- Details
- Category: กสทช.
- Published: Saturday, 31 October 2015 19:41
- Hits: 2362
กสทช.ขู่เล่นงานอาญาหากเจอฮั้ว ย้ำประมูล 4G ต้องโปร่งใส แย้มมี 4 รายผ่านคุณสมบัติ
แนวหน้า : นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ความเห็นกรณีบางฝ่ายแสดงความกังวล กสทช. จัดประมูลคลื่น4G จะเกิดการสมยอมราคาหรือฮั้วประมูลว่า กสทช.ขอยืนยันว่ากระบวนการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz กับ 900 MHz ในวันที่ 11 และ 12 พ.ย.นี้ เป็นไปอย่างโปร่งใส ไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ ทั้งสิ้น ทั้งนี้กสทช.คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและรัฐเป็นหลัก ทั้งนี้ กสทช. มีขั้นตอนการทำงานเพื่อจัดประมูลคลื่น 4G อย่างเปิดเผยตรวจสอบได้ โดย ในวันประมูล กสทช.เชิญองค์กรต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศร่วมสังเกตการณ์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความโปร่งใสด้วย
นายฐากร กล่าวย้ำอีกว่า กสทช. กำหนดเงื่อนไขและกระบวนการป้องกันการสมยอมราคา ไว้เป็นอย่างดี ส่วนที่มีความกังวลในการเลื่อนการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz มาไว้ใกล้กับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะทำให้เกิดการสมยอมราคานั้น สำนักงาน กสทช. ขอเรียนยืนยันว่าคงเป็นไปได้ยาก แต่หากตรวจสอบพบมีการสมยอมราคา เมื่อใด สำนักงาน กสทช. จะเสนอยกเลิกการประมูลทันที และจะดำเนินคดีอาญากับผู้ฮั้วประมูล ตลอดจนจะพิจารณาถึงการขาดคุณสมบัติในการรับใบอนุญาตเดิม ดังนั้น ขอฝากเรียนผู้เข้าร่วมการประมูล ในครั้งนี้ ขอให้เข้าร่วมการประมูลด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะมีการตรวจสอบทุกขั้นตอนในระหว่างนี้ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการจัดประมูล คลื่นความถี่ของ กสทช. ในครั้งนี้
นายฐากร กล่าวว่า ในวันที่ 29 ต.ค.นี้ การประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.จะมีการพิจารณาหารือประเด็นตามที่สำนักงานฯเสนอไป 2 วาระคือ การอนุมัติให้ผู้ประกอบการเอกชนที่มีความสนใจเข้าร่วมประมูล 4G บนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ทั้ง 4 รายผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ
นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาอนุมัติให้บมจ.ทีโอทีสามารถอัพเกรดเทคโนโลยี บนคลื่น 2300 MHz ตามที่ทำหนังสือเสนอมา ซึ่งขณะนี้การตรวจสอบคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูลผ่านเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว โดยเกณฑ์การพิจารณาเวลาสั้นกว่าในครั้งการขอร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz เพราะเอกสารในครั้งนี้ เหมือนกันทุกอย่างแตกต่างเฉพาะตัวเลขวงเงินประมูล และพื้นที่ครอบคลุมการ ให้บริการเท่านั้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่คาดว่าผ่านเกณฑ์การพิจารณาและสามารถให้เข้าร่วมประมูล ประกอบด้วย บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด บริษัทในบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด บริษัทในเครือกลุ่มทรูฯ
กสทช.มั่นใจประมูล 4G ในวันที่ 11-12 พ.ย.นี้ โปร่งใส-ไม่มีการฮั้วประมูลแน่นอน
กสทช. มั่นใจประมูล 4G ในวันที่ 11-12 พ.ย.นี้ โปร่งใส-ไม่มีการฮั้วประมูลแน่นอน คาดได้เงินจากการประมูล 4G ราว 7.1 หมื่นลบ. เตรียมนำคลื่น 2600 MHz ออกประมูล อยู่ระหว่างเจรจากับ อสมท.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า ทาง กสทช. เชื่อว่าการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ย. 2558 และการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในวันที่ 12 พ.ย. 2558 เชื่อว่าจะไม่มีการฮั้วประมูล เนนื่องจาก ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ ต่างก็ต้องการใบอนุญาตถึง 2 ใบ คือได้ทั้งคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz เพื่อรองรับการให้บริการกับลูกค้า
พร้อมกันนี้ ทางกลุ่ม บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เข้าประมูลในครั้งนี้ ซึ่งเชื่อได้ว่าทาง JAS จะวางแบงก์ การันตี สูงถึง 1.6 หมื่นล้านบาท เพื่อจะนำคลื่นความถี่ที่ได้มาใช้รองรับบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต
อย่างไรก็ตาม ทาง กสทช. ได้มีการวางแนวทางป้องกันหากมีการสมยอมราคา ซึ่งจะตรวจสอบดูพฤติกรรม และถ้าพบเห็นจะไม่มีการรับรองผลการประมูล โดยเบื้องต้นคาดว่าการประมูล 4 ใบอนุญาตในครั้งนี้จะได้รับเงินประมูลประมาณ 7.1 หมื่นล้านบาท บนสมมติฐานที่ราคาจะขึ้นไป 90% ของราคาคลื่น โดยเงินที่ได้จากการประมูลจะส่งเข้าทางกระทรวงการคลังต่อไป
นายฐากร กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางกสทช. ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับ บมจ.อสมท (MCOT) ที่เป็นผู้ถือครองคลื่น 2600 MHz จำนวน 120 MHz เพื่อที่จะนำคลื่นดังกล่าวไปเปิดประมูลคลื่นความถี่หลังจากการประมูล 4G ผ่านไป โดยทาง อสมท.มีความต้องการที่จะคืนคลื่น 2600 MH เช่นกัน แต่ยังติดที่สัมปทานที่ให้บริการกับเคเบิ้ลทีวี อีกทั้งยังต้องการเงินเยียวยาในการคืนคลื่นในครั้งนี้ แต่ทั้งนี้ต้องรอกฎหมายใหม่ของทาง กสทช.
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย