WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BNTClogoกสทช.ห่วงผู้ใช้มือถือ'2Gคลื่น 900' ส่อเจอปัญหา'ซิมดับ'โทร.ไม่ได หลังสัญญาสัมปทานเอไอเอสยุติ

      แนวหน้า : มือถือ '2G คลื่น 900'เตรียมชัตดาวน์ระบบ หลังสัญญาสัญญาสัมปทานระหว่าง'เอไอเอส' กับ ทีโอที" สิ้นสุดไปเมื่อปีที่ผ่านมา เผยผู้ใช้ 12 ล้านเลขหมาย มีสิทธิ์ "ซิมดับ" หากไม่รีบย้ายค่าย ด้าน "ทรูมูฟเอชแจส โมบาย"จ่ายค่าไลเซ่นส์ให้กสทช.ก้อนแรก 15 ม.ค.นี้ หลังคว้าใบอนุญาต 4G

     แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า หลังจาก กสทช.ประสบผลสำเร็จในการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) เพื่อออกใบอนุญาต(ไลเซ่นส์) 4G โดยได้เงินจากการประมูล 2 ใบอนุญาตนี้กว่า 151,952 ล้านบาทนั้น ล่าสุดกสทช.ได้รับแจ้งจากบริษัท ทรูมูฟเอช และบริษัทแจส โมบาย บรอดแบรนด์ฯ จะเข้ามาจ่ายเงินค่าธรรมเนียมก้อนแรกจำนวน 8,080 ล้านบาท ในวันที่ 15 มกราคมนี้ พร้อมวางแบงก์การันตีเงินค่าธรรมเนียมส่วนที่เหลือ

   อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้กสทช.หนักใจก็คือ ตามเงื่อนไขประมูล 4G บนคลื่น 900 MHzครั้งนี้ กสทช.ได้กำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว ผู้ใช้บริการบนคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ (มาตรการเยียวยา) ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ซึ่งตามเงื่อนไขนั้นมาตรการเยียวดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อได้ผู้ชนะประมูล และผู้ประมูลได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมงวดแรกพร้อมวางแบงก์การันตีตามเงื่อนไขแนบท้ายเรียบร้อยแล้ว

    "ปัญหาที่จะตามมาก็คือใน ขณะนี้ยังคงมีผู้ใช้บริการ 2G คลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)อยู่อีกกว่า 12 ล้านเลขหมายที่อยู่ระหว่างการโอนย้ายไปยังเครือข่ายผู้ให้บริการอื่นๆ  โดยส่วนใหญ่ผู้ใช้บริการเหล่านี้ จะอยู่ในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลที่ เครือข่ายอื่นๆ ยังเข้าไม่ถึง หากกสทช.ต้องดำเนินการไปตามเงื่อนไขการประมูล เมื่อผู้ชนะประมูลได้เข้ามาจ่ายเงินงวดก้อนแรกและวางแบงก์การันตีตามเงื่อนไขใบอนุญาตแล้ว กสทช.จะต้องยุติมาตรการเยียวยา หรือต้องปิดระบบ 2G ลงทันที (ชัตดาวน์) ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้บริการ 12 ล้านเลขหมายเหล่านี้ได้รับความเดือดร้อนทันที เพราะจะไม่สามารถใช้บริการต่อไปได้หรือเกิดกรณีซิมดับนั่นเอง"

    แหล่งข่าวกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางเอไอเอสได้ยื่นหนังสือขอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.)และกสทช.ได้พิจารณาขยายมาตรการเยียวยาตามประกาศ กสทช.ออกไปให้เป็นมาตรฐานเดียวกับมาตรการคุ้มครองชั่วคราวกรณีการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ ที่มีการขยายมาตรการเยียวยามากว่า 2 ปี และเพื่อให้ผู้ใช้บริการที่ยังคงอยู่ในระบบเร่งดำเนินการโอนย้ายเครือข่ายก่อน ซิมดับ หรือจนกว่าผู้ให้บริการรายใหม่จะเริ่มให้บริการได้  โดยในส่วนของบริษัทเองก็ได้จัดโปรโมชั่นแจกเครื่องฟรีให้ลูกค้าเก่าเหล่านี้ที่ประสงค์จะย้ายไปยังเครือข่ายและ 3G และ 4G แต่ขั้นตอนในการโอนย้ายเหล่านี้ก็ต้องกินเวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 เดือนจากนี้ ซึ่งหากกสทช.ไม่พิจารณาขยายมาตรการเยียวยา ลูกค้ากลุ่มนี้ก็หมดสิทธิ์ย้ายค่ายโดยใช้เบอร์เดิมไปโดยอัตโนมัติ เช่นกัน

   จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากกสทช.ว่าจะพิจารณาขยายมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ 2G 900 ออกไปอีกหรือไม่ ซึ่งหากไม่ขยายมาตรการคุ้มครองหรือมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการทั้ง 12 ล้าน เลขหมายนี้ที่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้ใช้บริการที่อยู่ตามชนบท ในพื้นที่ห่างไกลที่เครือข่ายต่างๆ ยังเข้าไม่ถึง จะเกิดกรณีซิมดับทันที

สหภาพฯจี้ TOT รีบผนึก AIS สู้ศึกมือถือ

   แนวหน้า : แหล่งข่าวจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) หรือ TOT กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ฝ่ายบริหารและคณะกรรมการ (บอร์ด) ชุดที่มีพล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ยังไม่ได้มีการเสนองานการบริหารในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่อย่างใด แม้ว่าในปี 2559 นี้ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะก้าวไปสู่การให้บริการ 4G อย่างเต็มรูปแบบจากเอกชนทุกราย หลังจากที่มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์(MHz)เสร็จสิ้นไปเมื่อปีที่ผ่านมา

    อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแผนงานการให้บริการโทรศัพท์มือถือของทีโอทีนั้น แม้ว่าจะมีการกำหนดไว้บ้างแล้ว แผนงาน ที่บอร์ดเสนออยู่นั้น ยังไม่มีแนวทาง การปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะจนถึงขณะนี้ทีโอทียังไม่ได้ดำเนินการเซ็นสัญญากับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส แม้บอร์ดได้มีมติเลือกเอไอเอส เป็นพาร์ทเนอร์มาตั้งแต่เดือนธ.ค.2558 แล้ว

    "เท่าที่รู้น่าจะมีประชุมบอร์ดทีโอที พิจารณาเรื่องแนวงานในตัวสัญญากับ เอไอเอสในวันที่ 11 ม.ค. ซึ่งถ้าบอร์ดมีมติออกมายังไงก็น่าจะเร่งทำให้เร็วที่สุด เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ทีโอทีก็จะขยับตัวช้ากว่า คู่แข่งอีกแล้ว"

   ทั้งนี้ สิ่งที่สหภาพฯอยากเห็นคือ แนวทางการทำงานของบอร์ดและผู้บริหารอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้ง การหารายได้ของทีโอทีในระยะยาว เพราะในเมื่อมติบอร์ดสรุปมาว่า การเป็นพาร์ทเนอร์กับเอไอเอส สร้างรายได้ในระยะยาว ดังนั้น บอร์ดก็ควรเร่งเซ็นสัญญากับเอไอเอสให้เร็วที่สุดเพื่อเป็นการหารายได้ในระยะยาว เพราะจากการประเมินของฝ่ายบริหารระบุว่าในปี 2559 นี้ หากทีโอที ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร และการหารายได้ จะทำให้ทีโอทีมีผล ประกอบการขาดทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท

    นายชิต เหล่าวัฒนา กรรมการบริหาร ทีโอที กล่าวถึงแผนในการให้บริการ 3G คลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ว่า แผนของทีโอทีที่จะให้บริการนั้น ควรมีแนวทางจะให้บริการ 2 ลักษณะ คือ 1.การให้บริการ Remittance หรือการโอนเงินระหว่างเมืองหลวง กับต่างจังหวัด หรือการโอนเงินไปยังต่างประเทศ ทางอิเล็กทรอนิกส์ และ 2.การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำหรับข้าราชการระดับไม่สูงมากนักอย่างเช่น ระดับซี 5 ลงมา ในราคาประหยัดอย่างเช่นเดือนละ 200 บาท และเป็นการตอบแทนสังคมด้วย

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!