- Details
- Category: กสทช.
- Published: Sunday, 28 February 2016 10:23
- Hits: 2006
ชี้ทีวีดิจิตอล ยังมีอนาคต'นที'แนะเปลี่ยนกลยุทธ์ชูจุดต่างดูดรายได้เข้าช่อง
ไทยโพสต์ : ดินแดง * ประธาน กสท.แนะทางรอดทีวีดิจิตอล ช่องใหม่คนดูน้อยต้องปรับตัวหาจุดเด่น-ดึงเม็ดเงินโฆษณาในตลาดเฉพาะกลุ่ม ชี้บางช่องหายไปไม่กระทบตลาดรวม ทีวีดิจิตอลยังเดินต่อได้
พ.อ.นที ศกุลรัตน์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) และกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในปี 2559 นี้ค่อนข้าง มีการแข่งขันเรื่องเนื้อหาสาระ หรือคอนเทนต์ อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมมีมากขึ้น ส่งผลให้ลดการผูกขาดที่มีอยู่ รายเก่าต้องยอม รับว่าจะต้องถูกแบ่งสัดส่วนครองตลาดคนดูจากช่องใหม่ๆ ส่วนช่องที่ยังไม่มีฐานคนดูมากนักก็จะเร่งพัฒนาคอนเทนต์ เพื่อดึงคนดูให้เกิดความสนใจและจดจำช่องของตนให้ได้
ส่วนประเด็นที่มีบางช่อง รายการออกจากตลาดนั้น ตนมองว่าไม่ได้ส่งผลกระทบกับตลาดโดยรวม และเชื่อว่าอุตสาหกรรมโทรทัศน์ยังคงเดินหน้าต่อเนื่องไปได้ ซึ่งการจะบอกว่าตลาดอุตสาหกรรมนี้ดีขึ้นหรือไม่นั้น ต้องเอาข้อเท็จจริงมาโต้แย้งกัน ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่าการมีช่องรายการฟรีทีวีเพิ่มเป็น 24 ช่องนั้น ได้รับความสนใจจากประชาชนไม่น้อย จากข้อมูลของผู้ชมที่เพิ่มจากปีแรกที่มีการเปิดให้บริการ ซึ่ง เม.ย.-ธ.ค.2557 ยังไม่มีฐานคนดูในส่วนนี้ แต่หลังจากผ่านช่วงปีแรกไปจนถึง เม.ย.2558 นั้น มีผู้ชมเพิ่มขึ้นเป็น 29%
ทั้งนี้ เม็ดเงินโฆษณาเริ่มเข้ามาในช่องรายการใหม่บ้างแล้ว จากเดิมที่ช่องฟรีทีวีเดิมมีสัดส่วนค่อนข้างมาก โดยเมื่อ ธ.ค.2558 พบว่าสัดส่วนการรับชมโทรทัศน์ต่อนาที (% Share of TV Audience) จากทุกช่องทางรับชมช่องรายการใหม่ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีอยู่ 18% ส่วนในช่องเดิม สัดส่วนการรับชมลดลงจาก 82% มาเป็น 62% สะท้อนได้ว่าประชาชนหันมาให้ความสนใจกับทีวีดิจิตอลมากขึ้น
"ผมไม่ได้บอกว่า ใครแข่งขันในตลาดนี้ไม่ได้ให้ออกไป แต่หากไม่สามารถช่วงชิงส่วนแบ่งเค้กก้อนใหญ่ไม่ได้ก็ให้ปรับตัวแล้วมาแข่งขันในตลาดเล็ก เช่น ปรับเนื้อหามาเจาะกลุ่มเฉพาะ หาจุดเด่นของช่อง หรือหาพันธมิตรมาร่วมทาง เชื่อว่าหากปรับตัวและรู้ทิศทางว่ามีกำลังจะแข่งขันในเค้กก้อนที่เล็กกว่า ยอมกินส่วนแบ่งที่ไม่มากนักจากช่องที่ฐานคนดูไม่มาก หากเจาะถูกกลุ่มก็อาจอยู่ได้และเติบโต เม็ดเงินโฆษณาก็จะเข้ามา" ประธาน กสท.กล่าว
พ.อ.นที กล่าวต่อว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้น ของโครงการสนับสนุนการเปลี่ยน ผ่านสู่ทีวีดิจิตอล การแจกคูปองเพื่อแลกกล่องรับสัญญาณเซตท็อปบ็อกซ์ และที่ผ่านมาหลายช่องรายการนำคอนเทนต์ที่น่าสนใจเข้ามาออกอากาศ ซึ่งคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจส่วนใหญ่จะเป็นรายการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา รายการวาไรตี้ต่างๆ เชื่อว่าในการแข่งขันโอลิมปิกที่มีขึ้นในปีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ประชาชนสนใจการชมทีวีดิจิตอลมากขึ้น ซึ่ง กสทช.ก็จะสนับสนุนเต็มที่เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม สำนักงานฯ ได้กำกับดูแลตามหน้าที่และสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอย่างจริงจัง การขยายโครงข่ายสัญญาณภาคพื้นดินก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยปัจจุบันโครงข่ายได้ครอบคลุมแล้วกว่า 50% ของพื้นที่ และในเดือน มิ.ย.นี้ จะสามารถครอบคลุมได้ถึง 90% และคาดว่าภายในสิ้นเดือน ธ.ค.2559 จะครอบคลุมได้ถึง 93% ซึ่งตามแผนในปีที่ 4 คือ 2560 จะต้องมีโครงข่ายดิจิตอลทีวีครอบคลุม 95%.
กสทช.คาดทีวีดิจิตอลทีวีปี 59 แข่งเดือด WORK-RS-MONO เบียดติด Top 5
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการ (กสท.) เปิดเผยว่า ทิศทางดิจิตอลทีวีในปี 59 จะเห็นการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยช่องที่ติดอันดับต้นๆ ยังคงเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อรักษากลุ่มผู้ชมในระยะยาว รวมทั้งการสร้างเนื้อหาใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม เพื่อเจาะตลาดผู้ชมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะเปิดรับและจดจำช่องใหม่ๆ ได้ในเวลาไม่นาน
"ขณะที่ผลกำไรนั้นเป็นที่ทราบกันก่อนการประมูล ซึ่งมีการคาดการณ์เอาไว้แล้วว่าระยะเวลาคืนทุนน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 ปีขึ้นไปในสถานการณ์เช่นนี้ ความยากในการแข่งขันของผู้ประกอบการทุกรายจึงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่สุดท้ายเนื้อหารายการจะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้อย่างแท้จริง"ประธาน กสท.กล่าว
สำหรับ ช่องดิจิตอลทีวีที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ Workpoint เรตติ้งขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 ตั้งแต่ปลายปี 57 ขณะที่ช่อง 8 และช่อง MONO 29 ขึ้นมาติดอันดับ 4 และอันดับ 5 ในช่วงต้นปี 58 ส่วนสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 และช่อง 7 ในระบบอนาล็อกเดิมนั้น ยังเป็นสองช่องทีวีที่ครองตลาดส่วนใหญ่ แต่มีแนวโน้มที่ช่องทีวีมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน (Target group) กำลังมีเรทติ้งสูงขึ้น
พ.อ.นที กล่าวว่า ผลจากการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลทีวี ขณะนี้เริ่มเห็นจำนวนผู้ชม เม็ดเงินโฆษณา และเม็ดเงินในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องมีการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.58 สัดส่วนการรับชมโทรทัศน์ต่อนาที (%Share of TV Audience) จากทุกช่องทางการรับชม (Platform) ระหว่างช่องรายการเดิมและช่องรายการใหม่ขยับขึ้นเป็น 62% ต่อ 38% จาก ณ สิ้นเดือน ธ.ค.57 อยู่ที่ 82% ต่อ 18% สะท้อนว่าประชาชนหันมาสนใจรับชมดิจิตอลทีวีมากขึ้น ประกอบการหลายช่องเริ่มปรับตัวหาจุดแข็งให้กับช่องตัวเอง โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพเนื้อหา และมีการลงทุนด้านความสวยงามของภาพผ่านหน้าจอโทรทัศน์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ
พ.อ.นที กล่าวว่า ดิจิตอลทีวียังช่วยให้อุตสาหกรรมโฆษณาในปี 58 มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เม็ดเงินโฆษณาได้กระจายสู่ดิจิตอลทีวีที่เคยกระจุกตัวอยู่ที่ 6 ช่องหลัก โดยปี 58 มูลค่าโฆษณาในดิจิตอลทีวีมีอัตราเติบโตถึง 144% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า คิดเป็นเม็ดเงินเข้าช่องดิจิตอลทีวีทั้งสิ้น 20,930 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 8,584 ล้านบาท ขณะที่เม็ดเงินโฆษณาใน 6 ช่องเดิมในปี 58 ลดลงเหลือ 57,526 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 63,776 ล้านบาท และยังทำให้ภาพรวมการลงโฆษณาในอุตสาหกรรมทีวีปี 58 สูงขึ้นถึง 78,456 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 72,360 ล้านบาท หรือเติบโต 8.43% แม้เศรษฐกิจจะไม่ดีนักในช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่ในปีที่ผ่านมาโทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณดิจิตอลทีวีได้มียอดจำหน่าย 4.4 ล้านเครื่อง กล่องรับสัญญาณดิจิตอล (Set-Top-Box) มียอดจำหน่ายกว่า 8.7 ล้านกล่อง และอุปกรณ์สื่อสารที่สามารถรองรับสัญญาณดิจิตอลทีวี เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต มียอดจำหน่าย 1.4 ล้านเครื่อง ซึ่งทำให้มีช่องทางในการเข้าถึงดิจิตอลทีวีได้มากขึ้นและยังส่งผลดีต่อการขยายตัวของผู้ชมด้วย
อินโฟเควสท์
'ไทยทีวี'จอดำแล้ว'กสท.'ยังหวังเห็นทางออกแก้ไขปัญหา
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว @DrNateeDigital ถึงกรณีช่องไทยทีวียุติการออกอากาศเมื่อเที่ยงคืนของวันที่ 31 ตุลาคม ที่ผ่านมา ว่า “กสท. ได้เลื่อนนัดชำระหนี้ค่าประมูลคลื่นความถี่ให้กับ ไทยทีวี จนถึง 31 ต.ค.58 เพื่อให้มีระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาก่อนการบังคับตามกติกา กสท. ได้กำหนดกรอบ/ขั้นตอนการดำเนินการกรณีที่ บริษัท ไทยทีวี ไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อ 19 ตุลาคม 2558 โดยในขั้นตอนแรก จะเข้าสู่การพักใช้ใบอนุญาตครั้งละ 30 วัน ไม่เกิน 3 ครั้ง (90 วัน) ซึ่งในระหว่างนี้ก็จะไม่สามารถออกอากาศได้ในทุกระบบ
พ.อ.นที กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไป กรณีที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาในห้วงระยะเวลา 90 วันดังกล่าวได้ กสท.ก็จำเป็นต้องมีการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโดยกระบวนการที่เหลือก็จะมีการดำเนินการตามกฎ กติกา ในการเรียกชำระเงินตามหลักประกันที่มีการวางหนังสือรับรองธนาคารไว้
“แต่เนื่องจากวันที่ 31 ตุลาคม 2558 เป็นวันหยุดราชการ กสท. จึงได้ประชุมเมื่อ 29 ตุลาคมกำหนดให้สำนักงาน กสทช. ออกคำสั่งในวันที่ 2 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันเปิดราชการวันแรก โดยให้คำสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะส่งผลทั้งการออกอากาศภาคพื้นดินและการออกอากาศในระบบอื่นด้วย การยุติการออกอากาศก่อนที่ กสท. จะออกคำสั่งพักใช้ใบอนุญาต เป็นไปตามกรอบเดิมที่ กสท. กำหนดไว้ เมื่อการประชุม เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา ระยะเวลาการพักใช้ใบอนุญาต 90 วัน ยังเป็นโอกาสให้สามารถใช้กระบวนการแก้ไขปัญหา หาทางออก ที่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดได้ ผมคิดว่า กสท. ทุกคนก็ต้องการเห็นทางออกในการแก้ปัญหา และยังคงหวังว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ก่อนการเพิกถอนใบอนุญาต ครับ”