- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 28 July 2014 19:57
- Hits: 3030
ประชาชน และผู้ประกอบการ หนุนใช้ระบบ 2G กสทช.ย้ำแก้กม.พ.ร.บ.คลื่นความถี่ประโยชน์ประชาชนต้องมาก่อน
บ้านเมือง : ทันทีที่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ฉบับที่ 94/2557 ที่ระบุให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่กิจการโทรคมนาคม ออกไปอีก 1 ปี พร้อมขยายระยะเวลาการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 2 G บนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการยืนยันว่า จะไม่เกิดปัญหาซิมดับอย่างแน่นอน หลังครบกำหนดเวลาคุ้มครองเดิมในวันที่ 15 กันยายนนี้ ทำให้ผู้ใช้บริการระบบ 2G ต่างรู้สึกพอใจไม่ต้องรีบย้ายเครือข่าย เนื่องจากผู้ใช้บริการจำนวนมากยังคงต้องการใช้บริการระบบ 2G โดยเฉพาะผู้ที่ใช้งานเพียงโทร.เข้า หรือโทร.ออก อย่างเช่น ผู้สูงอายุ และผู้ใช้บริการในต่างจังหวัด ยังคงใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2จี อยู่เป็นจำนวนมาก
นายสมเพียร โฉมงาน อาชีพขี่จักรยานยนต์รับจ้าง น.ส.ทัศนี แก้ววิชิต แม่ค้าผลไม้ // นาย สมสุข เกิดกล่อม อาชีพจำหน่ายเครื่องดื่ม และ น.ส.สมฤทัย ยิ้มแย้ม แม่ค้าขายไข่ปลาหมึกทอด บอกตรงกันว่า ทุกวันนี้ใช้โทรศัพท์มือถือ เพื่อติดต่อสื่อสารไถ่ถามสารทุกข์ดิบกับญาติที่อยู่ต่างจังหวัด หรือ สั่งของซื้อของเท่านั้น ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องใช้อินเตอร์เน็ตเหมือนกลุ่มวัยรุ่น หรือกลุ่มคนทำงาน
ทั้งนี้ ตามแผนการประมูลคลื่นความถี่กิจการโทรคมนาคม ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในปีนี้ ประกอบด้วย การประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในเดือนสิงหาคม โดยข้อมูลล่าสุด พบว่า ยังมีผู้ใช้บริการ 2G บนคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่ยังไม่ย้ายเครือข่าย หรือ ย้ายค่าย กว่า 4 ล้านเลขหมาย หากเกิดปัญหาซิมดับผู้ใช้กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่ง กสทช.มีแผนเปิดประมูลในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ อายุสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2558
คลื่น 1800 MHz. ที่ให้บริการ 2g อยู่ก่อนหน้านี้กว่า 18 ล้านเลขหมาย ได้หมดอายุสัมปทานลง เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 แต่กลุ่มนี้ยังใช้บริการได้อีก 1 ปี จากมาตรการเยียวยาของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจกรรมโทรคมนาคม แห่งชาติ หรือ กสทช. ที่ให้เวลาผู้ให้บริการโอนย้ายลูกค้าไปยังเครือข่าย อื่นๆ หรือ ระบบ 3จี หรือ 4จี ซึ่งขณะนี้ยังเหลือลูกค้าในระบบกว่า 4 ล้านหมายเลข แม้จะเร่งโอนย้ายก็ไม่ทันตามระยะเวลาเยียวยา ที่หมดลงในวันที่ 15 กันยายน 2557 ซึ่งผลที่ตามมาจะเกิดปัญหาซิมดับหรือไม่สามารถใช้งานได้
การที่ คสช. มีคำสั่งให้เลื่อนระยะเวลาการประมูลคลื่น 1,800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกไปอีก 1 ปี พร้อมขยายเวลาการคุ้มครองผู้ใช้บริการออกไปจนกว่าจะมีการจัดสรรคลื่นใหม่ นอกจากผู้ใช้บริการระบบ 2G ต่างรู้สึกพอใจ ในมุมของผู้ให้บริการยังออกมาขานรับถึงกรอบระยะเวลาการประมูลที่ชัดเจน
โดยท่าทีของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ ทั้ง เอไอเอส ดีแทค และกลุ่มทรู ต่างตอบรับคำสั่งระงับการประมูลคลื่น โดย เอไอเอส ได้ออกแถลงการณ์ เห็นด้วยกับกรอบระยะเวลาที่ชัดเจนในการประมูล และมองว่า การเลื่อนประมูลในครั้งนี้ น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะ จะได้มีโอกาสพัฒนาระบบอุปกรณ์รุ่นใหม่ๆ เพื่อรองรับการให้บริการในอนาคต
เช่นเดียวกับ นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า คำสั่งของ คสช. ทำให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องระยะเวลาการประมูล และลูกค้าในระบบ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ไม่ต้องกังวลกับปัญหาซิมดับ เพราะขยายระยะเวลาคุ้มครองออกไปจนกว่าจะมีการประมูล หรือจัดสรรคลื่นความถี่แล้วเสร็จ อีกทั้ง ยังเป็นเรื่องที่ดีมาก กรณีที่เปิดทางให้ กสทช.ปรับปรุงกฎหมาย ให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปิดเสรีอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย
สอดคล้องกับ นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าผู้บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือ ดีแทค กล่าวว่า คำสั่งให้เลื่อนการประมูลออกไป 1 ปี ไม่ส่งผลกระทบต่อการให้บริการ โดยเชื่อว่าการประมูลยังเป็นทางออกให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคม ดังนั้น ภาคเอกชนจึงต้องการให้เกิดการจัดสรรประมูลคลื่นความถี่ในอนาคต เพื่อเป็นการวางแผนการลงทุนในระยะยาว
ปัจจุบันหมายเลขโทรศัพท์ในประเทศไทย ที่ทาง กสทช.สำรวจล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีอยู่กว่า 93 ล้านเลขหมาย เป็นระบบ 2จี กว่า 50 ล้านเลขหมาย ระบบ 3g และ 4g กว่า 43 ล้านเลขหมาย ซึ่งเมื่อดูตัวเลขผู้ใช้งาน 2g ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องมีมาตรการมารองรับให้สามารถใช้งานระบบ 2จี ได้อย่างต่อเนื่องต่อไป
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า จากคำสั่งดังกล่าว ทำให้ระยะเวลาในการเยียวยาผู้บริโภค ขยายออกไปจนกว่าจะมีการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่แล้วเสร็จ ดังนั้น ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คลื่นความถี่ 1800 MHz มั่นใจได้ว่า จะสามารถใช้บริการโทรศัพท์ได้อย่างต่อเนื่อง ไม่จำเป็นต้องรีบย้ายค่าย
พร้อมกันนี้ กสทช. จะรีบดำเนินการแก้ไข กฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ ตามคำสั่ง กสทช. โดยเฉพาะพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พุทธศักราช 2553 มาตรา 45 ที่ระบุว่า ผู้ใดประสงค์จะใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องใช้วิธีการประมูลเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นที่ต้องแก้ไข เพื่อรองรับการดำเนินการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า การประมูลที่เน้นเรื่องตัวเงินเป็นหลัก โดยไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ที่ประชาชน และประเทศชาติจะได้รับ ซึ่งท้ายที่สุดภาระหนักตกอยู่ที่ประชาชน
นายรุจิระ บุนนาค นักวิชาการด้านโทรคมนาคมมองว่า มีหลายประเทศที่ใช้วิธีประมูลแล้วไม่ประสบความสำเร็จ มีรายได้จากการประมูลสูง แต่เอกชนกลับขาดทุนจนต้องปิดกิจการ ขณะที่ประชาชนต้องจ่ายค่าบริการในอัตราสูง แต่หากเป็นการแข่งขันกันเสนอผลประโยชน์ หรือบิวตี้ คอนเทสต์ ประโยชน์สูงสุดจะตกอยู่ที่ประชาชนเป็นหลัก
โดยเชื่อว่า หากมีการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคม พุทธศักราช 2553 มาตรา 45 เน้นให้การประมูลคำนึงถึงเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม ให้ความสำคัญประชาชนที่ต้องได้รับบริการอย่างเต็มที่ รวมถึงค่าบริการราคาสมเหตุสมผล เชื่อว่าจะทำให้ผลประโยชน์สูงสุดตกกับประชาชนและ ประเทศชาติอย่างเต็มที่ นั่นคือความสุขของประชาชนอย่างแท้จริง