- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Wednesday, 16 July 2014 23:19
- Hits: 6916
มติกนพ.เห็นชอบ 5 พื้นที่ชายแดนจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ(กนพ.) ได้เห็นชอบพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรกใน 5 พื้นที่ชายแดน ได้แก่ 1.แม่สอด 2.อรัญประเทศ 3.ตราด 4.อ.เมืองมุกดาหาร 5.อ.สะเดา(ด่านศุลกากรสะเดา และปาดังเบซาร์) เพื่อให้สามารถเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ได้อย่างสมบูรณ์ในปี 2558 โดยเน้นการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนา ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบ หลักเกณฑ์ และวิธีการสนับสนุนการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ สิทธิประโยชน์สำหรับการลงทุน การให้บริการจุดเดียวแบบเบ็ดเสร็จ มาตรการสนับสนุนการใช้แรงงานต่างด้าว และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และด่านศุลกากรในพื้นที่ เพื่อรองรับกิจกรรในพื้นที่เขตเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงประเทศในภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมอนุมัติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด เพื่อพิจารณางานในส่วนที่ได้รับมอบหมาย ส่งให้ กนพ.พิจารณาภายในเดือนส.ค.นี้ด้วย
ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการ 3 ด้านที่ตั้งขึ้น ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการด้านสิทธิประโยชน์ของเขตพื้นที่ และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการเสนอขอบเขต และจัดหาพื้นที่ สิทธิประโยชน์ และแผนพัฒนาระบบบริการเบ็ดเสร็จด้านการ ลงทุน 2.คณะอนุกรรมการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จด้านแรงงานสาธารณสุขและความมั่นคง โดยมีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการเสนอแนวทาการจัดระบบการจ้างแรงงานต่างด้าว การพัฒนาฝีมือแรงงาน และแผนการจัดตั้งวันสต็อปเซอวิส แรงงานต่างด้าว และ 3.คณะอนุกรรมการด้านโครงสร้างพื้นฐาน และด่านศุลกากร โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการเสนอแผน และลำดับความสำคัญการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แผนปรับปรุงด่านศุลกากร ด่านชายแดน และแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรม
นายอาคม กล่าวว่า สศช.จะทำหน้าที่ในการประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษใน 5 พื้นที่ ในช่วงเดือนต.ค.57 - ธ.ค.58 ในเรื่องเกี่ยวกับความก้าวหน้าในการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคง รวมถึงความพึ่งพอใจของภาคส่วนต่างๆ นอกจากนี้ยังประเมินถึงปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อการปฎิบัติให้เป็นไปอย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อส่วนร่วมของประเทศ โดยจะนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการพิจารณา เพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
อินโฟเควสท์