- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 07 September 2017 07:41
- Hits: 6172
บอร์ดกสทช. เห็นชอบลดค่าธรรมเนียมไลเซนส์กิจการโทรคมนาคมแบบขั้นบันได พร้อมลดค่าธรรมเนียมรายปีให้สปริงนิวส์ 15%
กสทช. เห็นชอบแนวทางการลดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม พร้อมทั้งลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีให้ช่อง สปริงนิวส์ 15% ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่ต้องชำระ และช่องอื่นๆ ที่มีสัดส่วนรายการเข้าตามเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด สามารถยื่นขอลดหย่อนได้ พร้อมเห็นชอบผลการประกวดราคาโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ จำนวน 8 สัญญา ที่จัดไปเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค.ที่ผ่านมา
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (6 ก.ย. 2560) ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบแนวทางการทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นอัตราใหม่ที่มีการปรับลดจากอัตราเดิมเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการจัดเก็บตามอัตราขั้นบันไดของรายได้ ดังนี้
รายได้ 0-100 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.125 (จากเดิมเก็บร้อยละ 0.25)
รายได้เกิน 100-500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.25 (จากเดิมเก็บร้อยละ 0.5)
รายได้เกิน 500-1,000 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.5 (จากเดิมเก็บร้อยละ 1.0)
รายได้เกิน 1,000-5,000 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียม ร้อยละ 0.75 (จากเดิมรายได้เกิน 1,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราค่าธรรมเนียม ร้อยละ 1.5) และรายได้เกิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป คิดอัตราค่าธรรมเนียม ร้อยละ 1.5
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. หวังว่าอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ที่จัดเก็บจะส่งผลให้ประชาชนได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตในราคาที่ถูกลง พร้อมทั้งเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป รวมถึงให้สำนักงาน กสทช. ไปพิจารณาทบทวนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันด้วยเช่นกัน
จากนั้น ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบการลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของช่องสปริงนิวส์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ได้แก่ ใบอนุญาตกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตบริการธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ รอบบัญชี 2558 ในอัตราลดหย่อน ร้อยละ 15 ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตที่พึงชำระ โดยสำนักงาน กสทช. ได้ตรวจสอบและวิเคราะห์แล้วพบว่าสำหรับใบอนุญาตกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ช่องสปริงนิวส์ มีการนำเสนอเนื้อหารายการในสัดส่วนที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตลอดทั้งปี จำนวน 61.87% และสำหรับใบอนุญาตบริการธุรกิจระดับชาติ หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ ช่องสปริงนิวส์ ก็มีการนำเสนอเนื้อหารายการในสัดส่วนที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตลอดทั้งปี จำนวน 61.87% เช่นกัน ซึ่งเป็นการนำเสนอเนื้อหาสาระที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสาร หรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนตลอดทั้งปี เกินกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 90 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2556 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์สำหรับให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สามารถขอลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในแต่ละปีได้ตามอัตรา หลักเกณฑ์ และวิธีการตามระเบียบ
สำหรับ กิจการที่ต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ (ประเภทบริการทางธุรกิจ) ที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตลอดทั้งปี เกินกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 90 สามารถขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตราร้อยละ 15 ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่พึงชำระ กรณีที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตลอดทั้งปี เกินกว่าร้อยละ 90 สามารถขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตราร้อยละ 50 ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่พึงชำระ
สำหรับ กิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ซึ่งไม่ต้องขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตลอดทั้งปี เกินกว่าร้อยละ 50 แต่ไม่เกินร้อยละ 90 สามารถขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตราร้อยละ 15 ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่พึงชำระ กรณีที่มีสัดส่วนรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตลอดทั้งปี เกินกว่าร้อยละ 90 สามารถขอลดหย่อนค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีในอัตราร้อยละ 75 ของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่พึงชำระ ส่วนช่องอื่น ๆ ที่มีการนำเสนอเนื้อหา สัดส่วนรายการเข้าระเบียบก็สามารถยื่นขอลดหย่อนค่าทำเนียมรายปีได้เช่นกัน
นอกจากนั้นที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาข้อสังเกตของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และรายงานจากเลขาธิการ กสทช. ที่เข้าประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งพิจารณาเรื่องโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) 3,920 หมู่บ้าน จำนวน 8 สัญญา โดยเห็นชอบผลการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1-2 ส.ค. 2560 วงเงินงบประมาณรวม 13,614.62 ล้านบาท ประกวดราคาในวงเงินรวม 12,989.69 ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ 624.93 ล้านบาท และให้สำนักงาน กสทช. ร่างหนังสือตอบข้อซักถามของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก่อน แล้วจึงดำเนินการเรื่องการลงนามในสัญญาต่อไป
โดยสำหรับสัญญาแต่ละสัญญามีผู้ชนะการประกวดราคา ดังนี้
1. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,812,014,000 บาท
2. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,103,800,000 บาท
3. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 2,492,599,999 บาท
4. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 1 ให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet Service) ได้แก่ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,868,235,000 บาท
5. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 1 (ภาคเหนือ 1) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัท ทีโอทีจำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 1,889,999,927 บาท
6. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 2 (ภาคเหนือ 2) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 786,549,600 บาท
7. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 3 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 532,064,800 บาท
8. โครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ หมู่บ้านในพื้นที่ชายขอบ (Zone C+) กลุ่มที่ 4 (ภาคกลาง-ใต้) และกลุ่มที่ 5 (3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวม 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา) ส่วนที่ 2 การจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Service) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ชนะการประกวดราคาโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในวงเงินรวม 504,423,740 บาท
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย