- Details
- Category: อัยการ-สูงสุด
- Published: Wednesday, 06 August 2014 22:36
- Hits: 9734
คดีโกงข้าวถึงมืออสส. 'ปู'ระทึก! สำนวนปึ้ก‘4 พันหน้า’
แนวหน้า : คดีโกงข้าวถึงมืออสส.'ปู'ระทึก! สำนวนปึ้ก‘4พันหน้า’ 30 วันรู้ผลฟ้อง-ไม่ฟ้อง ปปช.ตั้งแท่นรอลุยเอง ‘ยิ่งลักษณ์’ส่งทนายยื้อ ย้ำ10 สิงหาฯกลับมาแน่
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 5 สิงหาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายวิศิษย์ ตันอารีย์ เจ้าพนักงานปราบปรามการทุจริตชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นำสำนวนการสอบสวนคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวจำนวน 5 ลัง 30 แฟ้ม รวมกว่า 4,000 หน้า พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ฐานละเลยไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจโดยมิชอบ จากกรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท เพื่อให้อัยการพิจารณาความเห็นสั่งฟ้อง และยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยมีนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ นายพิบูลย์ จตุพัฒนกุลรองเลขานุการอัยการสูงสุด นายสมเกียรติ คุววัฒนานนท์ รองเลขานุการอัยการสูงสุดและนางสันทนี ดิษยบุตร รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นตัวแทนรับมอบสำนวน
อสส.รับลูกตั้งกก.พิจารณาใน30 วัน
โดยนางสันทนีกล่าวว่า เลขานุการอัยการสูงสุด มอบหมายให้นายพิบูลย์ พร้อมคณะมารับมอบสำนวนการสอบสวนคดีโครงการรับจำนำข้าว จากป.ป.ช. ซึ่งคดีดังกล่าวถือเป็นคดีสำคัญ นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด จึงให้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาสำนวนการสอบสวน โดยมีรองอัยการสูงสุดเป็นหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อพิจารณาสำนวนและพยานหลักฐานด้วยความละเอียดรอบคอบ รวดเร็วและเป็นธรรม หากคณะทำงานพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอแล้ว อัยการจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ภายในกรอบระยะเวลา 30 วัน ตามกฎหมายต่อไป
เผยปปช.ตั้งแท่นพร้อมฟ้องเอง
ทั้งนี้ หากอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าข้อมูลในสำนวนยังไม่เพียงพอหรือยังไม่สมบูรณ์ ก็จะตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการและป.ป.ช.ขึ้นมาร่วมกันพิจารณาอีกครั้ง และหาข้อยุติภายใน 14 วัน นับตั้งแต่วันที่ตั้งคณะทำงานร่วม ซึ่งถ้าคณะทำงานได้ข้อยุติตรงกันทั้งสองฝ่าย ก็จะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป แต่หากไม่ได้ข้อยุติหรือความเห็นไม่ตรงกัน ทางอัยการก็จะคืนสำนวนให้ป.ป.ช. เพื่อแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯเอง อย่างไรก็ตาม การตั้งคณะทำงานร่วมดังกล่าวไม่ใช่ว่าอัยการจะต้องทำงานขัดแย้งกับป.ป.ช. แต่เพื่อให้สำนวนการสอบสวนมีความสมบูรณ์ที่สุด และพยานหลักฐานแน่นหนามากยิ่งขึ้น
เปิดช่อง‘ปู’ร้องสอบพยานเพิ่มได้
ส่วนกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะร้องขอความเป็นธรรมนั้น นางสันทนีกล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งอัยการก็ให้ความเป็นธรรมเต็มที่และไม่รู้สึกหนักใจ ถ้าน.ส.ยิ่งลักษณ์จะร้องขอให้สอบพยานเพิ่มเติม ก็ต้องพิจารณาดูประเด็นในการสอบพยานเพิ่มเติมว่ามีอยู่ในสำนวนการสอบสวนของป.ป.ช.แล้วหรือไม่ หรือเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่มีในสำนวน โดยอัยการจะพิจารณาว่าสามารถให้สอบพยานเพิ่มเติมได้มากน้อยแค่ไหน แต่จะพยายามพิจารณาให้อยู่ภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด
“อัยการสูงสุดให้ความสำคัญกับคดีนี้ กำชับว่าอัยการต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ โดยยึดสำนวนการสอบสวนของป.ป.ช. เป็นหลัก แต่ก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหาด้วย ในการพิจารณาประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆ รวมทั้งหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม เพื่อให้สำนวนการสอบสวนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น หากฟ้องก็สามารถหักล้างพยานหลักฐานในชั้นศาลได้” นางสันทนีกล่าว
ถ้า‘ปู’ไม่กลับก็ไม่กระทบคดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าวันที่ 10 สิงหาคมน.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่เดินทางกลับประเทศไทย จะกระทบต่อการพิจารณาสำนวนคดีหรือไม่นางสันทนีกล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะสุดท้ายแล้วมีพยานหลักฐานเพียงพอสั่งฟ้องได้ ตามกฎหมายก็ให้อำนาจอัยการสูงสุดยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯได้โดยไม่ต้องมีตัวจำเลย เพียงแต่ต้องระบุแหล่งที่อยู่ให้ชัดเจน
ส่วนต้องร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ นางสันทนีกล่าวว่า การขอส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาดำเนินคดีสามารถทำได้ แต่พนักงานอัยการต้องพิจารณาว่าจะขอตัวมาดำเนินคดีหรือไม่เพราะกฎหมายให้อำนาจอัยการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องมีตัวจำเลยมาฟ้อง แต่ขณะนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนั้นส่วนที่เกรงว่าอาจไม่ได้รับความเป็นธรรมหากมีการพิจารณาคดีลับหลังนั้นไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะกฎหมายระบุไว้อยู่แล้วสามารถพิจารณาคดีลับหลังได้ ซึ่งคดีในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น มีอายุความถึง 15 ปี และหากผู้ต้องหายังหลบหนีอยู่ ตามกฎหมายก็ยังไม่นับอายุความ ดังนั้น ไม่ต้องห่วงว่าคดีนี้จะขาดอายุความระหว่างหลบหนีคดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาสำนวนของอสส. ไม่น่าจะมีปัญหาและคาดว่าจะทันกรอบ 30 วัน ที่วางไว้ เพราะมีการนำความเห็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และป.ป.ช. ที่เคยทำหนังสือท้วงติงโครงการดังกล่าว และศาลปกครองก็มีคำวินิจฉัยในคดีนี้ มาร่วมพิจารณาด้วย
‘ปู’ดิ้นส่งทนายร้องอสส.6สค.
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ทันทีที่ป.ป.ช.ยื่นสำนวนคดีทุจริตจำนำข้าวต่ออัยการสูงสุด มีความเคลื่อนไหวจากทนายความของน.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์เปิดเผยว่า ตนเตรียมเอกสารและคำร้อง เพื่อยื่นขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดในวันที่ 6 สิงหาคมเวลา 10.00 น. เนื่องจากเห็นว่า สำนวนของป.ป.ช ยังไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็นและรวบรัดเร่งทำคดีเกินไป โดยประเด็นที่ร้องขอความเป็นธรรมนั้น มีทั้งประเด็นที่เคยยื่นต่อป.ป.ช.ไปแล้ว และมีประเด็นใหม่เสริมหลายข้อด้วยกัน
ยันยิ่งลักษณ์กลับมาแน่10 สิงหา
นายนรวิชญ์ยังระบุถึงกรณีคสช.ตั้งคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจโกดังข้าวทั่วประเทศและพบข้าวเน่าเสียไม่มาก อยู่ในเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จึงมั่นใจว่าอัยการสูงสุดจะรับฟังคำร้องและให้ความเป็นธรรมกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ส่วนเรื่องที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศและมีกำหนดกลับวันที่ 10 สิงหาคมนั้น ตนยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด
ผลเช็คโกดังข้าวทั่วปท.คืบ70%
ด้านม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบโกดังข้าวทั่วประเทศว่า ขณะนี้การตรวจสอบของคณะทำงานทั้ง 100 คณะ ดำเนินการไปแล้วประมาณ 90%
จากโกดังทั้งหมด 1,700 โกดังและไซโลอีกกว่า 100 แห่ง ในด้านปริมาณ ส่วนคุณภาพข้าวต้องส่งตัวอย่างข้าวแต่ละโกดังไปตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ จึงยังไม่สามารถสรุปผลได้ขณะนี้ คาดผลการตรวจจะแล้วเสร็จช่วงกลางเดือนกันยายน ทั้งนี้ การตรวจสอบโกดังแต่ละแห่งต้องใช้เวลา 1-2 วัน และเก็บตัวอย่างข้าวจากทุกโกดังเข้าตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ยืนยันว่ากระบวนการโปร่งใส
ชงอสส.ชี้ขาดคดีไร่ส้ม
ความคืบหน้าคดีบริษัท ไร่ส้ม จำกัด ยักยอกเงินโฆษณาจากบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กว่า 138 ล้านบาท นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เปิดเผยว่า หลังคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุด (อสส.) และป.ป.ช.มีมติเรียกเจ้าหน้าที่ อสมท ที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำเพิ่มเติมนั้น ขณะนี้สอบพยานครบแล้ว สำนวนอยู่ระหว่างคณะทำงานร่วมฯ ทำความเห็นเสนอนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด พิจารณา เพื่อมีคำสั่งต่อไป คิดว่าน่าจะได้ข้อยุติเร็วๆ นี้
ยิ่งลักษณ์ ส่งทนายขอความเป็นธรรมอัยการสูงสุดคดีจำนำข้าวพรุ่งนี้
นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะเดินทางไปยื่นร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุดในวันพรุ่งนี้ (6 ส.ค.) หลังจากที่ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) นำสำนวนการชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีปล่อยปละละเลยไม่ระงับยับยั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศกว่า 5 แสนล้านบาทมอบต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้ส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เนื่องจากเห็นว่าสำนวนของ ป.ป.ช ยังมีความไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็น และมีการเร่งทำคดีรวบรัดคดีเกินไป
"ได้เตรียมเอกสารและคำร้องทั้งในประเด็นที่เคยยื่นต่อ ป.ป.ช.ไปแล้ว และมีประเด็นใหม่เสริมด้วย"นายนรวิชญ์ กล่าว
ส่วนกรณีกำหนดการเดินทางกลับประเทศไทยของน.ส. ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะการเปลี่ยนแปลงแต่ประการใด
ทนาย"ยิ่งลักษณ์"ร้องอัยการขอสอบพยานเพิ่ม 50 ปาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับผิดมอบอำนาจจาก นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีรับจำนำข้าว เข้ายื่นเอกสารและคำร้องเพื่อขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด โดยมีนายสมเกียรติ คุววัฒนานนท์ รองเลขานุการอัยการสูงสุด เป็นผู้รับหนังสือ
นายนรวิชญ์ กล่าวว่า สำนวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ยังไม่สมบูรณ์ในหลายประเด็นและเร่งทำคดี รวมทั้งการกล่าวหานางสาวยิ่งลักษณ์ว่าทุจริตทุกขั้นตอน แต่กลับไม่มีหลักฐานว่าทุจริตในขั้นตอนใด
นอกจากนี้ที่ คสช. ได้ตั้งคณะกรรมการลงพื้นที่ตรวจข้าว และพบข้าวเน่าเสียจำนวนน้อยกว่าที่กำหนด แสดงให้เห็นว่าโครงการดังกล่าวไม่มีการทุจริต จึงมั่นใจว่าอัยการสูงสุดจะรับฟังคำร้องและให้ความเป็นธรรมแก่นางสาวยิ่งลักษณ์
ทั้งนี้ หากข้อมูลในสำนวนไม่เพียงพอหรือยังไม่สมบูรณ์ จะมีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการสูงสุด กับ ป.ป.ช. ซึ่งในส่วนนี้ นายนรวิชญ์ เปิดเผยว่า ได้เตรียมพยานบุคคลไว้ 50 ปาก ซึ่งไม่ได้เป็นการยื้อเวลาแต่อย่างใด เพราะถือเป็นสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งเป็นไปตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องการ คือ ให้นำเสนอข้อเท็จจริงให้มากที่สุดเพื่อให้แต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบด้าน