- Details
- Category: อัยการ-สูงสุด
- Published: Wednesday, 03 September 2014 11:06
- Hits: 12358
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล : คำวินิจฉัยของศาลที่สั่นสะเทือนสังคมไทย
(มติชนรายวัน 3 กันยายน 2557)
สมลักษณ์ จัดกระบวนพล |
คำวินิจฉัยของศาลที่สั่นสะเทือนสังคมไทย โดย สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาลและหลักการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2557 เวลาประมาณ 09.30 น. ศาลอาญาได้อ่านคำวินิจฉัยประเด็นข้อกฎหมาย คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษเป็นโจทก์ฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ (เลขาธิการ กปปส.) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตผู้อำนายการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) จำเลยที่ 1 ที่ 2 ฐานผู้ร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำการหรือฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 83, 84 ทันทีที่คำวินิจฉัยถูกอ่านจบลงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเหมือนประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหว ผู้เขียนขอยืนยันในเรื่องนี้เพราะหลังเกิดการปฏิรูปประเทศไทยไม่มีนักข่าวโทรศัพท์มาขอสัมภาษณ์ผู้เขียนเหมือนก่อนมีการปฏิรูปแต่จากการที่ผู้เขียนต้องรับโทรศัพท์จากนักข่าวหลายสำนักเพื่อสอบถามปัญหาของคำวินิจฉัยคดีนี้สะท้อนให้เห็นว่าผลของคำวินิจฉัยนี้ก่อให้เกิดความสะเทือนต่อสังคมไทยโดยทั่วไปหลายๆวงการจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ผู้เขียนต้องเขียนบทความนี้เพื่อตอบสังคมแทนการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ นี่คือคำสัญญา ก่อนเขียนบทความนี้ต้องขอยืนยันด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลอาญา ซึ่งเป็นสถาบันศาลยุติธรรมที่ผู้เขียนใช้ชีวิตอยู่ถึง 36 ปี และขอถอดจิตวิญญาณของความเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรมและกรรมการ ป.ป.ช.ออกไป คงเหลือแต่จิตวิญญาณของอาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายและประชาชนคนไทยคนหนึ่งที่ไม่เคยมีอคติต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใดในหัวใจ สาระสำคัญของคำวินิจฉัยนี้โดยสรุปก็คือศาลเห็นว่า"การที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนจริงและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ชุมนุม เพื่อการผลักดันการชุมนุม หรือสลายการชุมนุมหรือกระชับพื้นที่ หรือขอคืนพื้นที่ตามที่โจทก์ฟ้องมานั้น ล้วนแต่เกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยทั้งสองในฐานะ นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ. ....................." หลังจากที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งสิ้น กรณีไม่ได้เป็นการกระทำโดยส่วนตัวหรือไม่ได้กระทำที่เกี่ยวข้องกับการปฎิบัติหน้าที่หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์ได้คัดค้าน............" เพื่อความเข้าใจง่ายของคนทั่วไปขออธิบายว่าศาลยกฟ้องคดีนี้โดยอ้างเรื่องเขตอำนาจของศาลซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาลนั้นนับเป็นเรื่องสำคัญในการฟ้องคดี ซึ่งมีบัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 17 ถึง มาตรา 23 ยกตัวอย่างเช่น ศาลแพ่ง มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ส่วนศาลอาญามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา การยกฟ้องหรือคำร้องเมื่อมีการนำคดีมาฟ้องหรือร้องผิดศาลเป็นอำนาจของศาลย่อมกระทำได้ แต่คำวินิจฉัยของศาลในคดีนี้น่าจะมีปัญหาดังต่อไปนี้ 1.การกระทำของจำเลยทั้งสองในคดีนี้แม้จะเป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ก็เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหลายบทเรื่องการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบทนั้นขอยกตัวอย่างเช่น จำเลยเข้าไปข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องนอน จำเลยมีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา และฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 และมาตรา 362 ซึ่งโจทก์จะต้องฟ้องให้ศาลลงโทษจำเลยทั้งมาตรา 276 และมาตรา 362 แม้จะเป็นการกระทำในครั้งเดียวกัน และหากฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องศาลก็จะลงโทษจำเลยโดยบทหนักที่สุดคือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 ฐานข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งเป็นไปตามหลักของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 เช่นเดียวกับความผิดของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ โจกท์ฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 83, 84 และมาตรา 157 เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยแม้จะเป็นกรรมเดียวแต่ก็ผิดกฎหมายหลายบท โดยสามารถแยกฟ้องความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 83, 84 ต่อศาลอาญาซึ่งมีเขตอำนาจ ส่วนความผิดตามมาตรา 157 โจทก์ (อัยการ) ก็มีอำนาจที่จะฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจอีกศาลหนึ่งและอยู่ในอำนาจไต่สวนของกรรมการ ป.ป.ช. 2.ที่ศาลอาญาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นถูกต้อง แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยตามมาตรา 157 ตามที่ศาลยกฟ้องในปัญหาข้อกฎหมาย แต่ฟ้องตามมาตรา 288, 83, 84 ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลอาญา เพียงแต่โจทก์อ้างในฟ้องถึงมูลเหตที่จำเลยทั้งสองมีคำสั่งดังกล่าวว่าเนื่องจากขณะนั้นจำเลยทั้งสองดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ศาลได้ทราบถึงที่มาที่ไปของคำสั่งเท่านั้น 3.หากศาลอาญาจะยกฟ้องในเรื่องคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายศาลอาญา ก็ควรจะอ้างเฉพาะข้อกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจาณาคดีของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 9(1) ซึ่งบัญญัติถึงเขตอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นต้น แต่ศาลอาญากลับไปวินิจฉัยในเนื้อหาของคดีว่า "ล้วนแต่เกิดจากการออกคำสั่งของจำเลยทั้งสองในฐานะรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี... โดยอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ทั้งสิ้น กรณีไม่ได้เป็นการกระทำโดยส่วนตัวหรือไม่ได้กระทำที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ หรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง..." มีความหมายว่าจำเลยออกคำสั่งตามหน้าที่ มิได้ปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่แต่อย่างใด ดังนี้ นอกจากศาลอาญาจะวินิจฉัยเรื่องอำนาจศาลแล้วยังก้าวล่วงไปวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยว่าไม่ผิดตามมาตรา 288 และเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในขอบอำนาจหน้าที่ไม่ผิดตามมาตรา 157 ด้วย (ก้าวล่วงเข้าไปในอำนาจของ ป.ป.ช. รวมทั้งอำนาจในการวินิจฉัยคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย) 4.การที่ศาลใช้อำนาจวินิจฉัยคดีเกินคำฟ้องโจทก์(โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา288, 83, 84) เป็นกรณีที่ไม่ปฏิบัติไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคแรกที่บัญญัติว่า "ห้ามมิให้พิพากษา หรือสั่ง เกินคำขอหรือที่มิได้กล่าว ในฟ้อง" (อัยการโจทก์ไม่ได้ขอให้ศาลลงโทษตามมาตรา 157 เพราะอัยการย่อมทราบดีว่ามาตรา 157 อยู่ในอำนาจไต่สวนของ ป.ป.ช.) 5.ศาลอาญายกฟ้องในเรื่องงอำนาจศาลอันเป็นข้อกฎหมาย แต่กลับก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในข้อเท็จจริงคดีทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงจากการนำสืบของโจทก์ จำเลยให้สิ้นกระแสความจึงอาจมีข้อผิดพลาดได้มากและผิดหลักการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีของศาล 6.องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญามาตรา288,83, 84 กับองค์ประกอบความผิดของมาตรา 157 นั้นต่างกัน ผลคำวินิจฉัยของศาลอาญาฉบับนี้ ทำให้ความผิดของจำเลยทั้งสองซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลอาญาไม่ได้รับคำวินิจฉัยอย่างรอบคอบถี่ถ้วน จากคำพยานโจทก์จำเลย แต่กลับไปวินิจฉัยข้อกฎหมายแล้วพิพากษายกฟ้อง ทั้งนี้ ขณะนี้ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ก็ยังอยู่ในกระบวนการไต่สวนของกรรมการ ป.ป.ช. หากไต่สวนแล้วกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าการะกระทำของผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองไม่เป็นความผิด ก็จะต้องมีมติให้คดีนี้ตกไป ความผิดตามมาตรา 157 ที่ศาลอาญาอ้างว่าอยู่ในอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ไม่มีโอกาสได้รับการพิจารณาพิพากษาโดยศาลฎีกาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่อย่างใด 7.หากเกิดกรณีตามข้อ 6 สังคมไทยคงต้องกังขาและสั่นสะเทือนโดยเฉพาะความหนาวสะท้านในหัวใจของพ่อแม่พี่น้องคนที่เสียชีวิต 99 ศพ เพราะคนตายเกือบร้อยคน จะพึ่งฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ได้ ฝ่ายบริหารก็ไม่มีทาง คงเหลือแต่ฝ่ายตุลาการ คือ ศาล แต่ศาลอาญา ท่านก็ว่าท่านก็ไม่มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ครั้นจะไปขอความเป็นธรรมจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีเขตอำนาจคดีก็อาจจะไปไม่ถึงศาลหากคณะกรรมการป.ป.ช.ได้ไต่สวนแล้วมีมติให้คดีตกไปคดีนี้ก็จะปิดฉากลง ทั้งๆ ที่คนตาย ก็คือ คนไทยด้วยกันและเขาเหล่านั้นก็หาใช่อาชญากรของแผ่นดินแต่อย่างใดและผู้ที่เป็นต้นเหตุให้เขาตายก็ใช้อำนาจที่มีอยู่สั่งประหารพวกเขาทั้งๆที่ไม่ใช่ศาลซึ่งเป็นสถาบันที่ใช้อำนาจตุลาการในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ความผิดที่อาจพอจะมองเห็นได้ก็คือเขาเหล่านั้นมีความคิดเห็นในทางการเมืองตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของผู้มีอำนาจในการบริหารประเทศในขณะนั้นเท่านั้นความผิดเพียงเท่านี้สมควรแล้วหรือที่เขาจะถูกพิพากษาประหารชีวิตโดยมิได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่พอครอบครัวของผู้ตายเดินเข้ามาขอความเป็นธรรมตามสิทธิที่พวกเขาพึงมีพึงได้ แต่ก็กลับถูกปฏิเสธ จึงเป็นเรื่องใหญ่เนื่องจากนอกจากคนตาย ซึ่งเป็นคนไทยแล้วยังมีชาวต่างประเทศถูกสังหารด้วย หากเรื่องนี้มิได้ถูกดำเนินการโดยกระบวนการยุติธรรมด้วยหลักนิติธรรมแล้วผลเสียหายก็จะบังเกิดแก่ประเทศชาตินี้อย่างใหญ่หลวงแต่ในความมืดมิดก็ได้ปรากฏการณ์มีแสงสว่างเกิดขึ้นเมื่อท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ใช้อำนาจของท่านตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา11วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และผู้พิพากษาหัวหน้าศาล ต้องรับผิดชอบในราชการของศาลให้เป็นไปโดยเรียบร้อย และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย (1) นั่งพิจารณาและพิพากษาคดีใดๆ ของศาลนั้น หรือเมื่อได้ตรวจสำนวนคดีใดแล้วมีอำนาจทำความเห็นแย้งได้......" ความเห็นแย้งของท่านอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา จึงน่าจะมีน้ำหนักที่ใช้ในการประกอบดุลพินิจของศาลสูงเมื่อมีการอุทธรณ์ฎีกาโดยพนักงานอัยการโจทก์ต่อไป |
อัยการ-ทนายเตรียมอุทธรณ์คดี 99 ศพ
.