- Details
- Category: อัยการ-สูงสุด
- Published: Monday, 15 September 2014 19:59
- Hits: 10533
รักชาติไทยด้วยใจ : อดทนถ้าอัยการสูงสุด (อสส.) ยังไม่สิ้นสงสัย คงต้องสงสัย อัยการสูงสุด
ไทยโพสต์ : ไทยทน : หลักความผิดคดีอาญา ไม่ต้องการให้ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ จึงกำหนดว่าต้องสอบสวนจน'สิ้นสงสัย'แต่ไม่ใช่จะเปิดช่องให้คิดแบบศรีธนญชัย คือหาคำอธิบายเล็กๆ ทำเป็นยังไม่สิ้นสงสัยและจะสั่งไม่ฟ้องคนทำผิดได้
กรณีใหญ่ๆ คือ การโกงโครงการจำนำข้าว ซึ่งเป็นการโกงชาติ โกงชาวนา ครั้งใหญ่ของประเทศ จนเชื่อว่าความเสียหายจะไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท (500,000,000,000 บาท) กำหนดราคาจำนำข้าว 15,000 บาท/ตัน สูงจนไม่มีพ่อค้าสามารถรับซื้อข้าวได้ ระบบกลไกการค้าขายล้มระนาว
แต่เพียงปีเดียวก็เริ่มออกลาย กระบวนการรับซื้อฉ้อฉล โกงตาชั่ง โกงความชื้น ชาวนาได้เงินไม่ครบจำนวน รับข้าวลม รับข้าวเวียนเทียน สีและเก็บด้วยพรรคพวก ไม่บำรุงรักษาข้าวจนสินค้าคงคลังเสียหายมหาศาล ระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐก็ปลอม ขายข้าวถุงราคาถูกก็ปลอม
ใช้เงินไปแล้วกว่า 500,000,000,000 บาท ชาวนากลับจนลง ใช้งบประมาณจนเงินคงคลังฝืดเคือง จนรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องเร่งออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อหวังคืนเงินโกงชาติพี่ชาย 46,000 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยแล้วอาจถึง 60,000 บาท แต่กลับเลือกที่จะค้างเงินค่าประทวนชาวนา แต่คืนเงินโกงชาติพี่ชายต้องมาก่อน
มันโกงกันเป็นกระบวนการ นายกฯ เองก็แถลงข่าวจีทูจี ทั้งๆ ที่ไม่มีจริง ตนเองเป็นผู้แถลงข่าวเรื่องขายข้าวจีทูจี ตอนที่ผู้นำจีนเยือนไทย แต่ข้าวไม่ได้ส่งไปต่างประเทศ และไม่มีการลงโทษไล่เบี้ยว่า เรื่องเท็จเช่นนี้ ขึ้นมาถึงตนให้แถลงออกไปในฐานะผู้นำประเทศไทยได้อย่างไร? ใครทำเรื่องเท็จขึ้นมา? แต่กลบเกลื่อนกันไป! แสดงว่าสมรู้ร่วมคิดกัน และการมีการแสดงว่า ติดตามการทุจริตกรณีเล็กๆ อยู่บ้าง แต่ไม่ตามเรื่องจีทูจีปลอมในกระบวนการบริหารงานนั้น ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่า นายกฯ รู้เห็นเป็นใจ และโดยอำนาจหน้าที่แล้วก็ดูจะเป็นผู้นำกระบวนการนี้เองอีกด้วย
ซึ่งถ้าอัยการสูงสุด (อสส.) คิดจะไม่สั่งฟ้องเพราะยังไม่สิ้นสงสัย คงต้องสงสัย อัยการสูงสุด (อสส.) เสียเอง โดยเมื่อวันที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา จากกรณีความคืบหน้าคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ฐานกระทำผิดต่อหน้าที่ไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาทนั้น ล่าสุด สำนักงานอัยการสูงสุด แถลงยังไม่สั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยให้ความเห็นว่าสำนวนยังไม่สมบูรณ์
ไม่นับว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะเป็นเวลานับ 10 ปีที่ผ่านมา ที่สำนักงานอัยการสูงสุด'ไม่เคย'สั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวชินวัตรในคดีสำคัญๆ เลย ทั้งๆ ที่มีหลักฐานอยู่ชัดเจน
ย้อนกลับไปดูอดีต อสส. ซึ่งควรเป็นทนายแผ่นดิน แต่ก็กลับทำหน้าที่แบบ'ทนายระบอบทักษิณ'สมัยปกปิดข้อมูลผู้ถือหุ้น บมจ.เอสซีแอสเสทฯ
เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้แถลงข่าวสั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีนางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ กรรมการบริษัท, นางบุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัทฯ, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา โดยได้อ้างถึงกระบวนการทำงานว่าเป็นไปตามเกณฑ์เข้าตลาดหลักทรัพย์ตามปกติ เป็นการปฏิบัติก่อนที่ประกาศ กจ. 28/2546 ซึ่งประกาศใช้วันที่ 16 พฤศจิกายน 2546 ซึ่งบริษัทได้ยื่นแบบ 69-1 และเสนอขายหุ้นเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2546 และยังพยายามอธิบายอีกว่า กองทุน OGF และกองทุน ODF เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ ผู้มีอำนาจกระทำการ คือ ผู้จัดการกองทุน ไม่ใช่ผู้ถือหน่วยลงทุน การอธิบายดังกล่าว สะท้อนการมิได้ทำหน้าที่ทนายของรัฐ แต่เป็นทนายระบอบทักษิณ หลายประการ ดังนี้
1.การอ้างถึงว่า การกระทำของกองทุน OGF และกองทุน ODF ผู้มีอำนาจกระทำการ คือ ผู้จัดการกองทุน ไม่ใช่ผู้ถือหน่วยลงทุน แทนที่จะปฏิเสธตรงๆ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ และภรรยาไม่ได้เป็นเจ้าของกองทุนเหล่านี้แต่อย่างใด แสดงว่าเป็นของครอบครัวชินวัตรจริง และ อสส.อุตส่าห์ช่วยอธิบายว่าเป็นการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุน ไม่ใช่ผู้ถือหน่วย
2.ในช่วงนั้นมีข้อมูลชัดเจนของ บริษัท โอเอไอ พร็อพเพอร์ตี้ ซึ่งปัจจุบัน คือ เอสซีแอสเสทฯ (SC) นั้น ในการเตรียมตัวเดินหน้าเข้าตลาดหลักทรัพย์นั้น มีการโอนหุ้น 2 ขั้น โดย บ.วินมาร์ค (กองทุนลับของ พ.ต.ท.ทักษิณ) ถือมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 และโอนหุ้นในวันที่ 11 สิงหาคม 2546 เป็น "แวลูอ์ แอสเสทส์ ฟันด์ แอลทีดี (VAF) มาเลเซีย" ซึ่งถือหุ้นเพียงประมาณ 3 สัปดาห์ก็ได้เปลี่ยนแปลงชื่อผู้ถือหุ้นอีกครั้งในวันที่ 28 สิงหาคม 2546 เป็นโอเวอร์ซีส์ โกล์ฟ ฟันด์ อินซ์ (OGF) และออฟชอร์ไดนามิค ฟันด์ อินซ์ (ODF) โดยที่กองทุนทั้ง 3 ที่เข้ามาถือในเดือนสิงหาคม 2546 มีที่อยู่เดียวกัน คือ L1, Lot7, Blk F, Saguking Commercial Bldg. Lalan Patau-Patau, 87000 Labuan Ft, Malysia แต่ อสส.กลับมองข้ามการปกปิดของครอบครัวชินวัตรไปอย่างจงใจ
3.ในการเปิดเผยข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่ ในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นเอสซีแอสเสทฯ ไม่ได้นับรวมกองทุน OGF และ ODF เป็นส่วนของครอบครัวชินวัตร และให้ข้อมูลเท็จว่า หลังการกระจายหุ้นแล้ว ครอบครัวชินวัตรไม่รวม 2 กองทุนถือเพียง 61% และย้ำว่ามีหุ้นไม่ถึง 3 ใน 4 (75%) แต่เมื่อรวม 2 กองทุนแล้ว จะเป็นหุ้น 79.87% จึงเป็นการปกปิดบิดเบือนข้อมูลอย่างชัดเจน
แต่ อสส.กลับช่วยเป็น'ทนายทักษิณ'อย่างน่ารังเกียจ โดยอ้างถึงว่า ทนายความของครอบครัวชินวัตรได้อธิบายว่าได้ดำเนินการเป็นไปตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต.ที่ กจ.44/2543 แต่หากยื่นภายหลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต.แก้ไขประกาศฯ ที่ กจ. 28/2546 ใช้บังคับแล้วต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2546 "ภายหลัง" จากที่บริษัท SC ได้ยื่นแบบ 69-1 และเสนอขายหุ้นเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546
แต่ในความจริง ประกาศฯ ที่ กจ. 44/2543 ที่ อสส.อ้างถึงก็ไม่ได้เปิดช่องให้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ แบ่งหุ้นไปถือภายใต้ชื่อผู้ถือหุ้นแทน หรือนอมินี และอนุญาตให้ปกปิดโครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวแต่อย่างใด การปกปิดการถือหุ้นดังกล่าว และการเปิดเผยข้อมูลเท็จว่าครอบครัวมีหุ้นรวมกันเพียง 61% แทนที่จะเป็นตามจริงที่ 80% นั้นเป็นการจงใจเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จผิดมาตรา 278 ของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ชัดเจนอยู่แล้ว แต่ อสส.กลับสั่งไม่ฟ้องผู้กระทำผิดดังกล่าว
อีกครั้งก็ทำหน้าที่'ทนายระบอบทักษิณ'สมัยปกปิดข้อมูลผู้ถือหุ้น บมจ.ชินคอร์ปฯ
ในเมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ตัดสินด้วยคะแนนเอกฉันท์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายพานทองแท้ ชินวัตร, น.ส.พินทองทา ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ในหุ้นชินคอร์ป เป็นการลงทุนแบบตัวแทนถือหุ้น(นอมินี) แทน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และภรรยา
หลักฐานชัดเจนเช่น การ 'ปลอมหนี้' 3 พันล้านบาท โดยที่ นางพจมาน ชินวัตร ขายหลักทรัพย์ของธนาคารทหารไทย คือ TMB และ TMB-C1 ให้ลูกด้วยมูลค่า 4.5 พันล้านบาท ทั้งๆ ที่แม่ซื้อมาเพียง 5 เดือนก่อนหน้านั้นในราคาเพียง 1.5 พันล้านบาท เอากำไรกับลูก 3 พันล้านบาท! ซึ่งเป็นการ"ปลอมหนี้" 3 พันล้านบาทเพื่อเป็นทางผ่านในการคืนปันผลหุ้นชินฯ ให้พ่อแม่
ดังนั้น ข้อมูลการถือหุ้นในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหลักทรัพย์กับประชาชนทั่วไป (PO) ก็ย่อมเป็นเท็จ แต่ดีเอสไอและ อสส. กลับมีพฤติกรรมเช่นเดิม คือ ไม่สั่งฟ้อง อ้างว่าตามมาตรา 56 (การเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดฯ) หมดอายุความใน 1 ปีบ้าง ทั้งๆ ที่มีความผิดตามมาตรา 65 (การเปิดเผยข้อมูลในการเสนอขายหลักทรัพย์) ด้วย และยังมีความผิดตามมาตรา 246 และ 247 อีก ที่มีการแจ้งรายงานเท็จต่อสำนักงาน กลต.อีกด้วยอย่างชัดเจน แต่ อสส.ก็ยังไม่สิ้นสงสัย จึงสั่งไม่ฟ้องเช่นเคย
คงต้องสรุปว่า ถ้าอัยการสูงสุด (อสส.) ยังไม่สิ้นสงสัย คงต้องสงสัยอัยการสูงสุด (อสส.) เสียเอง!.