- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 24 November 2015 21:05
- Hits: 2819
กสทช.เล็งใช้ราคาประมูลคลื่นในปี 58 เป็นบรรทัดฐานกำหนดราคาคลื่นที่จะเปิดประมูลต่อไป
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้เตรียมเสนอให้นำราคาการประมูลคลื่นความถี่ในปี 2558 ไปเป็นบรรทัดฐานราคาในการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งต่อๆ ไป โดยผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ผ่านไป และผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค. 2558 ราคาสุดท้ายของการประมูลจะถูกนำไปเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดราคาคลื่นในย่านเดียวกันที่จะนำไปประมูลในครั้งต่อๆ ไป
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และเพื่อให้ต้นทุนของผู้ประกอบการในคลื่นความถี่ย่านเดียวกันไม่มีความแตกต่างกันจนได้เปรียบเสียเปรียบกัน
“การเสนอเรื่องนี้เพื่อเป็นบรรทัดฐาน แม้ว่าเลขาธิการ หรือ กสทช. จะเปลี่ยนไป เลขาธิการ หรือ กสทช. ชุดต่อไปก็จะได้ดำเนินการประมูลโดยใช้แนวทางนี้ ใช้ราคาสุดท้ายของการประมูลคลื่นความถี่ในปี 2558 ไปเป็นบรรทัดฐานราคาในการประมูลคลื่นความถี่ย่านเดียวกันในครั้งต่อๆ ไป" นายฐากร กล่าว
กสทช.จัดที่พักรองรับประมูลคลื่น 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ในวันนี้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติให้การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค. 2558 จัดภายในสำนักงาน กสทช. โดยสำนักงานฯ ได้จัดเตรียมห้องประมูลในชั้น 3 อาคารอำนวยการ จำนวน 2 ห้อง และชั้น 11 อาคารอำนวยการ จำนวน 2 ห้อง ซึ่งห้องประมูลมีขนาดประมาณ 80 ตารางเมตร ภายในห้องจะมีการจัดเตรียมเตียงนอนให้กับผู้เข้าร่วมประมูลห้องละประมาณ 4-5 เตียง ถือว่าเป็นขนาดห้องที่ใหญ่ขึ้นกว่าห้องประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ในวันที่ 11-12 พ.ย. ที่ผ่านมา
สำหรับ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค. นี้ พิธีจะเริ่มในเวลา 07.00 น. ก่อนเข้าสู่การประมูลในเวลา 09.00 -21.00 น. หลังจากนั้นจะพักการประมูล 3 ชั่วโมง ก่อนเริ่มประมูลต่อในเวลา 00.00-06.00 น. และพักอีก 3 ชั่วโมง ก่อนเริ่มประมูลต่อในเวลา 09.00-21.00 น. ซึ่งจะวนเป็นรอบตามระยะเวลาดังกล่าวจนกว่าการประมูลจะสิ้นสุดลง โดยการประมูลในครั้งนี้ได้มีการเชิญประธาน กสทช. จากกัมพูชา และมาเลเซีย ร่วมเป็นสักขีพยานและสังเกตการณ์ด้วย
“ผมยืนยันว่าหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz คำนึงถึงความโปร่งใสเป็นอันดับแรก ผมต้องการให้องค์กรนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนให้ได้ การที่ประชาชนและทุกภาคส่วนส่งสัญญาณต่าง ๆ มาให้เรา เราได้รับฟังเป็นอย่างดี และได้นำมาปรับปรุงเพื่อทำให้การประมูลครั้งนี้เกิดความโปร่งใส บริสุทธิ์ และยุติธรรมมากที่สุด" นายฐากร กล่าว
นอกจากนี้ กทค. ยังมีมติออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ให้กับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 26 พ.ย. 2558- 15 ก.ย. 2576 หลังมีการชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่จำนวน 50% และได้ดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนรับใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว ส่งผลให้มาตรการการเยียวยาให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับผู้ประกอบการที่หมดสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 พ.ย. 2558
นอกจากนี้ กทค. ยังมีมติให้นำราคาการประมูลคลื่นความถี่ในปี 2558 เป็นบรรทัดฐานในการคำนวนราคาคลื่นความถี่ในการประมูลครั้งต่อไป โดยผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่ผ่านมา และผลการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่กำลังจะเกิดขึ้น ราคาสุดท้ายของการประมูลจะเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดราคาคลื่นครั้งต่อไป
สำนักงาน กสทช. คาดว่าในปี 58 จะสามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 9 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 1. การนำส่งรายได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล จำนวน 1.3 หมื่นล้านบาท 2. การนำส่งรายได้ที่หักจากค่าใช้จ่ายของสำนักงาน ซึ่งได้ส่งไปแล้วจำนวน 2,700 ล้านบาท 3. การนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ของ 2 บริษัท จำนวน 43,216 ล้านบาท และ 4. การนำส่งรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ในงวดที่สามซึ่งต้องจ่ายในวันที่ 22 ธ.ค. 2558 จำนวน 11,134 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 70,050 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมรายได้ที่จะเกิดจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 15 ธ.ค. 2558 คาดว่าจะได้ค่าประมูลคลื่นความถี่งวดแรกอีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท รวมทั้งสิ้นตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค. 2558 สำนักงาน กสทช. จะนำส่งรายได้เข้ารัฐเกือบแสนล้านบาท
บอร์ดกทค.เตรียมพิจารณาแนวทางตรวจสอบค่าบริการ 4G บนคลื่น 1800 MHz
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) รายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 31/2558 มีวาระสำคัญที่น่าจับตา ได้แก่ เรื่องแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการตามหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz และเรื่องแนวทางการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
วาระเรื่องแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการตามหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz หลังจากที่การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต สิ้นสุดลงด้วยเงินประมูลที่สูงถึง 80,778 ล้านบาท ทำให้ผู้บริโภคบางส่วนเกิดความกังวลว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะผลักภาระต้นทุนมายังผู้บริโภคผ่านการขึ้นอัตราค่าบริการหรือไม่ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ผู้ให้บริการไม่สามารถคิดค่าบริการแพงกว่าอัตราเฉลี่ยในปัจจุบันได้
เนื่องจากในการจัดประมูลคลื่นความถี่ สำนักงาน กสทช. ได้ประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz ที่เพิ่งมีการจัดประมูลเสร็จสิ้นไป และประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz ซึ่งกำลังจะมีการจัดประมูลเดือนในธันวาคม โดยประกาศทั้งสองฉบับได้ระบุเงื่อนไขไว้ด้วยว่า “ผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการที่เป็นธรรม ซึ่งรวมถึงการกำหนดอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค มีความชัดเจน และการให้บริการที่มีคุณภาพ" ซึ่งผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการทั้งบริการเสียงและบริการข้อมูลเฉลี่ยต่ำกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz และต้องจัดให้มีรายการส่งเสริมการขายอย่างน้อย 1 รายการที่ส่งเสริมและเพิ่มโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงบริการได้ โดยรายการส่งเสริมการขายนี้ต้องคิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงด้วย
สำหรับ วาระนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำแนวทางการตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้เป็นไปตามประกาศหลักเกณฑ์ทั้งสองฉบับ โดยสำนักงาน กสทช. ได้คำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยของการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่าน 2100 MHz ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2558 เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการบนย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ซึ่งผลการคำนวณอัตราค่าบริการประเภทเสียงอยู่ที่นาทีละ 0.72 บาท บริการ SMS อยู่ที่ข้อความละ 1.24 บาท บริการ MMS อยู่ที่ข้อความละ 2.93 บาท และบริการ Mobile Internet อยู่ที่เมกะไบต์ละ 0.26 บาท
อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่า อัตราค่าบริการที่สำนักงาน กสทช. คำนวณได้ในบางรายการ มีอัตราค่าบริการสูงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยเมื่อสิ้นปี 2557 เสียอีก ทั้งนี้ตามรายงานติดตามตรวจสอบและกำกับค่าบริการสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่านความถี่ 2100 MHz ฉบับประจำเดือนธันวาคม 2557 ระบุว่า อัตราค่าบริการประเภทเสียงอยู่ที่นาทีละ 0.66 บาทเท่านั้น ส่วนอัตราค่าบริการ Mobile Internet อยู่ที่เมกะไบต์ละ 0.23 บาท จึงเป็นประเด็นที่น่าเคลือบแคลงว่าเหตุใดในการคำนวณครั้งนี้กลับมีราคาที่แพงขึ้น ทั้งที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่าอัตราค่าบริการของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผ่านมามีแนวโน้มถูกลงมาโดยตลอด
ดังนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน สำนักงาน กสทช. ก็ควรเปิดเผยต่อสาธารณะถึงวิธีการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยโดยละเอียด รวมทั้งรายการส่งเสริมการขายทั้งหมดที่นำมาคำนวณด้วย จะได้ขจัดข้อครหาเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ให้บริการ หรือการไม่คุ้มครองผู้บริโภคอย่างที่ควรจะเป็น
นอกจากนี้ หากสำนักงาน กสทช. ยังคงเลือกใช้แนวทางการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยในรูปแบบเดิม ในการคำนวณอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่าน 2100 MHz ครั้งนี้ ก็ควรมีการปรับปรุงให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเคยมีนักวิชาการชี้จุดบกพร่องในหลายประเด็น เช่น การคำนวณอัตราค่าบริการประเภทเสียงของรายการส่งเสริมการขายประเภทเหมาจ่ายตามช่วงเวลา (Buffet) มีการคำนวณโดยนำอัตราค่าบริการมาหารเฉลี่ยนาทีทั้งหมดตามรายการส่งเสริมการขาย ซึ่งทำให้ผลลัพธ์การคำนวณที่ได้ต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะพฤติกรรมการใช้บริการโดยปกติของคนทั่วไปไม่ได้ใช้งานทุกนาทีอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเวลาดังกล่าว หรือการคำนวณอัตราค่าบริการโดยอาศัยเพียงข้อมูลอัตราค่าบริการของรายการส่งเสริมการขายแต่ละรายการโดยไม่มีการถ่วงน้ำหนัก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รายการส่งเสริมการขายในแต่ละรายการมีจำนวนผู้ใช้บริการมากน้อยแตกต่างกัน เป็นต้น ดังนั้นสำนักงาน กสทช. ควรปรับปรุงแนวทางในครั้งนี้เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ใช้บริการตามวัตถุประสงค์ของประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ได้อย่างแท้จริง
อินโฟเควสท์