- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 02 November 2017 12:38
- Hits: 5718
กสทช.จัดประมูลคลื่น 900/1800 MHz คาดแล้วเสร็จ มิ.ย.61 พร้อมเพิ่มค่าปรับเป็น 20% กรณีเบี้ยวใบอนุญาต
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยในงานแถลงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.61ว่า ได้ กำหนดราคาเริ่มต้นประมูลคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz 1 ชุด อายุ 15 ปี ราคาประมูลเริ่มต้น 37,988 ล้านบาท เคาะครั้งละ 76 ล้านบาท และคลื่น1800 MHz จำนวน 3 ชุดๆ ละ 15 MHz อายุ 15 ปี ราคาประมูลเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท เคาะเพิ่มครั้งละ 75 ล้านบาท โดยคาดกระบวนการประมูลแล้วเสร็จภายใน มิ.ย.61 พร้อมเพิ่มค่าปรับกรณีผู้ชนะเบี้ยวใบอนุญาตเป็น 20% ของราคาเริ่มต้น จากเดิม 5% ส่วน JAS สามารถเข้าร่วมประมูลได้ เหตุได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและชำระค่าปรับแล้ว รายละเอียดเพิ่มเติมดังนี้
กสทช. กำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ที่จะหมดสัญญาสัมปทาน 15 ก.ย.61 ที่ 37,988 ล้านบาท และ 37,457 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งเป็นคลื่นเดิมของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC
คาดกระบวนการทั้งหมดแล้วเสร็จภายใน มิ.ย.61 โดย 8 พ.ย.นี้ จะนำเสนอร่างรายประกาศการประมูลครั้งนี้ต่อคณะกรรมการ กสทช. หากไม่มีการแก้ไขรายละเอียดเพิ่มเติมคาดว่าจะประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษาได้ช่วงต้นปี 61 และการเริ่มประมูลจะมีขึ้นใน มี.ค.61 คาดกำหนดเคาะราคาในเดือน พ.ค.61 และให้ใบอนุญาต มิ.ย.61
สำหรับ รายละเอียดคลื่นความถี่ที่จะประมูลแบ่งเป็น คลื่น 890-895/935-940 MHz จำนวน 1 ชุด ชุดละ 2x5 MHz อายุสัมปทาน 15 ปี หลักประกัน 1,900 ล้านบาท (5% ของราคาเริ่มต้น) โดยกำหนดเคาะราคาประมูลครั้งละ 76 ล้านบาท
ส่วนคลื่น 1,740-1,785/1835-1880 MHz แบ่งเป็น 3 ชุด ชุดละ 2x15 MHz อายุสัมปทาน 15 ปี หลักประกัน 1,873 ล้านบาท (5% ของราคาเริ่มต้น) โดยกำหนดการเคาะราคาประมูลครั้งละ 75 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้ปรับเพิ่มค่าปรับ กรณีผู้ชนะประมูลไม่รับใบอนุญาตเป็น 20% ของราคาเริ่มต้น แบ่งเป็นค่าปรับต้องชำระ 15% และริบเงินประกัน 5% จากการประมูลครั้งก่อนที่กำหนดริบเงินประกัน 5% จากราคาเริ่มต้นเท่านั้น
“ครั้งนี้เรารัดกุมมากขึ้น จากบทเรียนในครั้งก่อน และไม่กังวลเรื่องการเบี้ยวใบอนุญาต เพราะครั้งนี้มีค่าปรับเพิ่มมาอีก 15% ของราคาเริ่มต้น รวมถึงริบเงินประกันอีก 5% ของราคาเริ่มต้นด้วย ซึ่งราคาเริ่มต้นของการประมูลครั้งนี้สูงถึง 3.7 หมื่นล้านบาท เทียบกับครั้งก่อนที่หมื่นกว่าล้านเท่านั้น ซึ่งหากมีการเบี้ยวต้องจ่ายค่าปรับรวมไม่ต่ำกว่า 7 พันล้านบาท”
อย่างไรก็ตาม บริษัท จัสมิน อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ซึ่งได้ผิดรับใบอนุญาตและไม่ชำระค่าประมูลในรอบก่อน สามารถเข้าร่วมประมูลในครั้งนี้ได้ เนื่องจากได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและชำระค่าปรับเรียบร้อยแล้ว
“ต้องยอมรับว่า กฎเกณฑ์ครั้งก่อนอ่อนเกินไป ก็ต้องให้เป็นไปตามนั้น ซึ่ง JAS ได้ชำระค่าปรับไปแล้ว โดยการประมูลรอบนี้หาก JAS มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดก็สามารถเข้าร่วมประมูลได้ แต่เราไม่กังวลว่าจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย เพราะกฎระเบียบเข้มข้นรัดกุมกว่าเดิม และค่าปรับก็สูงกว่าเดิมหลายเท่าตัว”
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย