- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 08 May 2014 23:59
- Hits: 3953
กังขา...!รายงานประจำปี'ซุปเปอร์บอร์ด'ขัดข้อเท็จจริง
บ้านเมือง : จากกรณีที่คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) หรือที่เคยถูกเรียกว่า 'ซุปเปอร์บอร์ด'ได้จัดทำรายงานการติดตามตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประจำปี 2556 ตามบทบัญญัติในมาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 โดยสำนักงาน กสทช.ได้เสนอรายงานดังกล่าวต่อ กสทช. เพื่อทราบในการประชุมครั้งที่ 4/2557 เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2557 ซึ่งปรากฏเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ ไปแล้วนั้น
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธาน กทค. กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้เห็นรายงานฉบับดังกล่าวแล้ว น้อมรับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ กตป. เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเห็นพ้องด้วยในหลักการของกฎหมายว่า เมื่อ กสทช. ได้รับทราบรายงานฯ แล้วให้นำเสนอต่อรัฐสภา พร้อมทั้งเปิดเผยรายงานฯ ดังกล่าวต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นว่า เนื่องจากรายงานฯ ดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งและอาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร กสทช. ฉะนั้น กระบวนการในการจัดทำรายงานฯ และการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานตามหลักวิชาการและจะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมายบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน รวมถึงต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียประกอบด้วย แต่ปรากฏว่าข้อมูลที่ปรากฎในรายงานฯ มีความคลาดเคลื่อน ไม่ครบถ้วนและไม่ปรากฏว่ามีการเปิดโอกาสให้ กสทช.ไปชี้แจงแต่อย่างใด
"ในชั้นนี้จึงยังไม่อาจรับทราบรายงานฯ ของ กตป. แต่เพื่อป้องกันผล กระทบและความเสียหายอันอาจจะเกิดจากการรับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน รวมทั้งเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดจากรายงานฯ นี้ จึงมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตรวจสอบและนำประเด็นต่างๆ ตามข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของ กตป. ไปศึกษาโดยละเอียด หากปรากฏว่าข้อมูล ข้อเท็จจริง ข้อสังเกตรวมถึงข้อเสนอแนะในส่วนใดไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วนหรือคลาดเคลื่อน ก็ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อประกอบแนบท้าย รายงานฯ ของ กตป. ก่อนนำเสนอต่อรัฐสภา และเปิดเผยรายงานฯ นี้พร้อมกับ
คำชี้แจงเพิ่มเติมดังกล่าวให้ประชาชนทราบต่อไป"
รองศาสตราจารย์ ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อได้พิจารณาในรายละเอียดของรายงานฯ ดังกล่าวแล้วพบว่า กระบวนการจัดทำรายงานฯ ไม่ปรากฏวิธีการและมาตรฐานทางวิชาการรองรับ อีกทั้งข้อมูลและข้อเท็จจริงที่นำมาใช้ในการพิจารณายังมีความไม่ชัดเจน ไม่ปรากฏที่มาของแหล่งข้อเท็จจริงและข้อมูล และที่สำคัญที่สุดยังไม่ได้เปิดโอกาสให้ กสทช. ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานฯ แต่อย่างใด ทำให้การวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อมูลต่างๆ ของ กตป. จนนำไปสู่การตั้งข้อสังเกต ตลอดจนข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่ปรากฏในรายงานฯ ในหลายประเด็นมีความคลาดเคลื่อนและมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่สอดคล้องกับกฎหมายอันเนื่องมาจากการเข้าใจหลักการของกฎหมายและด้านเทคนิคที่คลาดเคลื่อน จึงอาจทำให้รัฐสภา ตลอดจนประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช.
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า การประเมินผลและการจัดทำรายงานฯ ของ กตป. มีความคลาดเคลื่อนและมิได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงและข้อมูลที่ถูกต้องและไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่สอดคล้องกับกฎหมายในหลายประเด็น อาทิ กรณี กตป. เสนอให้ กทค. ต้องเร่งหาข้อยุติการตีความกฎหมายเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสาร รวมทั้งความไม่ชัดเจนของกฎหมายในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลระหว่างกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ICT) และ กสทช. นั้น ข้อเสนอในประเด็นนี้เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในข้อกฎหมาย
และข้อเท็จจริง ทั้งนี้ เนื่องปัญหาเกี่ยวกับกิจการดาวเทียมสื่อสารมิได้อยู่ที่ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการตีความกฎหมายและบทบาทอำนาจหน้าที่ระหว่างหน่วยงานกระทรวง ICT กับ กสทช. เนื่องจากได้ข้อยุติในเรื่องนี้แล้ว อย่างไรก็ตามประเด็นที่เป็นปัญหา คือ กระบวนการในการได้มาซึ่งสิทธิในการใช้วงโคจรดาวเทียมภายใต้อำนาจหน้าที่ของกระทรวง ICT จะสามารถกำกับดูแลอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรให้ความสำคัญเพื่อให้มีการกำกับดูแลดาวเทียมสื่อสารแบบครบวงจร โดยการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในระยะยาวอาจจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสารเป็นการเฉพาะ แต่ในการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นเห็นควรให้สำนักงาน กสทช.นำเรื่องนี้ไปหารือในคณะอนุกรรมการประสานงานเรื่องดาวเทียม ซึ่งมีผู้แทนจากทั้งกระทรวง ICT และสำนักงาน กสทช. ร่วมอยู่ด้วยว่าควรจะมีการขับเคลื่อนอย่างไร จึงจะทำให้การกำกับดูแลกิจการดาวเทียมสื่อสารเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน" ดร.สุทธิพล กล่าวและว่า สำหรับกรณีที่ กตป. เสนอให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจเบ็ดเสร็จและกล่าวหาว่ากลไกการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคมของ กสทช. ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้น เนื่องจากคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ที่จัดตั้งตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีหน้าที่เพียงพิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน แต่มิได้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนและข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมแต่อย่างใด นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ได้กำหนดให้ต้องมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีคณะอนุกรรมการชุดนี้ตลอดไป มิใช่เป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ส่วนการแก้ไขปัญหาหรือเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนฯ ต่อ กสทช. นั้น มาตรา 57 (4) ได้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. จึงต้องระวังมิให้การทำงานของคณะอนุกรรมการฯ และสำนักงาน กสทช.ทับซ้อนกัน
ดังนั้น ข้อเสนอแนะของ กตป. ในประเด็นนี้ จึงไม่น่าจะสอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้หาก กตป.ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ละเอียดรอบคอบก็จะทราบว่า กสทช. โดย กทค. ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยได้กำหนดให้ปี 2556 เป็น "ปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม" และเดินหน้าในการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมอย่างจริงจัง จนสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องวันหมดอายุของบัตรเติมเงินได้เป็นผลสำเร็จ มีการลงพื้นที่ไปตรวจสอบด้วยตนเอง จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ตลอดจนช่วยเหลือผู้บริโภคโดยการจัดโครงการ กทค. สัญจรทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมเป็นผลสำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค ฯลฯ แต่ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ กลับไม่ถูกหยิบยกในรายงานฯ ของ กตป. ทำให้มองว่า รายงานฯ ของ กตป. มีข้อมูลไม่ครบถ้วนและมุ่งเสนอเฉพาะข้อมูลลบ เพียงด้านเดียว ซึ่งไม่เป็นปัจจุบัน
"ทั้งนี้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในหลายประเด็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านกิจการโทรคมนาคมเป็นเรื่องที่ที่ประชุม กสทช. และ กทค. มีการพิจารณาและดำเนินการจนได้ข้อยุติไปแล้ว ซึ่งหาก กตป.ตรวจสอบให้ดี กำหนดประเด็นให้ชัดเจน และเปิดโอกาสให้ กสทช.ได้ชี้แจงอย่างเต็มที่ก็จะไม่เกิดความคลาดเคลื่อนเช่นนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือบางประเด็นที่ กตป.หยิบยกล้วนเป็นเรื่องที่กระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์จนมีการโต้แย้งเป็นคดีความอยู่ในศาลปกครองที่ยังไม่เป็นที่ยุติ รวมถึงบางประเด็นเป็นเรื่องที่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของ กสทช. และ กทค. ได้ทำการร้องเรียนและอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แม้ กตป.จะมีเจตนาดีและอ้างว่าดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่การจัดทำรายงานฯก็ต้องมีมาตรฐานทางวิชาการและปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อ กสทช.และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้ฝ่ายที่ไม่ประสงค์ดีใช้ กตป.เป็นเครื่องมือเพื่อสกัดกั้นการทำงานของ กสทช. และพัฒนาการทางด้านโทรคมนาคมของชาติ ซึ่งขอยืนยันว่าการออกมาชี้แจงในครั้งนี้ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจและเป็นห่วง โดยไม่มีอคติใดๆ ทั้งสิ้นต่อ กตป. ทั้งนี้สาเหตุที่สำคัญเนื่องมาจากรายงานฯ ไม่ปรากฏชัดเจนว่า กตป. นำข้อมูลทุกด้านมาประเมินวิเคราะห์ที่นำไปสู่ข้อสรุปดังกล่าว ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องชี้แจงเพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริงในประเด็นต่างๆ ที่ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อการปฏิบัติหน้าที่ และมิให้เกิดผลเสียหายต่อองค์กร กสทช." ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย
พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ รองศาสตราจารย์ ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์