- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 29 November 2017 15:08
- Hits: 4512
กสทช.เบรก ทีโอที-ดีแทคเปิด 4G คลื่น 2300 MHz รอผลบอร์ดชี้ขาดกลาง ธ.ค.
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคม ได้เรียกให้ผู้บริหาร บมจ.ทีโอทีเข้ามาหารือ หลังจากที่มติคณะกรรมการ กสทช.เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้สรุปอนุกรรมการกลั่นกรองฯ เรียกผู้บริหารของ บมจ.ทีโอที เข้ามาชี้แจงเมื่อวานนี้ (27 พ.ย.) ในประเด็นร่างสัญญาการอัพเกรดคลื่นความถี่ในย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์สำหรับเปิดให้บริการ 4จี แอลทีอี-ทีดีดี จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ ที่ทีโอที และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ก่อนที่จะมีการพิจารณาว่าจะอนุญาตให้ดำเนินการได้หรือไม่
ภายหลังการประชุม พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ทีโอทียังขาดข้อมูลด้านเทคนิคในเรื่องการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งหากจะให้บริการด้วยการโรมมิ่งก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และเป็นตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) อนุญาตไปก่อนหน้านี้ ดังนั้น จึงได้กำชับให้ทีโอทีประสานกับสำนักงานกสทช.ส่งข้อมูลการใช้งานความถี่ให้ทันภายในต้นเดือนธ.ค. จากนั้นจะช่วงกลางเดือนธ.ค.จะต้องสรุปความเห็นจากอนุกรรมการกลั่นกรองฯก่อนนำเข้าบอร์ดกสทช.
“เรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเองก็ยังไม่สรุปความเห็นมาเลยว่าทีโอทีและดีแทคสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่เราก็ต้องพิจารณาไปในส่วนความรับผิดชอบของเราไปก่อน ซึ่งหากลงมติผ่านทุกอย่าง ทางทีโอทีและดีแทคระบุว่าคงให้บริการได้ในเดือนม.ค.ปี 2561" พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ สำนักงาน กสทช.ได้สรุปจากอนุกรรมการกลั่นกรองฯในชั้นต้น ระบุว่ามีการใช้คลื่นความถี่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ของการอนุญาตไปก่อนหน้านี้ จึงให้ทีโอทีและดีแทค ไตรเน็ต ไปปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาคลื่นให้ตรงกับกฎหมายที่กสทช.กำหนดไว้ก่อน จากนั้นนำเข้าจะพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าทีโอทีและดีแทค ไตรเน็ตจะไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ทันในปีนี้ตามแผนงานเดิม
อย่างไรก็ดี จากการสอบถาม นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที ยืนยันว่า ทีโอทีได้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรา 46 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม และได้ส่งสัญญาดังกล่าวที่จะเซ็นร่วมกับดีแทค ไตรเน็ต ให้ กสทช.พิจารณาไปตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.60 ที่ผ่านมา แต่หากการเซ็นสัญญาล่าช้าออกไปอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายรายได้ของทีโอทีในปีนี้และต่อเนื่องไปถึงปี 61 โดยทีโอทีคาดว่าจะมีรายได้ปีละ 4,510 ล้านบาทจากการให้ดีแทคเข้าพัฒนาคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์
อินโฟเควสท์
กสทช.ลุยปลดล็อกคลื่น 2300
ไทยโพสต์ : พหลโยธิน * กสทช.เร่งหารือ ปลดล็อกคลื่น 2300 เมกะ เฮิรตซ์ ก่อนสรุปเข้าที่ประชุมบอร์ด 22 พ.ย.นี้ ย้ำชัดไม่เคยประวิงเวลา
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคม นาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้ากรณีการ พิจารณาร่างสัญญาการดำเนินงานคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่าง บมจ.ทีโอที กับ บ.ดีแทค ไตรเน็ต ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยขอยืนยันว่าสำนักงานไม่ได้ประวิงเวลาไว้ตามกระแส ข่าวที่ออกมา โดยวันที่ 20 พ.ย.2560 นี้ จะมีการประ ชุมคณะอนุกรรมการโทรคม นาคมเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว และถ้าสรุปผลได้แล้ว ก็จะนำเข้าเป็นวาระการประ ชุมคณะกรรมการ กสทช.ในวันที่ 22 พ.ย.2560 ต่อไป
ทั้งนี้ ต้องชี้แจงว่า การพิจารณาให้ความคิดเห็นในร่างสัญญาดังกล่าวต้องได้รับความเห็นชอบจากอีก 3 หน่วยงานคือ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎี สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรม การนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ดังนั้นหากเกิดความล่าช้า หรือ ไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่ทั้ง 2 บริษัทวางไว้ว่าจะเซ็นสัญญาภายในไตรมาส 4/2560 นี้ ก็คงไม่ใช่มาจาก กสทช.เพียงอย่างเดียว เพราะทุกกระบวนการพิจารณามีขั้นตอนชัดเจน
"ตนไม่สามารถบอกได้ว่า เรื่องนี้จะจบได้ภายในสิ้นปีนี้หรือไม่ เพราะการพิจารณาต้องใช้เวลา และต้องได้รับ ความเห็นชอบจากทั้ง 4 หน่วยงาน ซึ่ง กสทช.เองก็ไม่นิ่งนอนใจ เพราะรัฐบาล ทีโอที และหลายหน่วยงานต่างก็จับตา และเร่งให้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาบริการเพื่อประชาชน" เลขา กสทช.กล่าว.
กสทช.เรียก TOT แจงคู่ค้าคลื่น 2300 MHz จันทร์หน้าก่อนส่งเข้าบอร์ด,ยัน LINE Mobile ไม่ใช่ MVNO
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการก สทช.ได้พิจารณาการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ของบมจ.ทีโอที โดยอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคมยังมีข้อสงสัยหลายเรื่อง จึงมีความเห็นให้ทีโอทีเข้ามาชี้แจงในวันที่ 27 พ.ย.โดยทีโอทีต้องเตรียมเอกสารและข้อมูลมาชี้แจงเพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าจะใช้งานคลื่นความถี่อย่างไร หลังจากนั้นจะสรุปผลการพิจารณาเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกสทช.ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้
อนึ่ง ก่อนการประชุมคณะกรรมการในวันนี้ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจทีโอที จำนวนหนึ่งได้มายื่นเรื่องต่อกสทช.ให้พิจารณาการใช้งานคลื่นความถี่ 2300 MHz หลังเมื่อกลางปีนี้ทีโอทีได้คัดเลือกกลุ่ม บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค เป็นคู่ค้าในการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ 2300 MHz แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถลงนามในการเป็นคู่ค้าการให้บริการดังกล่าวได้
ขณะเดียวกัน เมื่อช่วงกลางปีนี้กลุ่มดีแทค ยังได้เปิดตัวการให้บริการใหม่ โดยซื้อสิทธิในการใช้ชื่อ LINE Mobile จากบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่ง LINE Mobile ที่ให้บริการโดยกลุ่มดีแทคนั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับการบริการ LINE Mobile ที่ประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือมีความเหมือนกันแค่ชื่อ LINE Mobile เท่านั้น ท่ามกลางการข้อสงสัยว่าการให้บริการดังกล่าว มีลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง (MVNO) ที่ต้องมีใบอนุญาตตามพ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 หรือไม่
นายฐากร กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมกสทช.ยังได้พิจารณารายงานตรวจสอบดำเนินการตรวจสอบการให้บริการ LINE Mobile ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ โดยอนุกรรมการกลั่นกรองด้านโทรคมนาคมเห็นชอบรายงานผลการศึกษา โดยเห็นว่าบริการดังกล่าวเป็นการให้บริการภายใต้เครือข่ายของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ไม่ได้ให้บริการ โดยบริษัท ไลน์ คอมพานี (ประเทศไทย) จึงถือว่ายังไม่เข้าข่ายเป็น MVNO
ดังนั้น คณะกรรมการจึงมอบหมายให้สำนักงานฯ ทำหนังสือแจ้งบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงการให้บริการ LINE Mobile ให้เป็นไปตามกกฎหมายและประกาศของกสทช. โดยให้การลงทะเบียนผู้ใช้บริการ (ซิมการ์ด) เป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานกระบวนการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้บริการ , การโอนย้ายเลขหมายสำหรับผู้ใช้บริการของบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ให้มีลักษณะเป็นการแลกเปลี่ยนแพ็คเกจภายในบริษัทเดียวกันไม่ใช่การย้ายค่ายเบอร์เดิม ,แก้ไขปรับปรุงพฤติกรรมการให้บริการเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจโดยชัดเจนว่าบริการ LINE Mobile เป็นบริการของกลุ่มดีแทค
หากยังไม่ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ดำเนินมาตรการบังคับทางปกครอง โดยมอบหมายให้สำนักงานฯ ติดตามและรายงานผลต่อคณะกรรมการ กสทช.เป็นระยะ และให้สำนักงานฯ ติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงในการให้บริการ LINE Mobile อย่างใกล้ชิดหากปรากฎข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าบริการเข้าข่าย MVNO ให้รายงานกสทช.ต่อไป
อินโฟเควส