- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 15 October 2015 08:50
- Hits: 4208
กทค.เคาะประมูล4จี 11-12 พ.ย.นี้ ชี้เงินสะพัดกว่า 2 แสนล้าน-ตั้งเงื่อนค่าบริการถูกกว่า 3 จี
แนวหน้า : พันเอกเศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กทค. ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบ กำหนดวันการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ในวันที่ 11 พ.ย. 2558 และประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ โดยการเลื่อนเวลาการประมูลคลื่น 900 MHz เนื่องจากจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจในประเทศมีผลรวมที่ดีขึ้น ซึ่งจะทำให้การออกใบอนุญาต(ไลเซ่นส์) จะสามารถให้ได้เร็วขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ และสามารถเปิดให้บริการระบบ 4G ได้ในต้นเดือน ม.ค. 2559
ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย บอร์ด กทค. มีมติเห็นชอบกำหนดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHZ) ในวันที่ 11 พ.ย. 2558 และกำหนดวันประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 12 พ.ย. 2558 จากเดิมที่จะให้ประมูลจากวันที่ 15 ธ.ค. โดยการพิจารณาร่นเวลาการประมูลคลื่น 900 ให้เร็วขึ้น เนื่องจากที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค
ทั้งนี้ ข้อดีของการเลื่อนวันเข้ามาเพื่อให้การเปิดให้บริการคลื่น1800 MHz และ 900 MHzจะสามารถเปิดบริการพร้อมกันในช่วงเดือนมกราคม 2559 อย่างแน่นอน เพราะ กสทช.คาดว่าจะสามารถอนุมัติให้ใบอนุญาตผู้ชนะการประมูลได้ภายในสิ้นเดือนหลังจากประกาศรายชื่อรับรองผลการประมูลได้วันที่ 18 พ.ย.และ 19 พ.ย. ตามลำดับซึ่งการประมูลครั้งนี้ คาดว่าจะได้เงินรายได้เข้ารัฐประมาณ 73,000 ล้านบาท รวมถึงมีเม็ดเงินของผู้ให้บริการลงทุนเพื่อให้บริการประมาณ 160,000 ล้านบาท จากการขยายโครงข่ายให้บริการ
สำหรับ งบประมาณที่ กสทช.ใช้ในการเตรียมประมูลจำนวน 110 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการว่าจ้างสหภาพโทรคมนาคม (ไอทียู)ในการศึกษาวิจัย 30 ล้านบาท การจ้างผู้ดำเนินการประมูล (สหการประมูล) 16 ล้านบาท และงบประมาณประชาสัมพันธ์และจัดงาน 64 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากงบประมาณที่ใช้จัดการประมูลใบอนุญาต 3จีย่านความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) ที่ใช้จำนวน 128 ล้านบาท
ทั้งนี้ สาระสำคัญของหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 ภายหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปแล้ว ได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 50% ภายใน 4 ปี และไม่น้อยกว่า 80% ภายใน 8 ปี เพื่อเป็นการประกันการใช้งานคลื่นความถี่และให้มีการกระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น
ส่วนราคาขั้นต่ำและงวดการชำระเงินประมูล โดยราคาขั้นต่ำในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 2 ราย จะอยู่ที่ 12,864ล้านบาท และราคาประมูลรอบแรกเท่ากับ 13,508 ล้านบาท ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่า 2 ราย ราคาขั้นต่ำจะอยู่ที่ 16,080 ล้านบาทและราคาประมูลรอบแรกเท่ากับ 16,402 ล้านบาท สำหรับงวดการชำระเงินค่าประมูลจะแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด โดยงวดแรกชำระ50% งวดที่ 2 ชำระ 25% งวดที่ 3 ชำระ 25% เช่นเดิม ยกเว้นในกรณีที่ราคาประมูลสูงสุดมากกว่า 100% (หรือ 16,080 ล้านบาท) จะแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด โดยค่าประมูล 16,080 ล้านบาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด ส่วนเหลือชำระในงวดที่ 4 เพื่อเป็นการป้องกันการสมยอมราคาจากการเปิดเผยวงเงินประมูลของผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายในตอนที่ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาประมูล
นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขในส่วนของมาตรการทางสังคมและการคุ้มครองผู้บริโภคเมื่อเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3จีบนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทุกแพ็กเกจจากที่อัตราค่าเฉลี่ยปัจจุบันอยู่ที่0.69 บาทต่อนาที สำหรับบริการเสียง (วอยซ์) และ 0.26 บาทต่อเมกะบิต สำหรับบริการดาต้า (นอนวอยซ์) และต้องมีแพ็กเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส