- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Wednesday, 01 December 2021 09:19
- Hits: 5458
สภาพัฒน์ เปิดเวทีระดมความคิดเห็นประชาชนต่อร่างแผนฯ 13 ทั่วประเทศ
สภาพัฒน์เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณชนและภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วนทั่วประเทศต่อ “ร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” ปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564 เพื่อร่วมปรับปรุงร่างแผนฯ 13 ให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ และสามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง ก่อนประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) อยู่ระหว่างการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) เพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศต่อเนื่องจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2565) ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 ทั้งนี้ สศช. ได้ยกร่างแผนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้กำหนดจัดประชุมระดมความเห็นต่อร่างแผนฯ 13 ในระดับกลุ่มจังหวัด 18 กลุ่มทั่วประเทศ และเฉพาะกลุ่มในส่วนกลาง ทั้งกลุ่มภาคราชการ ภาคเอกชน ภาควิชาการ อดีตผู้บริหาร สศช. ผู้สูงอายุ เด็กและเยาวชน และสื่อมวลชน ในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2564
เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ทั้งในระดับภาพรวม ได้แก่ เป้าหมาย กลยุทธ์ ยุทธศาสตร์ และแนวทางหลักในร่างแผนฯ และระดับหมุดหมาย ได้แก่ เป้าหมาย ตัวชี้วัดและกลยุทธ์ในแต่ละหมุดหมาย ให้มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ และตอบสนองความต้องการของแต่ละภาคส่วนได้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ สศช. ยังได้จัดให้มีช่องทางออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปได้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2564 ได้ทาง เว็บไซต์ สศช. www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Email: [email protected] และ ตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102
เลขาธิการฯ กล่าวต่อไปว่า ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ยังคงน้อมนำ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มากำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเป็นหลักนำทางในการขับเคลื่อนแผน ตลอดจนยึดโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นในการนำประเทศไทยไปสู่การเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโต สังคมก้าวหน้า ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลในระยะยาว มีเป้าหมายหลักของการพัฒนาในระยะ 5 ปีของแผนรวม 5 เป้าหมาย ได้แก่ (1) การปรับโครงสร้างการผลิตสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม (2) การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ (3) การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม (4) การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน และ (5) การเสริมสร้างความสามารถของประเทศ
ในการรับมือกับความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลง ภายใต้บริบทโลกใหม่ เพื่อถ่ายทอดเป้าหมายหลักไปสู่ภาพของการขับเคลื่อนที่ชัดเจนในลักษณะของวาระการพัฒนา (Agenda) ที่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานและหลายภาคส่วนในการผลักดันการพัฒนาในเรื่องใดเรื่องหนึ่งให้เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม แผนฯ 13 จึงได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนา จำนวน 13 ประการ โดยแบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่
- มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลและอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
- มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้ หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
- มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ ประกอบด้วย หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และหมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
เลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า ภายหลังการระดมความเห็นในครั้งนี้ สศช. จะนำความคิดเห็นที่ได้จากการประชุมมาประมวลและปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ยิ่งขึ้นแล้วนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หลังจากนั้นจะเสนอร่างดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้แผนฯ อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป
สำหรับ การระดมความคิดเห็นในพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด ประกอบด้วย ภาคกลางปริมณฑล จัดที่จังหวัดนครปฐม ภาคกลางตอนบน จัดที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภาคกลางตอนล่าง 1 จัดที่จังหวัดกาญจนบุรีภาคกลางตอนล่าง 2 จัดที่จังหวัดเพชรบุรี ภาคเหนือตอนบน 1 จัดที่จังหวัดลำพูน ลำปาง และเชียงใหม่ ภาคเหนือตอนบน 2 จัดที่จังหวัดพะเยา เชียงราย และน่าน ภาคเหนือตอนล่าง 1 จัดที่จังหวัดอุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ภาคเหนือตอนล่าง 2 จัดที่จังหวัดนครสวรรค์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 จัดที่จังหวัดบุรีรัมย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 2 จัดที่จังหวัดศรีสะเกษ ภาคตะวันออก 1 จัดที่จังหวัดชลบุรี ภาคตะวันออก 2 จัดที่จังหวัดสระแก้ว ส่วนกลุ่มจังหวัดที่จัดประชุมออนไลน์ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ภาคใต้ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน แพร่ และตาก
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ