- Details
- Category: สภาพัฒน์ฯ สศช.
- Published: Sunday, 26 August 2018 16:46
- Hits: 6722
สภาพัฒน์ คงคาดการณ์ GDP ปี 61 โต 4.2-4.7% มองครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวจากฐานสูง-ท่องเที่ยวตก-ผลกระทบน้ำท่วม
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คงคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.2-4.7% หรือค่ากลางการประมาณการ 4.5% ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.9% และ 3.3% ในปี 60 และปี 59 ตามลำดับ แต่มีการปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในครึ่งแรกของปี 61 และการปรับเปลี่ยนสมมติฐานการประมาณการที่สำคัญ
แรงสนับสนุนที่สำคัญ ประกอบด้วย (1) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและภาคการผลิตส คัญๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดีและเร่งขึ้น (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 10.0 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 4.1% และ 4.4% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.9-1.4% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.4% ของ GDP
สภาพัฒน์ระบุว่า แม้เศรษฐกิจในครึ่งปีแรกจะขยายตัวได้ถึง 4.8% แต่การขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 61 มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรกตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3/61 มีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม และสถานการณ์อุทกภัยมีแนวโน้มที่จะทำให้ผลผลิตภาคเกษตรในไตรมาสสุดท้ายของปีขยายตัวต่ำกว่าที่คาดไว้ เงื่อนไขดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปี 61 ยังคงขยายตัวอยู่ในช่วง 4.2-4.7% โดยมีค่ากลางของการประมาณการ 4.5% เท่ากับการประมาณการในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 21 พ.ค.61
"สภาพัฒน์ยังประเมินภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ว่าจะขยายตัวได้ 4.2-4.7% หรือเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 4.5% เท่ากับการประเมินในครั้งก่อน โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง และน่าจะเติบโตได้มากกว่าเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้ 4.1%"นายทศพร กล่าว
พร้อมกันนี้ สศช.ได้ปรับประมาณการส่งออกไทยในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 10% สูงกว่าการประมาณการเดิมที่คาดไว้ที่ 8.9% เนื่องจากมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวได้เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย อย่างไรก็ดี แม้จะปรับประมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นจากเดิม
แต่ สศช.ยังประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้เท่าเดิมที่ 4.5% เนื่องจากประเมินว่าการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 7.3% ซึ่งปรับลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 8.6% เหตุเพราะการเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย แต่คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง นอกจากนี้ รายได้ภาคการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 2 ยังชะลอตัวลง ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวในเรื่องนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากเหตุเรือล่มที่ภูเก็ต ประกอบกับมีช่วงฟุตบอลโลก 2018 จึงทำให้นักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางเข้ามายังประเทศไทยลดลง
เลขาธิการ สศช. กล่าว่า ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 61 ได้แก่ 1. การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกและการผลิตภาคสำคัญขยายตัวในเกณฑ์ดี 2. แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีและเร่งขึ้น 3. การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน 4. การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องติดตาม ได้แก่ การผลิตในภาคเกษตรที่ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย, ฐานการขยายตัวในสาขาการผลิตสำคัญที่เริ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 60, อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ, มาตรการกีดกันทางการค้าเริ่มทวีความรุนแรงและมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงของระบบการเงินโลกยังอยู่ในเกณฑ์สูง
ทั้งนี้ ในเรื่องของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ และจีน ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามและเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เพราะจะส่งผลทั้งในแง่ของโอกาสและผลกระทบต่อการค้าของไทย ซึ่งในรอบแรกและรอบ 2 ได้ผ่านไปแล้ว ในขณะที่เชื่อว่าหากทั้งสหรัฐและจีนใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้าระหว่างกันจนถึงรอบ 3 ที่คาดว่าจะมีการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน 10% คิดเป็นมูลค่าถึง 2 แสนล้านดอลลาร์นั้น ก็คาดว่าจะฉุดเศรษฐกิจจีนให้ลดลงไป 0.75% ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐเองก็จะปรับลดลงไปด้วย 1.25% ซึ่งเมื่อรวมกันสองประเทศนี้ก็มีโอกาสจะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงได้ในอนาคต
อนึ่ง สศช.ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 61 ภายใต้สมมติฐานดังนี้ เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ 4.1% ปริมาณการค้าโลก ขยายตัว 4.3% ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในช่วง 32-33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ, ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ในช่วง 65-75 ดอลลาร์/บาร์เรล รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 2.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.3% การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2561 ที่ 91.8% ของวงเงินงบประมาณ ลดลงจาก 92% ในสมมติฐานประมาณการครั้งที่ผ่านมา
ครึ่งปีแรกศก.โต 4.8%ส่งออก-ลงทุน-ใช้จ่ายภาครัฐตัวหนุน
แนวหน้า : นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงาน คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์สรุปภาพรวมเศรษฐกิจไทย หรือ GDP ในไตรมาสสองปี 2561 ขยายตัว 4.6% เทียบกับการขยายตัว 4.9% ในไตรมาสก่อนหน้า และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สองของปี 2561 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 2561 ประมาณ 1.0% รวมครึ่งแรกของปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.8%
โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวเร่งขึ้น ของการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนการส่งออกสินค้า และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐบาล ในด้านการผลิต การผลิตภาคเกษตร และสาขาการขายส่งและการขายปลีกฯ ขยายตัวในเกณฑ์สูงและเร่งขึ้น สาขาอุตสาหกรรม สาขาโรงแรมและภัตตาคาร สาขาการขนส่งและการคมนาคมชะลอตัวตามฐานการขยายตัว ที่สูงขึ้น ขณะที่การก่อสร้างขยายตัวดีต่อเนื่อง
แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2561 คาดว่าจะขยายตัว 4.2-4.7% แรงสนับสนุนที่สำคัญคือ(1) การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลให้การส่งออกและภาคการผลิตสำคัญๆ ขยายตัวในเกณฑ์ดี (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐบาลและการลงทุนภาครัฐยังมีแนวโน้มที่ดีและเร่งขึ้น (3) การฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชน และ (4) การปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจคาดว่าทั้งปีส่งออกจะขยายตัว 10.0% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 4.1% และ 4.4% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ใน ช่วง 0.9-1.4% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 8.4% ของ GDP
ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2561 ควรให้ความสำคัญกับ (1) สนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า รวมทั้งติดตามและดำเนินมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้น สนับสนุนการขยายตัวของภาค การท่องเที่ยว ทั้งการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย และรักษาความปลอดภัยแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ส่งเสริมการขายในตลาดนักท่องเที่ยวระยะไกล กระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน และการสนับสนุนการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน อำนวยความสะดวกและกระตุ้นโครงการลงทุนที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว การดูแลให้การดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดรวมทั้งชักจูงนักลงทุนในสาขาและพื้นที่เป้าหมาย และ นักลงทุนในประเทศที่ประสบปัญหาจากมาตรการกีดกันทางการค้า
(2) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย การฟื้นฟูเกษตรกรที่ประสบปัญหาอุทกภัย การเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตที่เพิ่มขึ้นและการขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าเกษตร การดำเนินการตามมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐ มาตรการสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ในการลดภาระการชำระหนี้และการลดข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และให้ความช่วยเหลือและพัฒนา SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินธุรกิจ พฤติกรรมผู้บริโภค โครงสร้างประชากร และความผันผวนของค่าเงิน
(3) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐ โดยการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนภายใต้กรอบงบประมาณต่างๆ ให้มีเพียงพอต่อการสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง และภายใต้แผนพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และ (4) การเตรียมความพร้อมด้านกำลังแรงงานและคุณภาพแรงงานให้เพียงพอต่อการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน
สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพี Q2/61 โต 4.6% คงทั้งปี 4.2-4.6% แต่เพิ่มเป้าส่งออกเป็น 10%
สภาพัฒน์ เผยจีดีพี Q2/61 โต 4.6% ยังได้กลุ่มสินค้าเกษตรหนุน พร้อมคงประมาณการจีดีพีปี 61 ที่ 4.2-4.6% ฟากส่งออก Q2/61 ขยายตัว 12.3% ติดต่อกัน 8 ไตรมาส พร้อมเพิ่มเป้าส่งออกทั้งปีเป็นโต 10% จากเดิม 8.9% พร้อมจับตาน้ำท่วม อัตราดอกเบี้ย สงครามการค้า เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม
นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนังานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 2 ขยายตัว 4.6% ขณะที่ครึ่งปีแรกขยายตัว 4.8% ส่งผลให้สศช.ยังคงคาดการณ์จีดีพี ปี 2561 ที่ 4.2-4.7% ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตามอง คือ อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มาตรการกีดกันทางการค้าเริ่มทวีความรุนแรงและมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงปัญหาน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ซึ่งจะต้องติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับ เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ที่ขยายตัวได้ 4.6% ลดลงจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว 4.9% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากผลผลิตภาคเกษตรโดยเฉพาะพืชหลักขยายตัวสูง ขณะที่ภาคนอกเกษตรชะลอลงตามการชะลอตัวของสาขาอุตสาหกรรมและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งชะลอลงสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
ด้านการส่งออกสินค้าในไตรมาส 2 มีมูลค่า 63,014 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12.3% และเป็นการขยายตัวติดต่อกัน 8 ไตรมาส ขณะที่ครึ่งปีแรกการส่งออกของไทยมีมูลค่า 124,803 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 11.1% สำหรับทั้งปี สศช.คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 10% เพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาด 8.9%
ขณะที่การนำเข้าในไตรมาส 2 มีมูลค่า 57,210 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 16.8% ด้านการนำเข้าสินค้าในครึ่งปีแรกมีมูลค่า 112,363 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.3% และคาดว่าทั้งปีการนำเข้าสินค้าจะขยายตัว 15.4% เพิ่มขึ้นจากการประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัว 12.7% สำหรับดุลการค้าในไตรมาส 2 เกินดุล 5.8 พันล้านดอลลาร์ และครึ่งปีแรกเกินดุลการค้า 12.4 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ทั้งปีคาดว่าจะเกินดุลการค้า 26.7 พันล้านดอลลาร์ ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะเกินดุลการค้า 27 พันล้านดอลลาร์ ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 เกินดุล 6.4 พันล้านดอลลาร์ และครึ่งปีแรกเกินดุล 21.4 พันล้านดอลลาร์
ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.3% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกที่อยู่ที่ 0.6% และครึ่งปีแรกเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1% ส่งผลให้ทั้งปีคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.9-1.4% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในไตรมาสแรกอยู่ที่ 0.8% และครึ่งปีแรกอยู่ที่ 0.6%
อย่างไรก็ตาม สศช.ยังคงคาดการณ์จีดีพีปี 2561 ที่ 4.2-4.7% โดยมีค่ากลางที่ 4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลให้การส่งออกและภาคการผลิตขยายตัวในเกณฑ์ดี และสามารถสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐและการลงทุนภาครัฐ ด้านการฟื้นตัวที่ชัดเจนมากขึ้นของการลงทุนภาคเอกชนยังมีแรงสนับสนุนการเติบโต อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามฐานการขยายตัวที่สูงขึ้น ในขณะที่ภาคการผลิตภาคเกษตรยังมีความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วม ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของความผันผวนในระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก และการเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า ซึ่งเริ่มเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของราคาสินค้าและการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก
“ในครึ่งปีหลัง สศช.ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะสูงกว่าจีดีพีโลกที่ขยายตัวได้ 4.1% จากการส่งออกที่ขยายตัวในระดับสูง แต่ทั้งนี้ ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาคเกษตรที่อาจมีความรุนแรงมากขึ้นและเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามและประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด”นายทศพร กล่าว
นายทศพร กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค คือ การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะ การขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวได้ตามเป้าหมายควบคู่กับการให้ความสำคัญเพิ่มเติมกับการใช้โอกาสจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะการขยายการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ และจีน การติดตามการเปลี่ยนแปลงของสินค้านำเข้าที่สำคัญ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษีนำเข้าในสหรัฐและจีน การสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว โดยเน้นการฟื้นฟูภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยว การสนุบสนุนการขยยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการอำนวยความสะดวกและกระตุ้นโครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในครึ่งปีแรกให้มีการลงทุนจริงโดยเร็ว
นอกจากนี้ การดูแลเกษตรและผู้มีรายได้น้อย และการสร้างความเข้มแข็งให้กับวิสาหกิจขยาดกลางและขนาดย่อมและเศรษฐกิจฐานราก ยังเป็นปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร เช่น การฟื้นฟูเกตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วควบคู่กับการเตรียมมาตรการป้องกัน ลดผลกระทบ และฟื้นฟูเกษตรกรที่อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี การแก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรและการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าเกษตรบางรายการที่ราคายังมีข้อจำกัดในการฟื้นตัว
ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องเร่งการขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะการส่งเสริมให้นักลงทุนเข้าไปลงทุนในโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนอย่างต่อเนื่อง การจัดทำแผนและการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง โลจิสติกส์ และการพัฒนาเมืองและพื้นที่ระดับภาคและจังหวัดสำคัญๆ เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนการขยายตัวและการกระจายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย