- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 15 July 2014 19:22
- Hits: 3023
คสช.จ่อรื้อพรบ.กสทช.มาตรา 45 ปรับปรุงเงื่อนไขประมูลคลื่นไม่พิจารณา'ราคา'อย่างเดียว
แนวหน้า ; แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะมีการตั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นมาในเร็วๆนี้ หรือหลังจากมีการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว แล้ว โดย สนช.เตรียมแก้ พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ.กสทช.) เนื่องจากภายใน คสช.ได้วิเคราะห์ถึงตัวบทกฏหมายที่ไม่สอดคล้อง และทำให้ กสทช.ขาดความชัดเจนในบทบาทและหน้าที่ จึงต้องมีการปรับแก้กฎหมายฉบับ
ในเบื้องต้น น่าจะมีการร่างฯ กฎหมายใหม่ขึ้นมา ในบทเฉพาะกาล อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของคณะกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน โดยจะขึ้นอยู่กับบทเฉพาะกาลว่า จะให้ กสทช.ชุดปัจจุบัน หมดวาระก่อนหรือไม่
สำหรับ ประเด็นที่ คสช.วิเคราะห์แล้วเล็งเห็นว่าควรมีการปรับปรุงคือ ในมาตรา 45 ของพ.ร.บ.กสทช. ที่กำหนดให้การจัดสรรคลื่นโดยใช้วิธีประมูลคลื่นความถี่เพื่อหาผู้ชนะจากการเสนอราคาสูงสุดจากราคาตั้งต้นที่กำหนดไว้เท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาหลายฝ่ายตั้งคำถามมาโดยตลอดว่าวิธีดังกล่าวเหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรมไทยหรือไม่ เกิดปัญหาในวงกว้าง
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายสุทธิพล ทวีชัยการ หนึ่งในบอร์ด กสทช.มีแนวคิดที่จะเสนอให้การจัดสรรคลื่นไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ในรูปแบบการประมูลเท่านั้น แต่ควรจะเปลี่ยนเป็นการแข่งกันเสนอผลประโยชน์ (บิวตี้ คอนเทสต์) ซึ่งมีการตั้งราคาของคลื่นที่ต้องการขาย และให้ผู้ที่สนใจ เสนอผลประโยชน์แข่งขันว่าจะให้อะไรกับผู้บริโภค อาทิ ความครอบคลุมของโครงข่าย ราคา การให้บริการ บริการเสริม และสิทธิประโยชน์อื่นๆ รวมไปถึงการจัดสรรด้วยวิธีการอื่นๆที่คิดว่าเหมาะสมด้วย
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า แนวทางการแก้ไขข้อกฏหมายของ กสทช.มองว่าเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการดำเนินการในทันที หาก คสช.เห็นชอบซึ่งมีสองเรื่องการแก้ไขวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่กฏหมายกำหนดให้จัดสรรด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น โดยตอนนี้มีคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900MHz ที่มีกำหนดต้องนำมาจัดสรรรองรับบริการในระบบ4G และเรื่องการนำเงินรายได้จากที่เกิดขึ้นของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์?(กสท.)เข้าเป็นเงินของแผ่นดิน เช่นเดียวกับที่ทางฝั่ง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน