสมกับศักยภาพทั้งกลุ่มแรงงานไร้ฝีมือและด้อยโอกาส แรงงานสูงอายุ แรงงานภาคเกษตร แรงงานในธุรกิจหรือวิสาหกิจขนาดเล็กเพื่อลดผลกระทบและความเหลื่อมล้ำให้กับแรงงานในกลุ่มเหล่านั้น รวมทั้งยังช่วยสร้างเสริมมูลค่าทางเศรษฐกิจ
การวางแผนการผลิตและพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยสร้างความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการและสถานศึกษาทั้งเรื่องการพัฒนาหลักสูตร การสนับสนุนเครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ
ของธุรกิจเพื่อใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้ได้บุคลากรตรงตามความต้องการและทำงานได้จริง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งในด้านความรู้ที่เป็นแกนหลัก ความสามารถทำงานกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถคิดวิเคราะห์ ใช้คิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญา (Brain Power) และนวัตกรรม ตลอดจนการสร้างคุณลักษณะที่เหมาะสม อาทิ มีทัศนคติที่ดี อดทน รับผิดชอบ ทำงานที่มุ่งผลสัมฤทธิ์
การสนับสนุนปัจจัยอื่นๆ อาทิ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยการผลิตที่เหมาะสมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs การจับคู่/สร้างความร่วมมือระหว่างผู้คิดนวัตกรรม (startup) กับผู้ประกอบธุรกิจ เพื่อให้เกิดการผลิตสินค้าบริการใหม่ๆ ตลอดจนส่งเสริม การสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในทุกองค์กร/สถาบัน โดยเริ่มต้นจากครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน ชุมชน ฯลฯ โดยสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างแรงบันดาลใจ บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ มีจิตสาธารณะ และมุ่งการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์
อินโฟเควสท์
สภาพัฒน์ ไตรมาส 1 ว่างงาน 4.6 แสนคน หนี้ภาคครัวเรือนชะลอตัวชี้บึ้มป่วนไร้ผลฉุดเชื่อมั่น
ไทยโพสต์ : หลานหลวง * สภาพัฒน์เผยภาวะสังคมไตรมาส 1/60 มีการจ้างงานทั้งสิ้น 37.4 ล้านคน ลดลง 0.6% ขณะที่การว่างงานเพิ่มเป็น 4.6 แสนคน หรือ 1.2% แต่โดยภาพรวม คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี ซื้อเหล้า-เบียร์น้อยลง ส่งผลดี ครัวเรือนหนี้เริ่มชะลอ ย้ำ! บึ้มป่วนเมืองไม่กระทบเชื่อมั่นนักลงทุน
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขา ธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ภาพรวมภาวะสังคมไทยในไตรมาสแรกปี 2560 พบว่ามีการจ้างงานอยู่ที่ 37.4 ล้านคน ลดลง 0.6% โดยเป็นการจ้างงานภาคเกษตรลดลง 1.4% เนื่องจากการเคลื่อนย้ายแรงงาน ไปสู่นอกภาคเกษตรต่อเนื่อง จากช่วงปี 2557-2559 และนอกภาคเกษตรลดลง 0.3% เนื่อง จากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่
โดยมีผู้ว่างงานทั้งสิ้น 4.6 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% เพิ่มขึ้น 0.97% จาก ช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยยังทรงตัวที่ 41.7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ส่วนค่าจ้างแรงงานภาคเอกชนที่ไม่รวมผลประโยชน์อื่น ลดลง 0.9% และผลิตภาพแรงงานไตรมาสแรกปี 2560 เพิ่มขึ้น4% เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งจากภาคเกษตร 9.2% และนอกภาคเกษตร 3.2%
ขณะที่หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลงอยู่ที่ 4.6% จากไตร มาสก่อนหน้าอยู่ที่ 4.9% ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับอยู่ที่ 12.8% และสินเชื่อบัตรเครดิตอยู่ที่ 10.1%
สำหรับ ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แต่ต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากผู้ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่โดยตรงที่มีต่อผู้ที่ไม่ได้ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สุขภาพและการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนซึ่งอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบที่ไม่เหมาะสมในอนาคต
ทั้งนี้ ไตรมาสแรกปี 2560 คนไทยมีสุขภาพจิตที่ดี การเจ็บป่วยทางกายด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง 22.7% โดยผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลง 44.7% แต่ต้องเฝ้าระวังโรคติดต่อทางอาหารและน้ำในช่วงหน้าร้อน ขณะที่การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลง แต่อยู่ในระดับสูงและต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการคลอดในกลุ่มอายุ 15-19 ปีต่อหญิงวัยเดียวกัน 1 พันคน ลดลงมาอยู่ที่ 44.8% ในปี 2558
สำหรับ คดีอาญารวมลด ลง 2.6% จากไตรมาสก่อน คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ลดลง 13.5% และคดียาเสพติดลดลง 0.3% ขณะที่คดีชีวิต ร่างกายและเพศเพิ่มขึ้น 0.3% ขณะที่อุบัติเหตุจราจรทางบกลดลง 7.2% มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับ กรณีระเบิดป่วนกรุงเทพฯ ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการลงทุนของเอกชน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยมั่นใจว่านักลงทุนทั้งในและต่างชาติจะเข้าใจเหตุการณ์ดังกล่าวว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศ
สศค.มองเหตุระเบิด รพ.พระมงกุฎ ไม่กระทบจีดีพีไทยที่คาดโต 3.6% แต่จับตาสถานการณ์ใน-ตปท.ใกล้ชิด
สศค. ประเมินเหตุการณ์ระเบิดใน รพ.พระมงกุฎเกล้าไม่กระทบเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่คาดว่าขยายตัว 3.6% พร้อมจับตาท่องเที่ยว และติดตามสถานการณ์ในและต่างประเทศอย่างใกล้ชิด ด้านการลงทะเบียนคนจน เร่งสำรวจความต้องการประชาชนเพื่อหามาตรการโดนใจมากที่สุด หวังคนจนลดลงใน 1 ปี
นายกฤษฎา จีนะวิจาระ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยกับ “สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย” ยืนยันว่า เหตุการณ์ระเบิดในโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิไทยในปีนี้ โดยสศค.คาดการณ์ว่าขยายตัวได้ที่ 3.6% ขณะที่ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. ไม่ได้รับผลกระทบด้วย สะท้อนว่า นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่น แต่ทั้งนี้ สศค.จะติดตามสถานการณ์การวางระเบิดอย่างใกล้ชิด ทั้งในและต่างประเทศ ว่าจะส่งผลกระทบหรือไม่ โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยว
“เรายังมองว่าเศรษฐกิจมันยังไปได้ เพราะเหตุการณ์ครั้งนี้ถือว่าไม่ได้รุนแรง อย่างตอนราชประสงค์ตอนนั้น ก็พบว่า กระทบต่อจีดีพีน้อยมาก และที่สำคัญเหตุการณ์ไม่ได้ขยายวงกว้าง ด้านการซื้อขายในตลาดหุ้นมันยังไปได้ ขณะที่เศรษฐกิจในปัจจุบันมันถูกขับเคลื่อนโดยการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ ที่มันเดินหน้าต่อได้ การลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขณะที่การบริโภคเริ่มฟื้นตัว การส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกในเดือนเมษายนที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวได้ถึง 8% แต่อย่างไรก็ตาม เรายังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”นายกฤษฎา กล่าว
นายกฤษฎา กล่าวถึงความคืบหน้าของแพ็คเกจมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยว่า ภายหลังจากปิดการลงทะเบียนเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา คณะทำงานได้ดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติทั้ง 14 ล้านคนที่มาลงทะเบียน รวมทั้งได้ทำการสำรวจประชาชนถึงความต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือในด้านใดบ้าง เพื่อหามาตรการให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด และประเมินงบประมาณที่จะใช้ในการช่วยเหลือด้วย ซึ่งสศค.คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 เดือนจะแล้วเสร็จแน่นอน
“ช่วงนี้เราลงพื้นที่ทำการสำรวจว่าประชาชนต้องการอะไร ช่วยอะไร เพื่อจะได้ประเมินได้ถูก เพราะเราตั้งใจว่าการช่วยเหลือจะถูกฝาถูกตัวมากขึ้น และต้องทำให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ให้ทำมาหากินได้ ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ฝึกอาชีพ การอบรบ รวมไปถึงสิทธิประโยชน์พื้นฐาน โดยเราเชื่อว่า หากทำได้จะทำให้ภายใน 1 ปี คนที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”นายกฤษฎา กล่าว
สำหรับ มาตรการนั้นในเบื้องต้น จะประกอบด้วย การเดินทางทั้งรถไฟ รถเมล์ รวมถึงการซื้อสินค้าในร้านธงฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า การเพิ่มเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้กลับมาทำรายละเอียดเพิ่มเติม แต่เบื้องต้นได้เห็นชอบในหลักการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. เรียบร้อยแล้ว โดยให้โอกาสผู้สูงอายุสามารถสละสิทธิได้ เพื่อนำไปเพิ่มให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยต่อไป นอกจากนี้ยังมีประกัน 99 บาท สำหรับผู้มีรายได้น้อยด้วย
“ตอนนี้ คงยังตอบไม่ได้ว่าแพ็คเกจจะเสนอเข้าครม.ได้เมื่อไร เพราะอย่างบัตรสวัสดิการ กรมบัญชีกลางเป็นผู้ดำเนินการ ก็ต้องดูความพร้อมทุกอย่างด้วย ว่าบัตรสวัสดิการจะใช้ตรงไหนบ้างในเบื้องต้น จะแตะร้านธงฟ้าได้เลยไหม และรถไฟ รถเมล์ ค่าน้ำ ค่าไฟทุกอย่างมันต้องพร้อมหมด”นายกฤษฎา กล่าว
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น เป็นสถานการณ์ที่แตกต่างจากต่างประเทศ เพราะทุกคนมองว่ามาจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งไม่ใช่เหตุการณ์ก่อการร้ายเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้นในระยะสั้น จะไม่กระทบกับบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน รวมทั้งการท่องเที่ยว และการลงทุนในหุ้นไทยด้วย
อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อ มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นอีก หรือมีสัญญาณว่าสถานการณ์การเมืองยังไม่มีเสถียรภาพ อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ให้ปรับตัวลดลง โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้อาจต่ำกว่า 3.5% จากคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 3.5-4% และปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 4% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ 4-4.5% เนื่องจากนักลงทุนไม่มั่นใจต่อความมั่นคงทางการเมืองจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายของรัฐในอนาคต ซึ่งจะทำให้ตัวเลขการลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว แม้ว่ารัฐจะยังคงเดินหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ตาม
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย