- Details
- Category: กสทช.
- Published: Friday, 13 November 2015 15:28
- Hits: 2478
เอไอเอส-ทรูมูฟ คว้าคลื่น'4จี'ทุ่ม 8 หมื่นล้าน เคาะยาว 29 ชม.
เอไอเอส-ทรูมูฟซิวประมูลโทรศัพท์ '4จี'บนคลื่นความถี่ 1800เมกะเฮิร์ตซ์ หลังเคาะราคามาราธอนข้ามวันข้ามคืน 29 ชั่วโมง รวม 2 ใบอนุญาตได้เงินเข้ารัฐกว่า 8 หมื่นล้านบาท เผยดีแทคไม่สู้หยุดเคาะไปตั้งแต่รอบที่ 6 หรือ 7 แล้ว ด้านกสทช.เตรียมนำเสนอผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณาของกทค.ในวันที่ 17 พ.ย.นี้ จากนั้น ผู้ชนะการประมูลจะต้องมาชำระเงิน 50% ของมูลค่าเสนอประมูลภายใน 90 วันหลังจากได้รับหนังสือแจ้งผล
วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 9116 ข่าวสดรายวัน
มาราธอน - กสทช.แถลงผลประมูลใบอนุญาต 4 จี หลังใช้เวลาประมูลยาวนานถึง 29 ชั่วโมง โดยคลื่นความถี่ชุดที่ 1 บริษัททรูมูฟ เอชฯ ประมูล 39,792 ล้านบาท คลื่นความถี่ชุดที่ 2 บริษัทแอดวานซ์ฯ ประมูล 40,986 ล้านบาท ที่กสทช. เมื่อวันที่ 12 พ.ย.
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 12 พ.ย.ที่สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีการจัดประมูลใบอนุญาต 4 จี คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิร์ตซ์ จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบละ 15 เมกะเฮิร์ตซ์ แบ่งเป็น ใบอนุญาตที่ 1 บนคลื่นความถี่ย่าน 1710-1725 เมกะเฮิร์ตซ์ และใบอนุญาตที่ 2 บนคลื่นความถี่ย่าน 1725-1740 เมกะเฮิร์ตซ์ ต่อเป็นวันที่ สอง หลังจากเคาะราคาประมูลเป็นไปอย่างมาราธอน แข่งกันข้ามวันข้ามคืนกันตั้งแต่เวลา 10.00 น.วันที่ 11 พ.ย. มาจนถึงรอบที่ 62 ในเวลา 07.00 น.ราคาประมูลรวม 2 ใบอนุญาตที่สร้างรายได้ให้รัฐ 69,634 ล้านบาท แบ่งเป็นใบอนุญาตที่ 1 ราคา 34,618 ล้านบาท ใบอนุญาตที่ 2 ราคา 35,016 ล้านบาท แต่ในรอบที่ 64 ผู้เข้าร่วมประมูลกลับมาเคาะราคาประมูลอีกครั้ง ทำให้การประมูลยังไม่จบ
เวลา 09.15 น. รวมเป็นระยะเวลากว่า 23 ชั่วโมง ที่มีการแข่งขันเคาะราคาของผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 4 บริษัท โดยการแข่งขันเคาะราคาในที่รอบ 68 ยังมีการเคาะราคาต่อเนื่อง รวมราคาการประมูล 2 ใบอนุญาตที่สร้างรายได้เข้ารัฐทะลุ 71,226 ล้านบาท แบ่งเป็น ใบอนุญาตที่ 1 ราคา 35,414 ล้านบาท ใบอนุญาตที่ 2 ราคา 36,210 ล้านบาท และยังเคาะต่อเนื่องในรอบที่ 69 ราคารวม 2 ใบอนุญาตที่ 71,624 ล้านบาท ใบอนุญาตที่ 1 ราคา 35,812 ล้านบาท ใบที่ 2 ราคาอยู่ที่ 36,210 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังเคาะต่อเนื่องจนถึงรอบที่ 70 ราคารวม 2 ใบอนุญาตเพิ่มขึ้นไปที่ 72,420 ล้านบาท โดยใบอนุญาตที่ 1 ราคา 36,210 ล้านบาท ใบอนุญาตที่ 2 ราคา 36,210 ล้านบาท และเดินหน้าสู่รอบที่ 71 ในเวลา 10.00 น. ซึ่งครบ 24 ชั่วโมงที่มีการเคาะราคาประมูลมาอย่างต่อเนื่อง ราคาประมูลในรอบนี้มีการเคาะราคาในใบอนุญาตที่ 1 เพิ่มเป็น 36,608 ล้านบาท ใบอนุญาตที่ 2 คงที่ 36,210 ล้านบาท รวม 2 ใบอนุญาตราคารวมสร้างรายได้เข้ารัฐถึง 72,818 ล้านบาท
เวลา 10.15 น. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่าประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการประมูลข้ามวันข้ามคืนในรูปแบบนี้ แต่ในเมื่อราคาประมูลสูงแตะระดับกว่า 70,000 ล้านบาท ทางกสทช.ยังยืนยันว่าอัตราค่าบริการ 4 จี จะต้องถูกกว่า 3 จีในอัตราปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขที่กสทช.กำหนดไว้ให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตาม หากไม่ทำตามจะดำเนินการลงโทษทางปกครอง แต่ราคาประมูลที่สูงเกินคาดอาจจะกระทบผลกำไรของผู้ชนะการประมูล แต่ต้องไม่นำเกี่ยวกับค่าบริการ
สำหรับ การเคาะราคาประมูลในรอบที่ 75 รอบสุดท้ายก่อนพัก มีการเคาะราคาในใบอนุญาตที่ 1 เพิ่มขึ้นเป็น 37,006 ล้านบาท ส่วนใบที่ 2 ราคาคงเดิมจากรอบก่อนที่ 37,404 ล้านบาท ราคารวมที่สร้างรายได้เข้ารัฐ 74,410 ล้านบาท หลังจากนี้จะพักการประมูล และรอบต่อไปจะเริ่มในเวลา 14.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการประมูลใบอนุญาต 4G บนความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ของเอกชน 4 ราย ได้แก่ ได้แก่ 1.บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด 2.บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 3.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และ 4.บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ในช่วงบ่าย หลังชกทค.ประชุมนัดพิเศษครั้งที่ 5 มีมติให้พักการประมูลเป็นเวลา 3 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 11.30-14.30 น.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 14.30 น. การประมูลเริ่มขึ้นอีกครั้ง เป็นการเคาะราคาประมูลในรอบที่ 76 ผลคือใบอนุญาตที่ 1 ยังคงมีการเคาะราคาเพิ่มขึ้นเป็น 37,404 ล้านบาท ส่วนใบที่ 2 ราคาคงเดิมจากรอบก่อนที่ 37,404 ล้านบาท ทำให้ราคารวมที่สร้างรายได้เข้ารัฐ 74,808 ล้านบาท
ด้านนายฐากรกล่าวว่ามติที่ประชุมของ กทค. เป็นไปตามหนังสือร้องขอจากทางผู้เข้าร่วมประมูลทั้งสิ้น 3 ราย หลังจากการประมูลผ่านไป 25 ชั่วโมงแล้ว เนื่องจากผู้เข้าร่วมประมูลล้วนเป็นผู้ใหญ่และเริ่มเหนื่อยล้ามาก จึงต้องคำนึงถึงเรื่องสุขภาพ ทั้งนี้กคท.ยืนยันว่าจะมีการเข้มงวดเรื่องการตัดขาดการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกทั้งสิ้นตามกฎของ ผู้เข้าร่วมประมูล โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของ กทค. และเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลร่วมกันทั้งหมด เพื่อความเป็นธรรมโปร่งใส อย่างไรก็ตามจะให้ผู้เข้าร่วมประมูลประสานกับจุดติดต่อพิเศษ เพื่อแจ้งต่อครอบครัวเพื่อนำเสื้อผ้า ของใช้ส่วนตัวรวมถึงข้อความที่จะส่งถึงผู้ร่วมประมูล
นายฐากร กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้ที่เข้าร่วมประมูลออกจากห้องประมูลไปแล้วจำนวน 9 ราย จากทั้งหมด 4 บริษัท รวม 35 ราย เหลือ 26 ราย ขณะที่ในเวลา 11.30 น.เจ้าหน้าที่ กทค.นำทีมแพทย์เข้าไปตรวจสุขภาพให้กับ ผู้เข้าร่วมประมูลทั้งหมด อาทิ ตรวจความดัน ตรวจชีพจร ซึ่งโดยรวมผลตรวจเป็นปกติ
ต่อมาเวลา 17.25 น. ผลการประมูลได้ดำเนินไปถึงรอบที่ 84 โดยเจ้าหน้าที่ได้ประกาศว่าจะเป็นรอบสุดท้ายของวันนี้ตามมติ กคท. ผลคือใบอนุญาตที่ 1 และ 2 ยังคงมีการเคาะราคาเพิ่มขึ้น โดยใบที่ 1 เพิ่มเป็น 39,792 ล้านบาท ใบที่ 2 เพิ่มเป็น 40,588 ล้านบาท รายได้เข้ารัฐรวม 80,380 ล้านบาท
เมื่อเวลา 18.10 น. พ.อ.เศรษฐพงค์ แถลงข่าวกลับมติผลการประชุมครั้งแรก ให้เดินหน้าประมูล 4 G ต่อเนื่องในเวลา 18.30 น. หลังจากนั้นหากการประมูลต่อเนื่องถึง 24.00 น. จะมีการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากผู้ประมูลทั้ง 3 รายเดิมที่ร้องขอให้พักการประมูลได้คัดค้านอยากให้เดินหน้าประมูลต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังเวลา 18.30 น. การประมูลหลังเริ่มขึ้นอีกครั้งโดยเริ่มต้นประมูลรอบที่ 85 ซึ่งยังคงมีการเคาะราคาเพิ่มในส่วนของใบที่ 2 ที่ 40,986 ล้านบาท ส่วนใบที่ 1 คงที่ 39,792 ล้านบาท หลังจากนั้นการประมูลรอบที่ 86 ดำเนินต่อเนื่องในเวลา 18.50 น. และสิ้นสุดลงในเวลา 19.05 น. โดยเจ้าหน้าที่ ประกาศสิ้นสุดการประมูลใบอนุญาต 4G บนความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยการประมูลในรอบที่ 86 จบลง เนื่องจากไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลแสดงความประสงค์ในการเคาะราคาเพิ่ม ทำให้เงินที่จะส่งเข้ารัฐในการประมูลครั้งนี้รวม 80,778 ล้านบาท โดยใบอนุญาตที่ 1 อยู่ที่ 39,792 ล้านบาท และใบที่ 2 อยู่ที่ 40,986 ล้านบาท เป็นการใช้เวลาในการประมูลทั้งสิ้น 29 ชั่วโมง แต่หากรวมระยะเวลาพักระหว่างวัน 2 ช่วง คิดเป็น 32 ชั่วโมงครึ่ง
เวลา 20.00 น. พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กรรมการ และเลขาธิการ กสทช. ร่วมแถลงผลผู้ชนะการประมูลเบื้องต้น โดยมอบหมายให้ พ.อ.เศรษฐพงค์ แถลงว่าผู้ที่ชนะการประมูลสำหรับชุดคลื่นความถี่ชุดที่ 1 คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มูลค่าที่เสนอสุดท้ายคือ 39,792 ล้านบาท และผู้ที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ชุดที่ 2 คือบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ราคาเสนอประมูลสุดท้ายคือ 40,986 ล้านบาท
ส่วนผู้ที่ไม่ชนะการประมูล 2 รายคือ บริษัท แจส โมบายล์ บรอดแบรนด์ จำกัด เสนอราคาประมูลสุดท้ายชุดที่ 1 ที่ราคา 38,996 ล้านบาท และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอราคาประมูลสุดท้ายในชุดที่ 1 ที่ราคา 17,504 ล้านบาท ซึ่งหมายถึงว่ายุติการประมูลไปตั้งแต่รอบประมาณที่ 6 หรือ 7
ด้านนายฐากรกล่าวว่า กสทช. จะนำเสนอผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณาของ กทค. ได้ในวันที่ 17 พ.ย. จากนั้น ผู้ชนะการประมูลจะต้องมาเงินมาชำระ 50% ของมูลค่าเสนอประมูล ภายใน 90 วันหลังจากได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล เพื่อรับใบอนุญาตที่จะมีผลในทันที และมีอายุยาว 18 ปี