- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Sunday, 11 April 2021 10:14
- Hits: 16060
สภาพัฒน์ จัดระดมความคิดเห็นกรอบแผนฯ 13 กลุ่มเฉพาะ ด้านผู้สูงอายุ
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดระดมความคิดเห็น "กรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570)” กลุ่มเฉพาะ ด้านผู้สูงอายุ เพื่อนำไปประกอบการกำหนดแนวทางของแผนพัฒนาฯ ในการ “พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน”
นางสาวจินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการประชุมและกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมระดมความคิดเห็นต่อ "กรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 กลุ่มเฉพาะ ด้านผู้สูงอายุณ ห้องประชุม 521 สศช. ซึ่งเป็นมุมมองของผู้ทรงคุณวุฒิที่มีทั้งที่เป็นผู้สูงอายุและมีบริบทการทำงานเกี่ยวกับด้านสูงอายุ อาทิ รองศาสตราจารย์นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) นางจุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นายวรเวศม์ สุวรรณระดา คณบดี คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสกองทุนสร้างเสริมสุขภาพ นางภารนี สวัสดิรักษ์ วุฒิอาสา และผู้แทน UNFPA รวมทั้ง ดร.มารยาท สมุทรสาคร และ นางสาว วรัญญา เตียวกุล อดีตข้าราชการ สศช. โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้นประมาณ 50 คน
นางสาวจินางค์กูรฯ กล่าวว่า การประชุมกลุ่มเฉพาะ ด้านผู้สูงอายุ เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่ง สศช. มุ่งเปิดโอกาสให้ภาคีการพัฒนาและประชาชนทุกภาคส่วนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง โดยได้มีการจัดระดมความคิดเห็นทั้งในระดับพื้นที่ 18 กลุ่มจังหวัด และระดับกลุ่มเฉพาะ อาทิ กลุ่มหน่วยงานภาครัฐ กลุ่มภาคเอกชน กลุ่มเยาวชน และกลุ่มเฉพาะด้านผู้สูงอายุ และทางสื่อออนไลน์
จากนั้น นางสาววรวรรณ พลิคามิน ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สศช. ประธานการระดมความคิดเห็น นำเสนอบทบาทและกรอบแนวคิดในการจัดทำแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผลการวิเคราะห์บริบทการพัฒนาประเทศ และสาระสำคัญของกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ซึ่งกำหนดเป้าหมายหลัก ในการ “พลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” และ 4 องค์ประกอบ 13 หมุดหมาย ในการพลิกโฉมประเทศ ดังนี้ องค์ประกอบที่ 1 เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มี 6 หมุดหมาย คือ (1) เกษตรและเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง (2) การท่องเที่ยวเน้นคุณค่าและความยั่งยืน (3) ฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน (4) การแพทย์และสุขภาพแบบครบวงจร (5) ประตูการค้าการลงทุนและโลจิสติกส์ของภูมิภาค (6) อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและบริการดิจิทัล
องค์ประกอบที่ 2 สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค มี 3 หมุดหมาย คือ (7) SMEs วิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจเพื่อสังคมเติบโตอย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน (8) พื้นที่และเมืองมีความเจริญ ทันสมัย และน่าอยู่ (9) ความยากจนข้ามรุ่นลดลง และความคุ้มครองทางสังคมเพียงพอ เหมาะสม องค์ประกอบที่ 3 วิถีชีวิตที่ยั่งยืน มี 2 หมุดหมาย คือ (10) เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ (11) การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์ประกอบที่ 4 ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ มี 2 หมุดหมาย คือ (12) กำลังคนมีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต และ (13) ภาครัฐที่มีสมรรถนะสูง
การระดมความคิดเห็นแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรก เป็นการระดมความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ : เป้าหมายหลักในการ “พลิกโฉมประเทศไทยไปสู่ เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน” และช่วงที่ 2 เป็นการระดมความคิดเห็นต่อ 4 องค์ประกอบ 13 หมุดหมาย โดยมีความเห็นที่สำคัญ อาทิ
การกำหนดเป้าหมายและหมุดหมาย ควรให้ความสำคัญกับทุกองค์ประกอบอย่างสมดุล และควรมีการกำหนดว่าหมุดหมายในแต่ละเป้าหมายนั้นมีแนวคิดในการได้มาอย่างไร ควบคู่กับการสื่อสารกับภาคีการพัฒนาต่างๆ อย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบที่ 1 เศรษฐกิจมูลค่าสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควรเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โลจิสติกส์ และการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ได้มาตรฐานสากลและผู้ประกอบการรายย่อยเข้าถึงได้ ขณะที่การท่องเที่ยวเน้นคุณค่าและความยั่งยืน ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาผังเมืองร่วมกันระหว่าง รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม เนื่องจากเป็นการสร้างความตระหนักของคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวถึงคุณค่าของทุนทางสังคม ตลอดจนควรให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันของภาคเอกชน
องค์ประกอบที่ 2 สังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาค ควรให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างสังคมที่เป็นธรรม การออกแบบระบบคุ้มครองทางสังคมสำหรับคนแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งการพัฒนาเมืองตามแนวคิด Resilient city ที่เมืองสามารถรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้
องค์ประกอบที่ 3 วิถีชีวิตที่ยั่งยืน การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ ต้องเริ่มต้นจากการสร้างความตระหนักถึงผลกระทบจากการผลิตและบริโภคที่ขาดความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในระดับครัวเรือนและชุมชน ขณะที่การลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติและการจัดการภัยพิบัติต้องอาศัยกลไกความร่วมมือในระหว่างประเทศเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
องค์ประกอบที่ 4 ปัจจัยสนับสนุนการพลิกโฉมประเทศ เป็นคานงัดสำคัญในการพลิกโฉมประเทศ โดยควรสร้างแนวคิดและทัศนคติ (Mindset) ของคนทุกช่วงวัย การสร้างคนที่มีคุณธรรม การสร้างความรอบรู้ด้านดิจิทัลโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบางและกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ขณะที่ภาครัฐต้องมีแนวทางในการลดขนาดอย่างจริงจัง การบูรณาการของภาครัฐควรต้องสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งปันทรัพยากรร่วมกัน และควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศของภาคีการพัฒนาต่าง ๆ (Partnership for Development) รวมถึงให้มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น
ภายหลังจากการระดมความคิดเห็นกลุ่มเฉพาะ ด้านผู้สูงอายุ ในวันนี้ สศช. จะนำความเห็นและข้อเสนอแนะของทุกท่านมาวิเคราะห์และประมวลผล เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการยกร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในรายละเอียด ซึ่งจะมีการกำหนดประเด็นแนวทางการพัฒนา และตัวชี้วัดที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ก่อนนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และรายงานต่อรัฐสภา ก่อนนำร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการให้ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเดือนตุลาคม 2565 ต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ของ สศช. ได้ทางเว็บไซต์ www.nesdc.go.th, Facebook สภาพัฒน์, Twitter สภาพัฒน์, Line สภาพัฒน์ Update, Email : [email protected] แบบสอบถามออนไลน์ และตู้ ปณ.49 ปทฝ.หลานหลวง กรุงเทพฯ 10102
******************************************
กด Like - Share เพจ Corehoon-Power Time เพื่อติดตามเคล็ดลับ ข่าวสาร เทรนด์ และบทวิเคราะห์ดีๆ อัพเดตทุกวัน คัดสรรมาเพื่อท่านนักลงทุนโดยเฉพาะ