- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Monday, 22 November 2021 23:15
- Hits: 9575
สภาพัฒน์ ชี้หนี้ครัวเรือนพุ่งอีก คนว่างงาน-หนี้ครัวเรือนเพิ่ม สถานการณ์สำคัญของสังคมไทยในไตรมาส 3 ประจำปี 2564
ภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2564 มีผู้ว่างงานชั่วคราวสูงถึงเกือบ 9 แสนคน
การนำเสนอภาวะสังคมไทยไตรมาสสาม ปี 2564 พบว่า มีความเคลื่อนไหวสำคัญ ได้แก่ มิติคุณภาพคน โดยภาพรวมตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มี COVID-19 หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ขณะที่สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมทรงตัว แต่ต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้นแต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะคดีลักทรัพย์และคดียาเสพติด จึงต้องมีมาตรการในการป้องกันเหตุที่เข้มงวดมากขึ้น
สำหรับ การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ การรับแจ้งอุบัติเหตุ และการร้องเรียนเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคลดลง นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ มรดกทางวัฒนธรรม โอกาสของ Soft Power กับการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย Blockchain กับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ และการจัดการปัญหาน้ำท่วมในต่างประเทศ : บทเรียนสำหรับประเทศไทย รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง “COVID-19 ภัยต่อสุขภาพ กับความยากจนและความเหลื่อมล้ำ”
สถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาสสาม ปี 2564 ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่มีความเข้มงวด ส่งผลให้ผู้ว่างงานและอัตราการว่างงานสูงที่สุดตั้งแต่มี COVID-19
ภาพรวมการจ้างงาน ผู้มีงานทำ มีจำนวนทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน ลดลงร้อยละ 0.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้ ซึ่งมีการจ้างงาน 12.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มฤดูการเพาะปลูกข้าว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.3 โดยสาขาที่มีการจ้างงานลดลงมาก ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรม/ภัตตาคาร ที่ลดลงถึงร้อยละ 7.3 และ 9.3 ตามลำดับ
ส่วนหนึ่งเป็นผลของมาตรการควบคุมการเปิดปิดสถานประกอบการ ทั้งการปิดแคมป์คนงาน และจำกัดการขายอาหาร สำหรับสาขาที่ขยายตัวได้ ประกอบด้วย สาขาการผลิต ขายส่ง/ขายปลีก และสาขาขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้ร้อยละ 2.1 0.2 และ 4.6 ตามลำดับ สาขาการผลิตที่มีการจ้างงานขยายตัวได้ดี อาทิ การผลิตอาหารและเครื่องดื่ม การผลิตรถยนต์ การผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั่วโมงการทำงาน ชั่วโมงการทำงานหลักโดยเฉลี่ยของภาคเอกชนอยู่ที่ 43.9 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีชั่วโมงการทำงานอยู่ที่ 44.0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
และมีผู้ว่างงานชั่วคราวสูงถึงเกือบ 9 แสนคน (ผู้มีงานทำที่ไม่ได้ทำงานในสัปดาห์แห่งการสำรวจ หรือทำงาน 0 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ อาทิ ลาหยุด ลาป่วย ถูกพักงาน หรือสถานประกอบการหยุดกิจการชั่วคราว) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนเพียง 4.7 แสนคน เท่านั้น การว่างงาน เพิ่มขึ้นสูงสุดตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 โดยมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 2.25
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 3.63 รองลงมาเป็น ปวส. ร้อยละ 3.16 ซึ่งผู้ว่างงานส่วนใหญ่จบในสาขาทั่วไป (บริหารธุรกิจ การตลาด) จึงมีแนวโน้มประสบปัญหาการว่างงานยาวนานขึ้นเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้อย่างจำกัดและคนกลุ่มนี้ที่มีทักษะไม่ต่างกันจึงหางานได้ยากขึ้น
ขณะที่แรงงานที่มีอายุ 15-19 ปี มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 9.74 รองลงมาเป็นอายุ 20-24 ปี ที่ร้อยละ 8.35 สะท้อนว่า COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการที่เคยชะลอการเลิกจ้างบางส่วนไม่สามารถรับภาระต่อได้และจำเป็นต้องเลิกจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น
ขณะที่เด็กจบใหม่ยังไม่มีตำแหน่งรองรับ เนื่องจากผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบและรอดูสถานการณ์ จึงชะลอการขยายตำแหน่งงาน การว่างงานของแรงงานในระบบ มีสัดส่วนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานต่อผู้ประกันตนอยู่ที่ร้อยละ 2.47 ลดลงจากช่วงไตรมาสก่อนหน้าและปีก่อน เนื่องจากช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564 รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตนในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ประกอบกับสถานประกอบการมีการหยุดกิจการชั่วคราวด้วยเหตุสุดวิสัยแทนการเลิกจ้าง ซึ่งมีจำนวนผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัย 2.1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2564 เพิ่มขึ้นจาก 0.9 แสนคน ณ สิ้นไตรมาสก่อน
ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป
1.การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติต่อการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยว และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เดือนตุลาคม ศบค. เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในหลายพื้นที่ และมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะเพิ่มการจ้างงานในภาคการท่องเที่ยวได้บ้าง อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศยังต้องมีมาตรการเพิ่มเติม ดังนี้ 1) การควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดที่ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น
2) การหามาตรการช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยวขนาดเล็ก ซึ่งอาจไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการเปิดประเทศดังกล่าว 3) การอำนวยความสะดวกในการจ้างงานให้กับภาคการท่องเที่ยวซึ่งอาจมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มเดิมที่ถูกเลิกจ้างในช่วง COVID-19 มีการเปลี่ยนอาชีพ และ 4) การดำเนินมาตรการอื่นควบคู่กันไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะจากโครงการจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ ฉบับใหม่ ซึ่งต้องเน้นให้เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น
2.ผลกระทบของอุทกภัยต่อแรงงานภาคเกษตรและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ช่วงที่ผ่านมา มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทั้งสิ้น 33 จังหวัด รวม 225 อำเภอ โดยรัฐบาลได้มีมาตรการเยียวยาเบื้องต้นจากความเสียหายของผลผลิตทางการเกษตรแล้ว ทั้งนี้ อาจต้องมีมาตรการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อนำไปใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนและเป็นทุนในการทำการเกษตรอีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ สถานการณ์ในปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน 2564) ที่เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ และทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 3,246 ครัวเรือน ซึ่งอาจต้องมีการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายด้วยเช่นกัน
3.ภาระค่าครองชีพที่อาจปรับเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ราคาสินค้าหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นได้ในอนาคต และกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน โดยเฉพาะผู้ว่างงานชั่วคราวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง ซึ่งมีจำนวนสูงถึง 7.8 แสนคน ทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีปัญหาในการดำรงชีพ
4.การจัดการปัญหาการสูญเสียทักษะจากการว่างงานเป็นเวลานานและการยกระดับทักษะให้กับแรงงาน แรงงานมีการว่างงานยาวนานขึ้นและธุรกิจต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไป ทำให้แรงงานต้องมีการพัฒนาทักษะของตนให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบต่าง ๆ มากขึ้น (รูปแบบการทำงาน และเทคโนโลยี) ในระยะถัดไป ภาครัฐอาจส่งเสริมให้แรงงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้ว่างงานเข้ารับการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะให้เพิ่มขึ้น
5.การส่งเสริมให้แรงงานที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40ของสำนักงานประกันสังคม เพื่อรับการช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง
จากมาตรการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มแรงงานนอกระบบในช่วงการระบาดที่ผ่านมา มีแรงงานเกือบ 7 ล้านคนได้สมัครเป็นผู้ประกันตนของมาตรา 40 จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับแรงงานกลุ่มดังกล่าวเพื่อให้ทราบถึงสิทธิประโยชน์ของการเป็นผู้ประกันตน และหามาตรการจูงใจเพื่อโน้มน้าวแรงงานให้คงสถานะเป็นผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง
หนี้สินครัวเรือนขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP แม้ว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านคุณภาพสินเชื่อต้องเฝ้าระวังหนี้เสียจากบัตรเครดิตที่เพิ่มขึ้น
ไตรมาสสอง ปี 2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.27 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 จากร้อยละ 4.7 ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 89.3 ต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 90.6 ในไตรมาสที่ผ่านมา
จากเศรษฐกิจที่ขยายตัวเร็วกว่าหนี้สินครัวเรือน อย่างไรก็ตาม สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้านคุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวังหนี้บัตรเครดิตที่มีหนี้เสียเพิ่มขึ้น แม้ว่าสัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 2.92 ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อบัตรเครดิตต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกันจากร้อยละ 3.04 ในไตรมาสก่อนมาเป็นร้อยละ 3.51 รวมถึงลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เสียจากบัตรเครดิต 1 ใน 3 เป็นผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี
หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีสาเหตุจาก 1) ภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ในระดับปกติ แม้ว่าทั้งปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว แต่เป็นการขยายตัวจากฐานต่ำ สะท้อนว่ารายได้ครัวเรือนยังคงไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ซึ่งจะกระทบต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และ 2) ผลกระทบของอุทกภัยทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้เพื่อนำมาซ่อมแซมบ้านเรือนและเครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค
ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่
หนี้เสียโดยเฉพาะบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งหากลูกหนี้ผิดนัดชำระจะต้องเสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหนี้ประเภทอื่น
การส่งเสริมให้ลูกหนี้เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ จากปัจจุบันที่หนี้เสียของครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการไม่รับรู้ถึงมาตรการช่วยเหลือ จึงควรเร่งประชาสัมพันธ์ให้ลูกหนี้เข้ามาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดภาระและเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้
การก่อหนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในรอบครึ่งปี 2564 พบว่า มีมูลค่าหนี้นอกระบบรวม 8.5 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีเพียง 5.6 หมื่นล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าจากปี 2562
การเจ็บป่วยโดยรวมลดลง แต่ยังคงต้องเฝ้าผลกระทบต่อสุขภาพจิตและการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อ COVID-19 หรือ “LONG COVID”
ไตรมาสสาม ปี 2564 การเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังลดลงร้อยละ 46.1 เป็นการลดลงในเกือบทุกโรค ยกเว้นโรคปอดอักเสบที่มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.5 จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในฤดูฝนและการติดเชื้อ COVID-19 ขณะที่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก ผู้ป่วยโรคหัด ผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ และผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ลดลงร้อยละ 93.0 89.2 88.0 และ 73.5 ตามลำดับ นอกจากนี้ต้องเฝ้าระวังผลจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน ซึ่งอาจทำให้การฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น รวมทั้งอาการหลงเหลือหลังติดเชื้อ COVID-19 หรือ “LONG COVID” ของผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อ COVID-19
การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง
ไตรมาสสาม ปี 2564 การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลงร้อยละ 2.0 โดยการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงร้อยละ 2.1 และการบริโภคบุหรี่ลดลงร้อยละ 1.7 ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้ราคาบุหรี่ปรับตัวสูงขึ้น และทำให้ประชาชนหันไปบริโภคสินค้าทดแทน อาทิ ยาเส้น บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงอาจส่งผลต่อการลับลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมาย ซึ่งการปรับโครงสร้างภาษีฯ อาจไม่ช่วยลดการสูบบุหรี่เท่าที่ควร ดังนั้น ต้องมีการควบคุมสินค้าที่มาทดแทนควบคู่ไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งระบบ เพื่อให้คนไทยมีสุขภาพที่ดีและลดอัตราการเป็นโรคจากการสูบบุหรี่ได้อย่างแท้จริง
คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังโดยเฉพาะคดีลักทรัพย์ที่เป็นการกระทำผิดมากที่สุดของคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ และคดีจับกุมการเสพยาเสพติดซึ่งมากที่สุดของคดียาเสพติดทั้งหมด จึงต้องมีมาตรการป้องกันเหตุที่เข้มงวดมากขึ้น
ไตรมาสสาม ปี 2564 คดีอาญาโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 จากไตรมาสเดียวกันของปี 2563 โดยคดียาเสพติดเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 และคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ขณะที่คดีชีวิต ร่างกาย และเพศ รับแจ้ง 3,085 คดี ลดลงร้อยละ 14.7 ซึ่งในช่วงที่มีการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 อย่างเข้มงวดพบการกระทำผิดในคดีลักทรัพย์มากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 45.4 ของคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ทั้งหมด
และในส่วนของคดียาเสพติด มีการจับกุมในคดีเสพยาเสพติดมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 52.3 ของคดียาเสพติดทั้งหมด จึงต้องมีมาตรการในการป้องกันเหตุที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเจ้าหน้าที่อาจเพิ่มความถี่ในการออกตรวจจุดเสี่ยง ตั้งจุดตรวจสกัด เน้นการตรวจค้นสิ่งผิดกฎหมาย
การเกิดอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตลดลง การลดความสูญเสียต้องเริ่มต้นด้วยการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กเล็กให้ได้รับความรู้ความเข้าใจ มีจิตสำนึกในการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ
ไตรมาสสาม ปี 2564 สถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกและผู้เสียชีวิตลดลงร้อยละ 24.6 และ 31.3 จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากการขับรถตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 19.3 รองลงมาเป็นขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดร้อยละ 18.1 จากรายงานของศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ ThaiRSC รายงานสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ช่วง 9 เดือนของปี 2564 พบว่า 1 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเป็นเด็กและเยาวชนรวม 10,959 ราย บาดเจ็บรวม 687,254 ราย
นับเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาทรัพยากรของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีการร่วมมือกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อลดการสูญเสียจากการบาดเจ็บและเสียชีวิตของเด็ก รวมทั้งการปลูกฝังวินัยจราจร พัฒนาทักษะการเรียนรู้ การแก้ปัญหาสร้างจิตสำนึกในการใช้ถนนที่ปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็กเล็กเพื่อให้เกิดการตระหนักและนำไปสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง
การร้องเรียนผ่าน สคบ. ลดลง ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้น
ไตรมาสสาม ปี 2564 สคบ. ได้รับการร้องเรียนสินค้าและบริการลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนร้อยละ 14.5 โดยเป็นการร้องเรียนในสินค้าและบริการทั่วไปมากที่สุด รองลงมาเป็นอาคารชุด/คอนโดมิเนียม ขณะที่การร้องเรียนผ่าน กสทช. เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.6 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นประเด็นถูกคิดค่าบริการผิดพลาด นอกจากนี้ ด้วยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อลูกหนี้โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานต์ยนต์ เนื่องจากยังมีช่องว่างทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและสัญญาเช่าซื้อฯ
ดังนั้น สคบ. จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้เพื่อปรับลดค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ และกำลังปรับปรุงกฎหมาย (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรกลการเกษตร เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ... เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ครอบคลุมต่อกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นลูกหนี้ในสัญญาเช่าซื้อมากขึ้น
มรดกทางวัฒนธรรม โอกาสของ Soft Power กับการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย
จากโมเดลไทยแลนด์ 4.0 และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย พบว่า เป็นการนำวัฒนธรรมมาต่อยอดในการผลิตสินค้าและบริการเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งประเทศไทยสามารถผลักดันโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้จากการใช้ Soft Power ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศนิยมนำมาใช้โดย Soft Power ตามคำนิยามของ โจเซฟ เอส ไนย์ จูเนียร์ หมายถึง ความสามารถในการส่งผลกระทบต่อผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ ด้วยแรงดึงดูดหรือจูงใจ มากกว่าการบีบบังคับ
โดยมีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ วัฒนธรรม ค่านิยมทางการเมือง และนโยบายต่างประเทศ ซึ่งกรณีการใช้ Soft Power ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ จึงหมายถึงการกระทำสิ่งต่างๆ ที่จะส่งผลต่อความชอบและพฤติกรรมของคนในประเทศและคนต่างชาติ ด้วยการโน้มน้าวและไม่มีการบังคับ ทำให้ Soft Power มีความหลากหลาย และเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันในทุกด้าน ซึ่งครอบคลุมทั้งประเด็นทางวัฒนธรรม ธุรกิจและการค้าการปกครอง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สื่อและการสื่อสาร การศึกษาและวิทยาศาสตร์ และบุคคล
โดยประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้แนวคิด Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คือ ประเทศเกาหลีใต้ที่นำ Soft Power มาใช้ทั้งในด้านวัฒนธรรม ด้านค่านิยม และนโยบายต่างประเทศ รวมทั้งยังมีการกำหนดเป้าหมายและแผนงานที่ชัดเจน รวมถึงมีหน่วยงานที่รับผิดชอบ และมีนโยบายสนับสนุนที่หลากหลายตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งช่วยให้กระแสความนิยมต่อสินค้าและบริการของเกาหลีใต้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
โดยธุรกิจเชิงวัฒนธรรมของเกาหลีใต้ (Content Industry) เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีการส่งออกเนื้อหาทางวัฒนธรรมถึง 1.02 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2562 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จากปี 2557 และเกิดกระแสความนิยมเกาหลีที่ส่งผลต่อกิจกรรมอื่น อาทิ การท่องเที่ยว โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างมากจากจำนวน 5.3 ล้านคน ในปี 2543 เป็น 17.5 ล้านคนในปี 2562 สำหรับประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์โดยการนำวัฒนธรรมมาต่อยอดเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ สามารถนำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ได้
โดยมีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้ 1) การตั้งเป้าหมายและการมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนในการขับเคลื่อนด้วย Soft power 2) กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงาน และ 3) ต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการใช้ Soft Power เพื่อยกระดับเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ประเทศ
Blockchain กับการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลภาครัฐ
ปัจจุบันภาครัฐมีการกำหนดนโยบายและการให้สวัสดิการบนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้นทำให้ความถูกต้อง ครบถ้วน และการจัดการข้อมูลอย่างเป็นระบบเป็นสิ่งสำคัญ โดยเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากในขณะนี้ คือ เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์(Distributed Ledger Technology) ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้อง แม่นยำ โปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงที่มาที่ไปของข้อมูล ช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ไม่จำเป็น และยังกำหนดระดับการเข้าถึงและการเปิดเผยได้อีกด้วย ทำให้ตอบสนองต่อเงื่อนไขด้านความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของข้อมูลบางประเภท
ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในการผลักดันรัฐบาลให้เป็นรัฐบาลดิจิทัล มุ่งเน้นให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ และมีความปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งหากสามารถนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ในการพัฒนาการให้บริการประชาชนและการจัดการข้อมูลของภาครัฐได้มากขึ้น จะมีส่วนสำคัญในการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานและสามารถแก้ปัญหาด้านไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้
โดยการนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้กับงานบริการภาครัฐสามารถแบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ การพิสูจน์ตัวตน (Identity Management) การบริหารจัดการการจัดเก็บข้อมูล (Data Record Management) และ 3) การติดตามธุรกรรม (The Transaction Traceability) อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยี Blockchain มาปรับใช้กับภาครัฐจะต้องมีการเตรียมความพร้อม ได้แก่
1) มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ 2) มีหน่วยงานกำกับดูแล ออกกฎหมาย และกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับการใช้นำเทคโนโลยี Blockchain 3) มีการพัฒนาบุคลากรเพื่อพัฒนาและดูแลระบบ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 4) มีการดำเนินการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้เทคโนโลยี โดยต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นให้มีความครอบคลุมทั่วถึง อาทิ โครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคและพื้นที่ห่างไกล มีการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบภายในส่วนราชการ/หน่วยงานให้เอื้อต่อการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน และจะต้องมีการปรับเปลี่ยนการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เป็นเอกสารให้มีลักษณะเป็นดิจิทัล เพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ได้อย่างแพร่หลายและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
การจัดการปัญหาน้ำท่วมในต่างประเทศ : บทเรียนสำหรับประเทศไทย
ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเป็นอย่างมาก รัฐบาลจึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำท่วม โดยหลังจากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 การบริหารจัดการน้ำท่วมของไทยมีทิศทางไปในแนวทางที่ดีขึ้นกว่าในอดีต การแก้ไขปัญหามีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจนและมีความสอดรับกับบริบทเชิงพื้นที่มากขึ้น รวมทั้งมีการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ที่มีการจัดองค์กร/โครงสร้าง/ระเบียบการบริหารจัดการน้ำในภาพรวมอย่างเป็นรูปธรรม และมีการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยมีแผนแม่บทด้านการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัยเป็นหนึ่งในแผนดังกล่าว
โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการในหลายประเด็น เช่น การปรับปรุงแม่น้ำลำคลองให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น การสร้างพนังกั้นน้ำ การปรับปรุงสิ่งกีดขวางทางน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับปัญหาน้ำท่วมโดยเน้นไปที่การป้องกันเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดี การจัดการปัญหาน้ำท่วมจำเป็นต้องพิจารณาตั้งแต่การจัดการน้ำไปจนถึงการให้ความช่วยเหลือเมื่อครัวเรือนประสบปัญหา ในการนี้ การดำเนินการเรื่องการจัดการน้ำท่วมในประเทศต่างๆ สามารถนำมาใช้เป็นบทเรียนและประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้ ดังนี้
1) การป้องกันน้ำท่วมต้องให้ความสำคัญกับลักษณะของพื้นที่ อาทิ เนเธอร์แลนด์มีระบบการบริหารจัดการน้ำที่เรียกว่า Delta Works จีนมีการออกแบบเมืองตามแนวคิดเมืองฟองน้ำ (Sponge City) ญี่ปุ่นมีการสร้างทางผันน้ำใต้ดินขนาดใหญ่ สหรัฐอเมริกามีการเสนอปรับเปลี่ยนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อทำหน้าที่รองรับน้ำ 2) การแจ้งเตือนมีส่วนสำคัญในการบรรเทาผลกระทบ อาทิ ญี่ปุ่นมีระบบเตือนภัย J-ALERT ฟิลิปปินส์ที่มีระบบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (NOAH) จีนมีการสร้างสถานีสังเกตการณ์น้ำท่วม
3) การบริหารจัดการและการเตรียมพร้อมรับมือเมื่อเผชิญเหตุ สหรัฐอเมริกามีสำนักงานบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง จีนมีศูนย์บรรเทาภัยแล้งและควบคุมอุทกภัยแห่งชาติ ญี่ปุ่นมีสำนักงานจัดการภัยพิบัติและอัคคีภัย รวมทั้งมีการกำหนดพื้นที่สำหรับผู้ประสบภัยในช่วงเกิดภัยพิบัติจากบทเรียนในต่างประเทศและการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมของประเทศไทยที่ผ่านมา นำมาซึ่งประเด็นที่ควรให้ความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำท่วม ดังนี้
1) ผังเมือง/ผังน้ำ เป็นหลักการพื้นฐานสำคัญของการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วม 2) การคาดการณ์สถานการณ์และเส้นทางการไหลของน้ำต้องมีความชัดเจน 3) ระบบเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมต้องทันต่อสถานการณ์และทั่วถึง 4) การพัฒนา/ฟื้นฟู/บำรุงรักษาพื้นที่รองรับน้ำและพื้นที่ชะลอน้ำให้มีมากขึ้นและพร้อมใช้งาน 5) การสนับสนุนให้เกิดการปรับตัวของประชาชนเพื่อพร้อมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม และ 6) การเตรียมพื้นที่รองรับกรณีมีผู้ประสบภัย