- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 13 April 2016 15:43
- Hits: 5444
คสช.มีคำสั่งประมูลใหม่คลื่น 900 MHz วันที่ 27 พ.ค.59 พร้อมคุ้มครองซิม 2G ต่อไปจนถึง 30 มิ.ย.59
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม โดยให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900MHz ช่วงความถี่วิทยุ 895 - 905 MHz คู่กับ 940 - 950 MHz เพื่อการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวสำหรับกิจการโทรคมนาคมในวันที่ 27 พ.ค.59
ทั้งนี้ กสทช. ต้องเปิดโอกาสให้แก่ผู้ขอรับใบอนุญาตเป็นการทั่วไปเว้นแต่ผู้ที่เคยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. โดยกำหนดราคาประมูลในรอบแรกไว้ที่ 75,658 ล้านบาทและต้องวางหลักประกันการประมูลเป็นจำนวน 3,783 ล้านบาท ในกรณีมีความจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐและประชาชน หรือเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม
นอกจากนั้น ยังให้ใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ กสทช.ออกให้แก่ผู้รับใบอนุญาตตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 895 - 905 MHz คู่กับ 940 - 950MHz มีผลใช้บังคับต่อไปและให้มีอายุใบอนุญาตสิ้นสุดลงพร้อมกับใบอนุญาตที่ กสทช. จะออกให้แก่ผู้ชนะการประมูลตามคำสั่งนี้
และเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้ใช้บริการด้านโทรคมนาคมที่จะได้รับผลกระทบอันเกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ที่ต้องดำเนินการขึ้นใหม่ ให้ กสทช. คุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประโยชน์และใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ปราศจากข้อจำกัด โดยให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประกาศ กสทช.เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 ซึ่งมีการแก้ไขเพิ่มเติม ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย.59 หรือจนกว่า กสทช. จะได้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ให้แก่ผู้ชนะการประมูล แล้วแต่กรณีใดถึงกำหนดก่อน
อย่างไรก็ตาม การประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมตามคำสั่งนี้ ไม่เป็นการตัดสิทธิของหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าใช้จ่ายอื่นอันเกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 895 - 915 MHz/ 940 - 960 MHz
กสทช.แย้ม ADVANC ยอมเจรจาโรมมิ่งคลื่น 900 MHz ของ TRUE เปิดทางออก ม.44 ขยายเวลาซิมดับ
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์เช้านี้ว่า ขณะนี้มีความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะมีข้อตกลงเพื่อแก้ไขปัญหาซิม 2G คลื่น 900 MHz ดับ ซึ่งจะทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถมีคำสั่งภายใต้มาตรา 44 ในการจัดประมูลใหม่คลื่น 900 MHz รวมไปถึงการขยายเวลาซิมดับไปพร้อมกัน ซึ่งคาดว่าอาจจะมีคำสั่งออกมาภายในวันนี้ที่เป็นวันทำการสุดท้ายก่อนถึงกำหนดซิมดับในวันที่ 14 เม.ย.
จากหารือร่วมกับผู้ประกอบการถึงทางเลือกในการแก้ไขปัญหาเริ่มมีการยินยอมร่วมกันว่าหากมีการขยายเวลาซิมดับออกไป จะต้องมีเงื่อนไขทางธุรกิจบางอย่างที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่เสียเปรียบ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่ให้ความเป็นธรรมกับ TRUE คือหากเอไอเอสสามารถใช้คลื่น 900 MHz ก็ต้องจ่ายค่าต้นทุนคลื่น ไม่เช่นนั้นเท่ากับ TRUE เสียเงินกว่า 400 ล้านบาท/เดือน แต่อีกฝ่ายไม่ต้องจ่าย
ดังนั้น ขณะนี้ทาง บมจ.แอดวาน อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) อยู่ระหว่างการเจรจาโอกาสในการทำสัญญาโรมมิ่งเพื่อรองรับลูกค้าที่ถือเครื่องโทรศัพท์ 2G ที่ยังไม่ได้ย้ายไปอีกราว 7 ล้านราย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้งานได้อย่างไม่สะดุดจริง ๆ เมื่อเทียบกับการทำสัญญาโรมมิ่งกับคลื่น 1800 MHz ของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC)
"อยู่ระหว่างเจรจาความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ปัญหาที่มีข้อติดขัดก่อนหน้านี้น่าจะเป็นเรื่องของ capacity แต่คงไม่ได้บังคับให้โรมมิ่งทั้ง 7 ล้านราย อาจจะเจรจาโรมมิ่งแค่ 5 แสน 1 ล้าน หรือ 3 แสนก็แล้วแต่ กำลังเจรจากันอยู่ มีความเป็นไปได้ว่าจะมีสัญญาระหว่างเอไอเอสกับทรูจะเกิดขึ้นแต่ไม่ได้ครอบคลุมทั้ง 100%"นพ.ประวิทย์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม อีกทางเลือกหนึ่งของการแก้ไขปัญหา คือ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของศาลปกครองหลังจากทางเอไอเอสยื่นคำร้องขอทุเลากำหนดซิมดับอีกรอบ ซึ่งศาลไต่สวนเสร็จตั้งแต่เมื่อวาน แต่หากมีการออกคำสั่ง ม.44 เพื่อแก้ไขปัญหานี้ได้ก่อน กสทช.ก็จะนำความไปเรียนต่อศาลเพื่อขอจำหน่ายคดีออกไป
"ณ วันนี้ถ้าเอกชนคุยกันลงตัวก็มีความเป็นได้สูงที่จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการขยายเวลาซิมดับอยู่ในคำสั่ง ม.44 ในคราวเดียวกัน เราก็จะนำความไปเรียนศาล ทางทำเนียบฯเองเป็นเพียงผู้ออกคำสั่ง เพียงแต่ต้องเกิดความเป็นธรรมในตลาด ต้องไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์ และทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ด้วย ต้องเคลียร์ให้จบก่อน คาดว่าจะประกาศในวันนี้" นพ.ประวิทย์ กล่าว
นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า สำหรับการประมูลคลื่น 900 MHz ครั้งใหม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในวันที่ 27 พ.ค.59 ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ TRUE เข้าร่วมประมูลด้วยเพื่อสร้างสีสัน เนื่องจากยอมรับว่าการตั้งราคาเริ่มต้นประมูลที่สูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาททำให้กังวลว่าอาจมีผู้เข้าประมูลน้อยราย ซึ่งในทางทฤษฎีแม้ว่าอาจเป็นไปได้ที่ TRUE จะชนะประมูลได้ แต่ในทางปฏิบัติคงเป็นไปไม่ได้ เพราะ TRUE ต้องจ่ายค่าคลื่นไปกว่าแสนล้านบาทแล้ว หากได้อีกใบก็จะอาจทะลุไปสองแสนล้านบาท ขณะที่ยังมีวงเงินหนี้สินใบริษัทอีก อย่างไรก็ตาม TRUE ก็อาจจะเข้าร่วมประมูลเพื่อกันไม่ให้คู่แข่งได้ราคาต่ำเกินไป
อินโฟเควสท์
คสช. เมินขายคลื่น 900MHz ให้ ADVANC เล็งใช้ม. 44 ลดขั้นตอน เปิดประมูลใหม่ - กสทช.คาดเร็วสุด 22 พ.ค. นี้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เมินข้อเสนอของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ที่ขอเป็นผู้รับใบอนุญาตคลื่น 900 MHz แทน "แจส โมบาย บรอดแบนด์" บริษัทลูกของ JAS โดยไม่ต้องประมูลในราคา 75,654 ล้านบาท โดย กสทช. เสนอ 3 แนวทาง แต่คาดว่าจะใช้แนวทางสุดท้ายคือ การใช้คำสั่ง คสช. มาตรา 44 เร่งการประมูลให้เร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้สามารถเปิดประมูลได้ในวันที่ 22 พ.ค. นี้ โดยจะได้ข้อสรุปในวันที่ 11 เม.ย. ขณะที่ รัฐบาลและคสช. ยืนยันมีมาตรการเยียวยา ไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ รายละเอียดดังนี้
นายวิษณุ กล่าวภายหลังการหารือกับ กสทช. ได้ข้อสรุปว่า จะใช้วิธีการเปิดประมูล 4G คลื่นความถี่ 900 MHz รอบใหม่ โดยคาด ว่าจะเปิดประมูลได้เร็วสุดราวกลางพ.ค.นี้ และพร้อมใช้มาตรา 44 เพื่อเปิดประมูล ให้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ กสทช.จะให้สิทธิผู้ประกอบการทุกรายเข้าร่วมประมูล ยก เว้นกลุ่มบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ที่จะไม่ให้เข้าร่วม
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กสทช.มีมติไม่ให้กลุ่มบมจ.ทรูคอร์ปอเรชั่น เข้าร่วมประมูล เนื่องจากเกรงจะมีปัญหาผูกขาด
"เดิมวิธีประมูลตามปกติมีประมาณ 7 ขั้นตอน แต่วิธีใหม่ที่ ให้ไปคิด จะมีประมาณ 3 ขั้นตอน ซึ่งทำให้เร็วกว่าเดิม 45-60 วัน ก็ให้ กสทช.ไปคิดว่าจะทำอย่างไร ถ้าเร็วได้ด้วยอำนาจปกติ ก็ไม่ต้องใช้มาตรา 44 แต่ ถ้าเร็วไม่ได้หรือเร็วอย่างไรก็ยังช้าอยู่ ก็มาบอก ก็ให้ใช้มาตรา 44" นายวิษณุ กล่าว กับผู้สื่อข่าวหลังเข้าพบนายกรัฐมนตรี
ส่วนปัญหาซิมดับของผู้ใช้ บริการ 2G บนคลื่น ความถี่ 900 MHz ของ AIS ที่ศาลคุ้มครองไปจนถึงวัน ที่ 14 เม.ย.นั้น รัฐบาลและ คสช.ยืนยันว่า จะหาทางเยียวยาเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซิมดับ ไม่ว่าศาลปกครองจะมีคำสั่งอย่างไรก็ตาม โดยนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ต้องไม่เกิด ปัญหาซิมดับ ต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และราคาของการประมูล ไม่ต่ำกว่าราคาที่ตั้งไว้
ด้านนายฐากร กล่าวในการแถลงข่าวว่า ได้เสนอ 3 แนวทางของการ เปิดประมูลใหม่ ต่อรองนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย การเปิดประมูลตามปกติ ตามร่างประกาศ, การให้สิทธิ AIS ได้ใบอนุญาต และ การใช้คำสั่งของคณะรักษาความ สงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งการประมูลให้เร็วขึ้นซึ่งไม่ต้องทำประชาพิจารณ์ โดย หากใช้แนวทางสุดท้ายนี้ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในวันที่ 22 พ.ค.
"ถ้าโดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่าแนวทางที่ 3 น่าจะเกิด ประโยชน์กับประเทศชาติได้มากที่สุด ถ้าใช้แนวทางนี้ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ ในวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.และคาดว่าการประมูล ไม่น่าจะกินเวลานาน" นายฐากร กล่าว
ทั้งนี้ จะหารือกับนายวิษณุอีกครั้งใน วันที่ 11 เม.ย.ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดในวันดังกล่าว
นายฐากร กล่าวว่า สาเหตุที่เปิดให้ผู้ประกอบการทุกรายรวมถึง TRUE เข้าร่วมประมูล เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และป้องกันปัญหาการฟ้องร้อง ที่อาจจะทำให้การประมูลต้องล่าช้าออกไป
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
สตง.ส่งจม.ด่วนระบุให้คลื่น 900 MHz กับ ADVANC โดยไม่ต้องประมูลขัดกม.-ไม่ได้แข่งขันเสรี
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำเอกสารที่ระบุว่าเป็นหนังสือด่วนของทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ส่งมาถึง กสทช.ลงวันที่ 7 เม.ย.59 มาโพสต์ลงในทวิตเตอร์ โดย สตง.ระบุหัวเรื่อง "การขอให้พิจารณาทบทวนข้อเสนอของ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ขอรับช่วงคลื่นต่อจากบริษัท แจสโมบาย บรอดแบนด์ ที่ประมูลได้ในราคา 75,654 ล้านบาทอย่างรอบคอบ"
ทั้งนี้ สตง.ระบุว่า หาก กสทช.และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) พิจารณาให้บริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ได้คลื่นความถี่ 900 MHz โดยไม่มีการประมูล ถือเป็นการอนุญาตที่ผิดพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 45
นอกจากนี้ อาจมองได้ว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันอย่างแท้จริงและเป็นธรรม อันเป็นการเอื้อประโยชน์โดยการให้สิทธิแก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และอาจเข้าข่ายเจ้าพนักงานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริต ตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
สตง.มองว่า การกล่าวอ้างว่าหากนำคลื่นออกมาประมูลใหม่โดยใช้ราคาที่แจสโมบายฯ ประมูลได้เพราะคาดว่าจะไม่มีผู้สนใจนั้น เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยไม่มีเหตุผลรองรับที่เพียงพอ เพราะอย่างน้อย เอไอเอส ย่อมสนใจที่จะเข้าร่วมประมูล นอกจากนี้ บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค ในเครือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งเข้าร่วมประมูลคลื่นครั้งก่อนด้วยก็อาจสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลด้วยเช่นกัน
"หากมีการตัดสินใจให้เอไอเอสได้คลื่นความถี่โดยไม่มีการประมูลจะเป็นการไม่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมแล้ว อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หากผู้ประกอบการรายอื่นยกเป็นเหตุในการฟ้องร้องดำเนินคดี" สตง.ระบุในหนังสือด่วน
สำหรับ กรณีที่เอไอเอสขอให้ กสทช.คุ้มครองลูกค้า 2G จำนวน 4 แสนรายและมีที่ใช้บริการโรมมิ่งอีกราว 7.8 ล้านเลขหมายสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องก่อนสิ้นสุดระยะเวลาซิมดับภายใต้การคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองในวันที่ 14 เม.ย.นั้น สตง.เห็นว่า หาก กสทช.ให้ความคุ้มครองหรือกำหนดมาตรการใดๆ เพื่อให้ทางเอไอเอสไม่ต้องโรมมิ่งกับทางดีแทค อาจถือว่า กสทช.ดำเนินการขัดกับประกาศคุ้มครองฯ และอาจเป็นมูลเหตุให้ผู้เสียประโยชน์ใช้เป็นข้ออ้างเพื่อฟ้องร้องได้ในที่สุด
นอกจากนี้ การที่เอไอเอส ยังมีลูกค้าคงค้างจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่ายังมีลูกค้าในระบบ 2G ซึ่งไม่โอนไปใช้บริการโทรศัพท์ 3G ของ AWN ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาต 2100 MHz อีกทั้งลูกค้าที่โอนย้ายไปแล้วจำนวน 7.8 ล้านเลขหมายดังกล่าวอาจเป็นลูกค้าที่เอไอเอสโอนย้ายไปอย่างผิดกฎหมายตามที่ สตง. ได้เคยส่งหนังสือให้สำนักงาน กสทช.ตรวจสอบข้อเท็จจริง และปรากฎผลว่าเอไอเอสมีการดำเนินการที่ผิดกฎหมายจริง
ส่วนลูกค้า 2G ที่คงค้างตามที่เอไอเอสแจ้งว่ามีเพียง 400,000 เลขหมาย ยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าสิทธิในลูกค้าควรเป็นของใคร และจำนวนลูกค้าคงค้างที่แท้จริงมีจำนวนเท่าใด ดังนั้น หากทาง กสทช. และ กทค.ยอมรับข้อเสนอของเอไอเอสจึงเท่ากับเป็นการแสดงเจตนาส่งเสริมให้การโอนย้ายลูกค้าไปอย่างผิดกฎหมาย ให้เป็นการโอนย้ายลูกค้าโดยชอบด้วยกฎหมายทันที รวมถึงสร้างความชอบธรรมในสิทธิของลูกค้า โดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงจำนวนลูกค้าที่มีอยู่จริงในปัจจุบัน
อินโฟเควสท์
TDRI หนุนให้ AIS รับช่วงไลเซ่นส์ 4G ราคาเดิมแทนแจส มอง win-win แบบวิธีไทยๆ
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊คสนับสนุนกรณี บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ทำหนังสือมาแจ้งคณะกรรมการกิจการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เสนอรับช่วงใบอนุญาต 4G ต่อจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด โดยยอมจ่ายค่าคลื่น 7.56 หมื่นล้านบาทตามราคาที่ แจส เคยประมูลได้
ทั้งนี้ นายสมเกียรติ ระบุว่า ประหลาดใจที่ AIS เสนอรับราคาประมูลของ แจส เพราะในการประมูลครั้งที่แล้ว AIS ออกจากการประมูลก่อนราคาดังกล่าวนานพอสมควร แต่พอเข้าใจว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะ AIS มองว่าการประมูลคราวที่แล้วเสนอราคาต่ำไป เมื่อไม่ได้คลื่นความถี่ จึงประสบปัญหาการถ่ายโอนลูกค้า ทำให้พร้อมเสนอราคาคลื่นให้สูงขึ้นในครั้งนี้
กรณีนี้มีประเด็นที่สำคัญต่อประโยชน์สาธารณะ 3 ประเด็นคือ หนึ่ง ผลประโยชน์ของรัฐ และประชาชนผู้เสียภาษี สอง ความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ และ สาม ผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค
ในประเด็นแรก หากมีผู้พร้อมจ่ายค่าใบอนุญาตคลื่น 7.56 หมื่นล้านบาท ก็ถือว่าเป็นข่าวดีของรัฐบาลและกสทช. เพราะทำให้รัฐบาลได้รายได้ไม่น้อยกว่าเดิม และดีกว่าการเสี่ยงให้ กสทช.ไปประมูลใหม่ในเดือนมิถุนายนแล้วไม่ได้ราคาดังกล่าว เพราะสถานการณ์ต่างๆ จะเปลี่ยนไปมาก แต่ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีแล้ว อยากเห็นรัฐบาลประกาศให้ชัดเจนว่า จะเอาเงินรายได้จากการประมูลนี้ไปทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น เอาส่วนหนึ่งไปเพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ เพราะที่ผ่านมา แม้ประมูลได้เงินมาก แต่หลายคนบอกว่า ถึงได้เงินมาก ก็ไม่แน่ใจว่า เงินจะถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า
ในประเด็นที่สอง เรื่องความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ เนื่องจากจะไม่มีการประมูลนั้นคิดว่าก่อนจะดำเนินการต่อไป กสทช.ควรสอบถามอย่างเป็นทางการกับผู้ประกอบการรายอื่นโดยเฉพาะดีแทค ซึ่งเป็นรายเดียวที่ไม่ถูก กสทช.ตัดสิทธิจากการประมูลรอบใหม่ว่าพร้อมที่จะเสนอราคาสูงกว่า AIS หรือไม่ โดยหากพร้อมเสนอราคาสูงกว่า ก็ควรจัดการประมูลโดยเร็ว แต่หากไม่พร้อม ก็หมายความว่ายอมรับที่จะให้ AIS ได้คลื่นไป โดยต้องให้คำตอบในเวลาที่กำหนด หากทำเช่นนี้ข้อสงสัยเรื่องความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการก็จะหมดไป
ในประเด็นที่สาม เรื่องผลประโยชน์ต่อผู้บริโภคนั้น การจัดสรรคลื่นให้ AIS จะช่วยแก้ปัญหา“ซิมดับ"ของผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องทีดี แต่ก็น่าเสียดายว่าตลาดบริการ 4G อาจมีการแข่งขันน้อยกว่าตลาดบริการ 3G เพราะนอกจาก ไม่มีรายใหม่อย่าง แจส เข้าร่วมแล้ว รายเดิมอย่างดีแทค ยังไม่ได้คลื่นด้วย แต่ผลลัพธ์นี้ก็ไม่ได้แย่กว่า การประมูลรอบใหม่ ที่ AIS เสนอราคาสูงกว่าดีแทค
โดยสรุปการที่ AIS เสนอรับช่วงใบอนุญาต 4G ต่อจาก แจส โดยยอมจ่ายที่ราคาเดิมนั้น หากผู้ประกอบการรายอื่นไม่คัดค้าน ก็น่าจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ทั้ง AIS ซึ่งแก้ปัญหาของตนเองได้ รัฐบาลและ กสทช. ที่ได้รายได้ไม่น้อยกว่าเดิม และผู้บริโภคที่ไม่มีปัญหา “ซิมดับ" เรียกได้ว่าสามารถแก้ปัญหาไปได้อย่างมหัศจรรย์ด้วย “วิธีแบบไทยๆ “
อย่างไรก็ตาม เพื่อหลีกเลี่ยงการแก้ไขปัญหาแบบไทยๆ อีกในอนาคต กสทช.ควรจัดการประมูลคลื่นล่วงหน้าก่อนที่ใบอนุญาตหรือสัมปทานของผู้ประกอบการจะหมดอายุนานพอควร เช่น 1 ปีขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้บริโภค และเกิดความไม่แน่นอนในการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ
อินโฟเควสท์
ADVANC พร้อมให้บริการ 4G ครอบคลุม 77 จังหวัดในไทย,ยอดลูกค้าพุ่งกว่า 6 ล้านราย
นายปรัธนา ลีลพนัง รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส กล่าวว่า ขณะนี้เอไอเอสพร้อมประกาศให้บริการ AIS 4G ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศไทยแล้ว โดยใช้เวลาขยายเครือข่ายสั้นที่สุดเพียง 3 เดือน หลังจากได้รับใบอนุญาตเมื่อเดือนธ.ค. 58 ที่ผ่านมา ขณะที่ปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้บริการ AIS 4G ADVANCED แล้วกว่า 6 ล้านราย
"นับเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยและโลก ที่ใช้เวลาในการขยายเครือข่ายเร็วที่สุดเท่าที่เคยมีมา"นายปรัธนา กล่าว
นายปรัธนา กล่าวอีกว่า เอไอเอสยังเดินหน้าพัฒนาเครือข่าย 4.5G ในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความเร็วสูงสุดถึง 1 Gbps ภายในเดือนเม.ย.นี้ อย่างแน่นอน และยังคงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพเครือข่ายในมิติต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยงบลงทุนที่เตรียมไว้ราว 40,000 ล้านบาท
อินโฟเควสท์