- Details
- Category: อัยการ-สูงสุด
- Published: Wednesday, 18 March 2015 11:27
- Hits: 9793
อัยการสูงสุด(อสส.)ฟ้อง‘บุญทรง’ ปรับอ่วม 3.5 หมื่นล้าน โทษหนักคุกตลอดชีวิต
แนวหน้า : โทษหนักคุกตลอดชีวิต ฟ้อง‘บุญทรง’ ปรับอ่วม 3.5 หมื่นล้าน อสส.ขนหลักฐาน 205 ลัง มัดแก๊งขายข้าว‘จีทูจีเก๊’ ศาลฯนัดสั่งคดี 20 เมษาฯ
อัยการสูงสุด(อสส.) นำสำนวนคดีระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) พร้อมเอกสารหลักฐานจำนวนมากยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมพวกรวม 21 รายต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว โดยศาลนัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 20 เมษายน
เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 17 มีนาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษและนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นำสำนวนพร้อมเอกสารหลักฐานคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจีในโครงการรับจำนำข้าว ของนายบุญทรงกับพวกรวม 21 คน จำนวน 205 ลัง 1,628 แฟ้ม เอกสารหนากว่า 70,000 หน้า ยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ
ไร้เงา'บุญทรง'กับพวก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญทรงกับพวกไม่ได้เดินทางมาศาลและไม่ได้ส่งตัวแทนมาแต่อย่างใด แต่ตามกฎหมาย อสส.สามารถส่งสำนวนฟ้องได้โดยไม่ต้องนำตัวผู้ถูกกล่าวหามาแสดงต่อศาลในวันฟ้อง เช่นเดียวกับกรณีฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ข้อหาละเว้นปฎิบัติหน้าที่ กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2542 มาตรา 123/1 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
อสส.แจงข้อหา-โทษถึงคุกตลอดชีวิต
ต่อมาเวลา 11.00 น. นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงานฟ้องคดีทุจริตระบายข้าวจีทูจี ในฐานะตัวแทนฝ่ายอัยการสูงสุดที่รับผิดชอบคดีทุจริตโครงการระบายข้าวจีทูจี แถลงรายละเอียดคดี หลังนำคำฟ้องกว่า 40 หน้า พร้อมสำนวนไต่สวนของป.ป.ช.เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายบุญทรงกับพวกรวม 21 ราย เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาฯว่า ศาลฎีกาฯรับคำฟ้องไว้แล้ว เป็นคดีหมายเลขดำ อม. 25/2558 ซึ่งการยื่นฟ้องเป็นไปตามข้อกล่าวหาของป.ป.ช. ฐานทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 , 9, 10 และ 12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 , 86 , 91 ,151 และ 157 พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2502 มาตรา 7 และ 13
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติ่มประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2526 มาตรา 4 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ,123 และ 123/1 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับที่ 2 พ.ศ.2554 มาตรา 36 มีอัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต
ปรับอีก 3.5 หมื่นล.-จ่อเจอแพ่งอีกคดี
นายชุติชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ อสส.ยังขอให้สั่งปรับจำเลยทั้งหมดจำนวน 35,274,611,007 บาท คิดเป็นร้อยละ 50 จากมูลค่าความเสียหายทั้งหมด 7 หมื่นล้านบาทตามสัญญาระบายข้าว 4 ฉบับที่ว่ากระทำผิดจากทั้งหมด 8 ฉบับ ส่วนการรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายของโครงการจำนำข้าวทั้งหมดประมาณ 5 - 6 แสนล้านบาท ที่ป.ป.ช.กำลังรวบรวมหลักฐานนั้น เป็นอีกเรื่องที่ต้องดำเนินการต่อ ถ้าป.ป.ช.สรุปสำนวนส่งให้อสส. ถ้าจะฟ้องคดีนี้ ก็ต้องยื่นต่อศาลปกครอง
ชี้จีทูจีพบผิดเพิ่มน้ำหนักอาญา'ปู'
ส่วนศาลฎีกาฯจะรวมพิจารณาคดีของนายบุญทรงกับคดีอาญาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีปล่อยให้เกิดความเสียหายจากโครงการจำนำข้าวหรือไม่ นายชุติชัยกล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของตุลาการเจ้าของคดี เพราะหลักฐานความผิดเป็นคนละฐานความผิด องค์คณะเป็นคนละชุด
“แม้พยานหลักฐานจะมีความเชื่อมโยงกัน แต่เป็นการกระทำต่างวาระ และขั้นตอนแตกต่างกัน จึงแยกสำนวน แต่คดีนี้จะเป็นการเพิ่มหลักฐานให้คดีอาญาของน.ส.ยิ่งลักษณ์ มีน้ำหนักมากขึ้น ในกรณีที่พบว่าเกิดการทุจริตจริง” นายชุติชัย กล่าว
นัดฟังคำสั่งรับฟ้องหรือไม่ 20 เม.ย.
ด้านนายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวนกล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ไม่เกิน 14 วัน ที่ประธานศาลฎีกาจะเรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษา เพื่อคัดเลือกผู้พิพากษา 9 คนเป็นองค์คณะพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว จากนั้นองค์คณะทั้ง 9 คนจะประชุมเลือกผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน แล้วจะพิจารณาว่ามีคำสั่งรับฟ้องคดีหรือไม่ วันที่ 20 เมษายน เวลา 10.00 น. โดยวันดังกล่าวจำเลยยังไม่ต้องทางมารายงานตัวต่อศาลก็ได้ แต่ถ้าศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้วส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยรับทราบว่า มีการฟ้องคดีเกิดขึ้น และกำหนดวันพิจารณาครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การ ในวันนัดครั้งแรกจำเลยทั้งหมดต้องมาศาลด้วยตัวเอง หากไม่มาศาลก็จะพิจารณาเพื่อมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป
เตรียมพยานกว่าร้อยปากมัดเอาผิด
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้หรือไม่ เพราะเป็นคดีมีอัตราโทษสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต นายสุรศักดิ์กล่าวว่า หากศาลฎีกาฯนัดพิจารณาคดีครั้งแรกแล้วจำเลยทั้ง 21 คนมาศาลถือว่าเข้าสู่กระบวนการแล้ว ดังนั้น นัดไต่สวนต่อไปแม้จำเลยไม่มา ศาลก็สามารถไต่สวนพยานลับหลังได้ แต่ถ้าในวันพิจารณาคดีครั้งแรก มีจำเลยคนหนึ่งคนใดไม่มาศาล ก็อาจต้องจำหน่ายคดีไว้ และพิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่มาศาลในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก
อย่างไรก็ตาม สำหรับคดีนี้ อสส.เตรียมพยานบุคคลไว้กว่า 100 ปาก และขณะนี้อยู่ระหว่างทำบัญชีสรุปพยาน ซึ่งมีพยานปากสำคัญหลายปาก แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ทั้งนี้ ในการไต่สวนคดีของศาลฎีกาฯ เป็นการพิจารณาต่อเนื่อง คาดว่าใช้ระยะเวลาไต่สวนไม่นาน
ยังไม่ค้านประกัน-ไม่ห้ามไปนอก
เมื่อถามว่าอสส.คัดค้านการปล่อยชั่วคราว หรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศจำเลยหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่า จำเลยมีพฤติการณ์หลบหนี อสส.จึงไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราว โดยวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก ถ้าศาลสอบถามความเห็นอสส.เรื่องการปล่อยชั่วคราว อัยการก็จะพิจารณาอีกครั้งว่าจะคัดค้านหรือกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศหรือไม่ สำหรับคดีนี้ อสส.ตั้งคณะทำงานขึ้นมา 7 คน โดยมีคณะทำงานจากป.ป.ช.เข้าร่วมพิจารณาด้วย
เปิดบัญชี 21จำเลยคดีจีทูจีเก๊
สำหรับ รายชื่อจำเลยทั้ง 21 คน ประกอบด้วย กลุ่มนักการเมืองและข้าราชการพลเรือน 6 ราย ได้แก่ นายภูมิ สาระผล รมช.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานอนุฯพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2 พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการและอดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ จำเลยที่ 3 นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4 นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และอดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5 นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ และอดีตผอ.สำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6
ส่วนเอกชน ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัทและนิติบุคคล 15 ราย ได้แก่ นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7 นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8 นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9 บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10 น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11 น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12 น.ส.สุทธิดาหรือสุธิดา ผลดีหรือจันทะเอ จำเลยที่ 13 นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14 นายนิมลหรือโจ รักดี จำเลยที่ 15 นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16 นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 17 นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18 นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19 บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20 และน.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับนายอภิชาต หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร นักธุรกิจชื่อดัง จำเลยที่ 14 ในคดีนี้ ถือเป็นบุคคลสำคัญในวงการค้าข้าว เนื่องจากก่อนหน้านี้ ศาลแขวงสมุทรปราการ พิพากษาจำคุก 6 ปี ปรับ 12,000 บาท ฐานยักยอกข้าวกระทรวงพาณิชย์ ส่งไปขายประเทศอิหร่าน 20,000 ตัน มูลค่า 200 ล้านบาท โดยให้นายอภิชาต และ บริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัดจำเลยร่วม คืนทรัพย์สินของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หรือชดใช้แทนในราคา175,480,000 บาท รวมทั้งค่าเสียหายอื่นอีกรวมกว่า 200 ล้านบาทด้วย ซึ่งนายอภิชาตยื่นหลักทรัพย์ เป็นเงิน 700,000 บาท ขอประกันตัวสู้ระหว่างอุทธรณ์คดี
ชี้สอย'บุญทรง'ใช้เวลาไม่นาน
ขณะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)กล่าวถึงการพิจารณาถอดถอนนายบุญทรง นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่บรรจุเข้าที่ประชุมสนช.วันที่ 2 เมษายนว่า การบรรจุวาระนี้ไม่ได้เป็นการเร่งด่วน ตนตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียดแล้ว เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคนไม่กี่คน ทั้งนี้ การพิจารณาคดีอาญาของนายบุญทรงไม่มีผลต่อการพิจารณาของสนช. เพราะมาตรฐานการพิจารณาระหว่างศาลกับสนช.แตกต่างกัน เรื่องนี้คล้ายกันเพียงส่วนเดียว คือ เนื้อหาคดีเท่านั้น เชื่อว่าการพิจารณาคดีของนายบุญทรงจะใช้เวลาไม่นาน ขึ้นอยู่กับนายบุญทรงจะใช้สิทธิอย่างไร
อัยการแจงฟ้อง
มติชนออนไลน์ : |
หมายเหตุ - นายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานฟ้องคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงาน และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ร่วมกันแถลงข่าวภายหลังยื่นฟ้องนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวกรวม 21 คน ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ วันเดียวกันนี้เป็นผู้แทน นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด นำสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พร้อมเอกสารหลักฐานรวม 205 ลัง 1,628 แฟ้ม กว่า 70,000 หน้า ยื่นฟ้อง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และพวกรวม 21 ราย เป็นอดีตนักการเมือง 3 คน ข้าราชการการเมือง 3 คน บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ประกอบด้วย นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 1, นายบุญทรง ในฐานะประธานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว จำเลยที่ 2, พ.ต.นพ.ดร.วีระวุฒิ หรือหมอโด่ง วัจนะพุกกะ อดีตผู้ช่วยเลขานุการและอดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จำเลยที่ 3 นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 4, นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ และอดีตรองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จำเลยที่ 5, นายอัครพงศ์ ช่วยเกลี้ยง หรือทีปวัชระ อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ และอดีตผู้อำนวยการสำนักการค้าข้าวต่างประเทศ จำเลยที่ 6 ส่วนเอกชนซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามในบริษัทและนิติบุคคล ได้แก่ นายสมคิด เอื้อนสุภา จำเลยที่ 7, นายรัฐนิธ โสจิระกุล จำเลยที่ 8, นายลิตร พอใจ จำเลยที่ 9, บริษัท สยามอินดิก้า จำกัด จำเลยที่ 10, น.ส.รัตนา แซ่เฮ้ง จำเลยที่ 11, น.ส.เรืองวัน เลิศศลารักษ์ จำเลยที่ 12, น.ส.สุทธิดา หรือสุธิดา ผลดี หรือจันทะเอ จำเลยที่ 13, นายอภิชาติ หรือเสี่ยเปี๋ยง จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 14, นายนิมล หรือโจ รักดี จำเลยที่ 15, นายสุธี เชื่อมไธสง จำเลยที่ 16, นางสุนีย์ จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 17, นายกฤษณะ สุระมนต์ จำเลยที่ 18, นายสมยศ คุณจักร จำเลยที่ 19, บริษัท กีธา พร็อพเพอร์ตี้ส์ จำกัด หรือบริษัท สิราลัย จำกัด จำเลยที่ 20 และ น.ส.ธันยพร จันทร์สกุลพร จำเลยที่ 21 ทั้งหมดเป็นจำเลยในข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐหรือฮั้วประมูล พ.ศ.2542 มาตรา 4, 9, 10,12 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจโดยทุจริตสร้างความเสียหายแก่รัฐ และมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต สร้างความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4, 123 และ 123/1 อัตราโทษสูงสุดถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต การยื่นฟ้องครั้งนี้ทางอัยการยังขอให้ศาลสั่งปรับจำเลยทั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 35,274,611,007 บาท ซึ่งค่าปรับดังกล่าวคิดคำนวณจากมูลค่าครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 ตามสัญญาระบายข้าวกว่า 5 ล้านตัน รวมมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท ที่พบว่ามีการกระทำผิดสัญญา 4 ฉบับ จากสัญญาใน 8 ฉบับ โดย พ.ร.บ.ว่าด้วยการฮั้วประมูล มาตรา 4 กำหนดให้ปรับได้ร้อยละ 50 จากมูลค่าตามสัญญา ทั้งนี้ หลังจากยื่นฟ้องคดีแล้ว ศาลฎีกาฯได้รับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อม.25/2558 และนัดฟังคำสั่งว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ในวันที่ 20 เมษายน เวลา 10.00 น. ส่วนการรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าวทั้งหมด ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท ที่ ป.ป.ช.กำลังดำเนินการรวบรวมหลักฐานนั้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะดำเนินการต่อไป หาก ป.ป.ช.สรุปสำนวนส่งมาให้อัยการ หากจะมีการฟ้องคดีนี้ ก็จะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เนื่องจากเป็นความผิดฐานละเมิด โดยนายกฯในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ทางอัยการดำเนินการว่าความคดีให้ แต่ในกรณีดังกล่าวขึ้นอยู่กับทางคณะกรรมการสอบสวนคดีละเมิดว่าจะสรุปสำนวนส่งให้กับทางอัยการเมื่อใด และจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนเท่าใด ตามขั้นตอนนั้นต้นเรื่องอยู่ที่ ป.ป.ช. จากนั้นส่งเรื่องไปยังกระทรวงการคลัง ก่อนจะสรุปสำนวนส่งมายังอัยการเพื่อยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองต่อไป สุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน วันเดียวกันนี้เป็นการยื่นฟ้องเฉพาะสำนวนเท่านั้น เนื่องจากตัวจำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลตามที่นัดหมาย แต่ทางอัยการสามารถยื่นฟ้องได้ตามกฎหมายโดยระบุแหล่งที่อยู่ของจำเลยให้ชัดเจน ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 8 วรรค 2 สำหรับ ขั้นตอนหลังจากนี้ภายใน 14 วัน ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯจะนัดประชุมผู้พิพากษาศาลฎีกาเพื่อคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คน ในการนั่งพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว จากนั้นองค์คณะทั้ง 9 คน ก็จะประชุมภายในเพื่อเลือกองค์คณะเจ้าของสำนวนคดีจำนวน 1 ท่าน เพื่อพิจารณาคำฟ้องของอัยการสูงสุดว่าศาลจะมีคำสั่งประทับรับฟ้องคดีหรือไม่ ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวจำเลยยังไม่ต้องมารายงานตัวต่อศาลก็ได้ แต่หากศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว จะส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกไปให้จำเลยทั้งหมดรับทราบตามที่อยู่จริงของจำเลยที่ปรากฏในคำฟ้องว่ามีการฟ้องคดีเกิดขึ้น และให้จำเลยมาศาลในวันกำหนดนัดพิจารณาครั้งแรก ศาลจะอ่านคำฟ้องให้จำเลยรับทราบและสอบคำให้การจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธ ในวันนัดพิจารณาครั้งแรกนั้น จำเลยทั้งหมดจะต้องเดินทางมาศาลด้วยตัวเอง หากจำเลยไม่เดินทางมารายงานตัว ศาลจะพิจารณาเพื่อมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไป แต่หากจำเลยเดินทางมารายงานตัวต่อศาลในวันใด ศาลจะพิจารณาในเรื่องการปล่อยชั่วคราวในวันนั้นทันที @ คดีนี้มีพฤติการณ์เชื่อมโยงกับสำนวนคดีที่ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯหรือไม่ เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลแล้วจะมีการขอรวมสำนวนคดีหรือไม่ ในการพิจารณาคดีของศาลฎีกาฯนั้น จะต้องมีการคัดเลือกองค์คณะผู้พิพากษาจำนวน 9 คนก่อน ทั้ง 2 คดีมีการคัดเลือกองค์คณะคนละชุดกัน ซึ่งส่วนใหญ่องค์คณะจะไม่ซ้ำกัน ถึงแม้คดีนี้จะมีพยานเอกสารหลักฐานที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันก็ตาม โดยเริ่มตั้งแต่เริ่มต้นโครงการรับจำนำข้าว จนถึงขั้นตอนในการระบายข้าวของคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว โดยทาง ป.ป.ช.สอบสวนแล้วว่ามีความผิดตามกฎหมายฐานฮั้วประมูล คดีอาญา และ พ.ร.บ.ป.ป.ช. อัตราโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต และขอให้ปรับเป็นเงินกว่า 35,000 ล้านบาท ส่วนสำนวนคดีที่ฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ยื่นฟ้องความผิดเกี่ยวกับการฮั้วประมูล แต่เป็นความผิดกรณีที่ไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว เป็นคนละส่วนกัน แต่ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะพิจารณาให้มีการรวมสำนวนหรือไม่ อย่างไร @ คดีนี้เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงถึงจำคุกตลอดชีวิต จะมีการพิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้หรือไม่ หากจำเลยทั้ง 21 คน มารายงานตัวต่อศาลและได้เข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก การพิจารณาคดีในครั้งต่อไปแม้จำเลยจะไม่เดินทางมาเข้าร่วมการพิจารณา ศาลสามารถไต่สวนพยานลับหลังได้ แต่หากในวันพิจารณาคดีครั้งแรกจำเลยคนใดไม่ได้เดินทางมาศาล จะต้องจำหน่ายคดีของจำเลยบางคนออกจากสารบบไว้ก่อน และพิจารณาคดีเฉพาะจำเลยที่เดินทางมาในวันนัดพิจารณาคดีในครั้งแรก @ เนื่องจากคดีนี้มีพยานเอกสารเยอะมาก จะมีผลให้การพิจารณาคดีล่าช้าหรือไม่ หลังจากศาลนัดสอบคำให้การจำเลยแล้ว ขั้นตอนต่อไปศาลจะนัดตรวจพยานหลักฐาน ก่อนวันนัดตรวจพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองฝ่ายจะต้องยื่นพยานหลักฐานต่อศาล เพื่อให้คู่ความนำกลับไปศึกษา หากยอมรับพยานหลักฐานกันได้ในบางประเด็นอาจจะไม่ต้องมีการไต่สวนในประเด็นดังกล่าว เบื้องต้นทางอัยการเตรียมพยานบุคคลกว่า 100 ปาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำบัญชีพยาน และมีพยานปากสำคัญหลายปาก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ อย่างไรก็ตาม ระบบการไต่สวนของศาลฎีกาฯเป็นการไต่สวนแบบต่อเนื่อง คาดว่าคงใช้ระยะเวลาในการพิจารณาไม่ล่าช้า @ ในท้ายคำฟ้อง อัยการคัดค้านการปล่อยชั่วคราวหรือห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ ขณะนี้ข้อเท็จจริงยังไม่ปรากฏว่าจำเลยมีพฤติการณ์หลบหนีออกนอกประเทศ ทางอัยการจึงยังไม่ได้มีการคัดค้านการปล่อยชั่วคราว โดยในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรกนั้นหากศาลถามความเห็นอัยการในเรื่องการปล่อยชั่วคราว ทางอัยการจะพิจารณาข้อเท็จจริงในขณะนั้นอีกครั้งว่าจะคัดค้านการปล่อยชั่วคราวหรือกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศหรือไม่ต่อไป @ ในสำนวนนี้มีจำเลยถึง 21 คน เหตุใดอัยการจึงมีการพิจารณาสั่งคดีรวดเร็วกว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สำนวนคดีของนายบุญทรงมีความเชื่อมโยงกับสำนวนคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลไปแล้วก่อนหน้านี้ สำนวนคดีของนายบุญทรงนั้น ทางอัยการได้ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาจำนวน 7 คน และมีคณะทำงานจากทาง ป.ป.ช.เข้ามาร่วมพิจารณาด้วย หากอัยการมีข้อสงสัยตรงไหนสามารถสอบถามกับ ป.ป.ช.ได้โดยตรง แต่เมื่อคณะทำงานอัยการพิจารณาร่วมกันแล้วไม่พบข้อไม่สมบูรณ์ในคดีแต่อย่างใด ทางอัยการจึงมีคำสั่งฟ้องในสำนวนนี้ได้รวดเร็วกว่า |