WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

1AIกทปส

กทปส. พลักดันโครงการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชน เงินทุนสนับสนุน 3 หน่วยงานจาก 3 ภูมิภาค

    กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. หน่วยงานในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ สำนักงาน กสทช. มุ่งเดินหน้าส่งเสริมและสนับสนุนการ ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน โดยได้ผลักดันให้เกิดการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์เพื่อชุมชน จากทั้ง 3 ภูมิภาค หวังให้เกิดการกระจายงานด้านระบบการสื่อสาร พัฒนาระบบดิจิตอลในระดับท้องถิ่น และสร้างงานภายในชุมชนอย่างยั่งยืน

       นายนิพนธ์ จงวิชิต รักษาการผู้อำนวยการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ กล่าวว่ายุคของสื่อกระแสหลัก ที่ใช้รูปแบบอุตสาหกรรม และการทำงานครอบคลุมทั้งประเทศ ไม่ตอบโจทย์ กับชุมชนอย่างที่ควรจะเป็น ประกอบกับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง ทำให้การพัฒนาด้านการสื่อสารชุมชน มีบทบาทมากขึ้น อีกทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีมีการก้าวกระโดดอย่างสูง โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ที่เอื้อให้การเข้าถึงสื่อมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้นโทรทัศน์ระบบดิจิตอล ในประเภทบริการชุมชน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงต้องมีการสร้าง ร่างแบบแนวคิดกันขึ้นมา

      แนวคิดในการจัดทำโครงการต้นแบบทีวีชุมชน ที่เกิดขึ้นแล้วใน 3 พื้นที่ คือ มูลนิธิสื่อสร้างสุข (จังหวัดอุบลราชธานี) พะเยาทีวีชุมชน (สมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา) และโครงการทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง (มูลนิธิรักษ์ไทย) ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวในการออกแบบทีวีชุมชนที่มีพื้นฐานจากท้องถิ่น สามารถผลิตผลงานด้วยตัวของชุมชนเอง ก่อให้เกิดโมเดลทีวีชุมชนที่หลากหลาย สามารถนาเอาจุดดีของแต่ละที่มาเชื่อมประสานกันได้ โครงการต้นแบบโทรทัศน์ชุมชนถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของ กสทช. โดยผ่านกลไกกองทุนฯ ที่ต้องการผลักดันการให้มีบริการโทรทัศน์ชุมชนในประเทศซึ่งถือเป็นหน้าที่ของ กสทช.

     นายสุชัย เจริญมุขยนันท เลขาธิการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ผู้ได้รับการสนับสนุน โครงการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชนจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า ทีวีชุมชนในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการกระจายเสียงของประชาชนในพื้นที่ และต้องการเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยเนื้อหาหลักที่ออกอากาศจะเป็นเนื้อหาที่ได้จากการสำรวจของประชาชน อาทิ ข่าวท้องถิ่น ราคาพืชผล พยากรณ์อากาศ ข่าวอุบัติเหตุ การ์ตูน เพลง เป็นต้น ช่องทางในการออกอากาศ คือ วีเคเบิ้ลทีวี, ทีวีออนไลน์, Facebook Live หรือ Youtube ซึ่งอนาคตกำลังวางแผนเจรจากับ ThaiPBS และ NBT ในการออกอากาศทางทีวีดิจิตอลภาคพื้นที่

      ไม่เพียงเท่านั้นปัจจุบันได้มีการต่อยอดสร้างความยั่งยืนให้กับสถานีต้นแบบ คือ การรับบริจาคจากประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ การส่งเสริมการขายสินค้าชุมชนในรูปแบบ E-Commerce เป็นต้น ซึ่งแนวคิดทั้งหมดหวังให้เกิดการส่งเสริมการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น สร้างระบบการสื่อสารที่ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ และพัฒนาเพื่อยกระดับจังหวัดให้เกิดการพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่างานด้านระบบทีวีชุมชน

      นายชัยวัฒน์ จันธิมา สมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา ผู้ได้รับการสนับสนุน โครงการวิจัยและพัฒนาสถานีโทรทัศน์ชุมชน "พะเยาทีวี" กล่าวว่า โทรทัศน์ชุมชนยังเป็นเรื่องใหม่และท้าทายสำหรับประเทศไทย ซึ่งยังขาดองค์ความรู้ความเข้าใจที่ในการประกอบกิจการ รวมถึงกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับเครือข่ายและประชาชนในพื้นที่ในการรับมือกับสิทธิเสรีภาพการแสดงออก สมาคมสื่อชุมชนจังหวัดพะเยา

      จึงมีมติร่วมกันที่จะสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชน’พะเยาทีวี’ ขึ้น เพื่อทดลองปฏิบัติการจริงและใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการ โดยจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก รูปแบบรายการที่นำเสนอส่วนใหญ่จะเน้นในส่วนของการรายงานข่าวภายในท้องถิ่น ข่าวการศึกษา ศาสนาวัฒนธรรม อาชีพชุมชน สิ่งแวดล้อม รายการสนทนา และรายการถ่ายทอดสดชุมชน เป็นต้น ซึ่งจะเน้นให้ประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น ส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายชุมชน อาทิ เครือข่ายภาครัฐ จิตอาสา เยาวชน รวมเครือข่ายประชาชน เป็นต้น เพื่อสร้างพื้นฐานยกระดับคุณภาพชุมชนให้มีบทบาท และสนับสนุนการเป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจ ความคิดสร้างสรรค์ เกิดการรักถิ่นฐาน กลับมาพัฒนาพื้นที่ในอนาคต

     นายประสาร สถานสถิตย์ มูลนิธิรักษ์ไทย ผู้ได้รับการสนับสนุน โครงการทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง กล่าวว่า ที่ผ่านมาโครงการได้เริ่มสนับสนุนให้ชุมชนร่วมคิดร่วมทำ เสริมทักษะการสื่อสารในรูปแบบ Mobile Journalist (Mojo) และ Backpack Journalist เพื่อให้ชุมชนสามารถผลิตสื่อด้วยตนเอง เกิดความคล่องตัวในการทำงาน และสามารถผลิตสื่อที่เป็นความต้องการของชุมชน เข้าถึงวิถีชุมชน และวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมทั้งเสริมทักษะกระบวนการผลิตสื่อ ปลูกฝั่งด้านจริยธธรรม จรรยาบรรณของการเป็นสื่อ ให้ความรู้ในรูปแบบของนิเทศศาสตร์ชุมชน มุ่งหวังให้เกิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในจังหวัดพังงา กระบี่ และภูเก็ต ให้สอดคล้องกับบริบทชุมชนท้องถิ่นอันดามัน พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพของชุมชน เน้นการสื่อสารให้ความรู้เรื่องภัยพิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในพื้นที่อันดามัน

     อีกทั้ง สามารถสร้างฐานเครือข่ายการจัดการด้านภัยพิบัติ สามารถติดตามสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงได้อย่างใกล้ชิด และส่งเสริมให้ประชาชนสามารถคุ้มครอง ป้องกัน สร้างระบบชุมชนเข้มแข็ง อันเป็นการจัดการทรัพยากรของชุมชน สร้างวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ซึ่งเราต้องการให้เกิดแนวคิดในการเปลี่ยนจากชาวชุมชนอันดามันให้ทุกคนกลายเป็นสื่อ เช่น ประชาชนสามารถรายงานข่าวสภาพอากาศได้ตลอดเวลาผ่านเครือข่าย Facebook Live เป็นต้น และเชื่อว่าต่อไปชุมชนจะรู้จักรักบ้านเกิดและพยายามพัฒนายกระดับชุมชนของตัวเองให้ดีขึ้นได้แน่นอน

       ดังนั้น โครงการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ถือเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีดิจิตอลที่จะเข้าถึงชุมชนมากขึ้น จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาในเชิงสังคม เกิดการพัฒนาในชุมชน ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และสร้างพลังของชุมชนให้มีสิทธิ์มีเสียงในสังคมมากขึ้น อีกทั้งชุมชนได้รู้สิทธิของตนเอง ที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้คนกลุ่มต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่นเริ่มตระหนักถึงความจำเป็นของการรับข่าวสาร เพื่อบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนผ่านสื่อโทรทัศน์ เนื่องจากโทรทัศน์ชุมชนยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย องค์กรต่างๆ กลุ่มคนและประชาชนที่มีความสนใจในการขออนุญาตประกอบกิจการและเป็นการปูพื้นฐานในการสร้างโมเดลในระดับชุมชน ซึ่งการพัฒนาต้นแบบสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการชุมชน เพื่อเป็นสถานีโทรทัศน์ชุมชนต้นแบบในแต่ละภูมิภาค

     โดยทั้ง 3 โครงการเป็นต้นแบบของการพัฒนาระบบโทรทัศน์ชุมชน ยุทธศาสตร์สำคัญของ กสทช. ผ่านกลไกจากกองทุนฯ ที่ต้องการผลักดันการให้มีบริการโทรทัศน์ชุมชนในประเทศ อันเป็นหน้าที่ของ กสทช. ตามกฎหมาย และสิทธิเสรีภาพของประชาชน โครงการการมอบทุนในครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งก้าวในการพัฒนางานด้านวงการสื่อในประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแน่นอน

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!