- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Thursday, 23 September 2021 10:34
- Hits: 10503
สภาพัฒน์ จัดระดมความคิดเห็นต่อร่างแผนฯ 13 ในการประชุมประจำปี 2564 'Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย'
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ ในการจัดประชุมประจำปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่อง ‘Mission to Transform : 13 หมุดหมายพลิกโฉมประเทศไทย’ ในรูปแบบการประชุมออนไลน์
นายกฯ ย้ำ พลิกโฉมประเทศ ต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดการประชุมและแสดงปาฐกถาพิเศษ ว่า ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรอบในการกำหนดทิศทางและกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ มาเป็นระยะเวลา 70 ปี มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาแล้ว 12 ฉบับ ภายหลังจึงมียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งถือเป็นแผนระดับที่หนึ่ง แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทำหน้าที่เป็นแผนระดับที่สอง หรือเป็นแผนปฏิบัติการในช่วงทุกระยะ 5 ปี ของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาประเทศ เป็นไปอย่างสอดคล้องในทิศทางเดียวกัน โดยแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 12 จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2565 และจะได้มีการประกาศใช้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี ระยะที่สองของยุทธศาสตร์ชาติ ตั้งแต่ตุลาคม 2565– กันยายน 2570
การที่จะวางแผนเพื่อก้าวไปสู่อนาคตร่วมกันได้อย่างมั่นคงนั้น จำเป็นต้องรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในโลกอย่างรอบด้าน โดยแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกที่กำลังกระทบกับหลายประเทศในโลก รวมทั้งประเทศไทยคือแนวโน้มที่เรียกว่า Mega Trend ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงค่านิยมและรูปแบบการใช้ชีวิต การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ภาวะโลกร้อนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็ยิ่งจะทำให้เกิดโอกาสในการพัฒนารูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีขึ้นมาก่อน ส่งผลกระทบต่อชีวิตและพฤติกรรมของคนในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องแก้ไขจุดอ่อนและเสริมสร้างความเข้มแข็งเพื่อเร่งขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความเจริญเติบโต ที่ทุกภาคส่วนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้
การพัฒนาประเทศไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการทำงานของคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปเพื่อ “พลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมก้าวหน้าเศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” ต่อไป
การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต้องให้ความสำคัญกับ 'การพัฒนาคน'และ 'ความมั่นคงของการดำรงชีวิต'
ศาสตราจารย์ ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดประชุมประจำปี 2564 ของ สศช. มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคีการพัฒนาต่าง ๆ เกี่ยวกับสาระของร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ซึ่งภายใต้วิกฤตการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ตอกย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับ ‘การพัฒนาคน’ และ’ความมั่นคงของการดำรงชีวิตของมนุษย์’ เพื่อให้ทุกคนในชาติมีภูมิต้านทานต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือ การมุ่งพัฒนาไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เมื่อทุกคนมีความต้านทาน จึงจะเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ วิกฤตการณ์โควิด-19 เป็นโอกาสที่จะนำพาประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลง และวางแผนเพื่อการฟื้นตัวและปรับตัวที่จะเตรียมรับความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal โดยเฉพาะทั้งการมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ครอบคลุมทั่วถึง ไม่มีช่องว่างระหว่างคนในสังคม การสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานราก การดูแลสภาพแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการผลกระทบจากการพัฒนาเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการลดภาวะโลกร้อน การกำจัดขยะในทะเล และการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ เพราะหากเราไม่บริหารจัดการสิ่งเหล่านี้ เราจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 มุ่ง 5 เป้าหมายหลัก 13 หมุดหมาย พลิกโฉมประเทศไทย
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการแนวคิดที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แนวคิด Resilience เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อมุ่งสู่วัตถุประสงค์หลักของแผนพัฒนาฯ คือการ “พลิกโฉม” ประเทศไทย สู่ “สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืน” โดย สศช. ได้ถ่ายทอดวัตถุประสงค์หลักข้างต้นออกมาเป็นเป้าหมายหลัก 5 ประการ ดังนี้
- การปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการสำคัญให้สามารถตอบโจทย์พัฒนาการของเทคโนโลยีและสังคมยุคใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- การพัฒนาคนสำหรับโลกยุคใหม่ โดยพัฒนาให้คนไทยมีทักษะและคุณลักษณะที่เหมาะสมกับโลกยุคใหม่ ทั้งทักษะในด้านความรู้ ทักษะทางพฤติกรรม และคุณลักษณะตามบรรทัดฐานที่ดีของสังคม เตรียมพร้อมกำลังคนที่มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
- การมุ่งสู่สังคมแห่งโอกาสและความเป็นธรรม โดยลดความเหลื่อมล้ำทั้งในเชิงพื้นที่และโอกาสในการแข่งขันของภาคธุรกิจ รวมถึงสนับสนุนช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาสให้มีโอกาสในการเลื่อนชั้นทางเศรษฐกิจและสังคม
- การเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน โดยปรับปรุงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการผลิตและบริโภคให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหามลพิษสำคัญด้วยวิธีการที่ยั่งยืน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในระยะยาว
- การเสริมสร้างความสามารถของประเทศไทยในการรับมือการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงภายใต้บริบทโลกใหม่ โดยการสร้างความพร้อมในการรับมือกับการเป็นสังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และภัยโรคระบาด รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกลไกทางสถาบันให้เอื้อต่อสังคมและเศรษฐกิจดิจิทัล
นอกจากนี้ ได้กำหนดหมุดหมายการพัฒนาไว้จำนวน 13 หมุดหมายเพื่อเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อน มีเป้าหมายและทิศทางที่ช่วยในการสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ ที่ครอบคลุม 4 มิติการพัฒนา ประกอบด้วย
- มิติภาคการผลิตและบริการเป้าหมาย
หมุดหมายที่ 1 ไทยเป็นประเทศชั้นนำ ด้านสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง
หมุดหมายที่ 2 ไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน
หมุดหมายที่ 3 ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก
หมุดหมายที่ 4 ไทยเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
หมุดหมายที่ 5 ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค
หมุดหมายที่ 6 ไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะของอาเซียน
- มิติโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม
หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้
หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่ และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน
หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง และคนไทยทุกคนมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม
- มิติความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หมุดหมายที่ 10 ไทยมีเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ
หมุดหมายที่ 11 ไทยสามารถลดความเสี่ยงและผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- มิติปัจจัยผลักดันการพลิกโฉมประเทศ
หมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต
หมุดหมายที่ 13 ไทยมีภาครัฐที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชน
กระบวนการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ขั้นต่อไป
หลังจากผ่านกระบวนการยกร่างกรอบแผนพัฒนาฯ ข้างต้น เสร็จสิ้น สศช. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ 13 คณะ (ตาม 13 หมุดหมาย) เพื่อดำเนินการยกร่างรายละเอียดของตัวชี้วัดและกลยุทธ์ของแต่ละหมุดหมายในช่วงตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา (มิถุนายน – กันยายน 2564) ซึ่งภายหลังจากการประชุมในวันนี้ (22 กันยายน 2564) สศช. จะจัดให้มีการรับฟังและระดมความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 อีกครั้งในช่วงธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 พร้อมทั้งปรับปรุงแผนพัฒนาฯ จากความเห็นที่ได้รับอีกครั้ง ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภา ตามลำดับ ก่อนจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา และทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ