- Details
- Category: กสทช.
- Published: Wednesday, 30 September 2015 20:56
- Hits: 2320
สหภาพฯทีโอที ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินค้าน AIS โอนย้ายลูกค้า-ประมูล 900MHz
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอที นำโดยนายอนุชิต ธูปเหลือง ประธานสหภาพฯ เข้ายื่นหนังสือถึงประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อร้องเรียนกรณีหน่วยงานรัฐเอื้อประโยชน์โอนย้ายลูกค้าจากสัมปทานของรัฐ(บมจ.ทีโอที) ให้เอกชนและการนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไปเปิดประมูล ทำให้รัฐเสียหาย
ตามแถลงการณ์ของสหภาพฯ ระบุว่าการโอนย้ายลูกค้าออกจากระบบสัมปทานบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Cellular 900 ของบมจ.ทีโอที ไปยังบมจ.แอดวานซ์ ไวเลสน์ เน็ตเวิร์ค(AWN) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส ตามประกาศกฎเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) โดยดำเนินการผิดประกาศกฎเกณฑ์ กสทช. ส่งผลให้ บมจ.ทีโอทีเสียหาย และ หาก กสทช.เปิดประมูลคลื่น 900 MHz ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น
"เนื่องจากในวันนี้เป็นวันสุดท้ายของสัญญาสัมปทานอนุญาตให้ เอไอเอส ดำเนินการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่สหภาพฯยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งผลการดำเนินงานใดๆของบมจ.ทีโอที เรียนสอบถามมายังท่าน ประธานบอร์ดทีโอที เพื่อป้องกันผลกระทบความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชน และกับทีโอที"หนังสือเรียกร้อง ระบุ
ดังนั้น สหภาพฯ จึงเรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบความจริง พร้อมทั้งดำเนินการทางวินัยและทางกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องหากตรวจสอบพบว่าการโอนย้ายลูกค้าโทรศัพท์เคลื่อนที่จากสัญญาสัมปทานของเอไอเอสไปยัง AWN มีการกระทำที่ผิดประกาศกฎเกณฑ์ กสทช.รวมจำนวนลูกค้าที่ต้องดำเนินการเรียกคืนกลับทีโอทีทั้งสิ้น 30,434,523 ราย และเมื่อวันที่ 11 ก.ย.58 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.ให้สัมภาษณ์ยอมรับว่าเอไอเอสมีการโอนย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G 900 MHz ของทีโอทีไปยังระบบ 3G 2100 ของบริษัทลูกชื่อ AWN ผิดประเภทการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่จริง
หาก กสทช.นำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไปเปิดประมูล โดยจะเคาะราคาในวันที่ 15 ธ.ค. 58 และ ทีโอที ไม่มีคลื่นความถี่ 900 MHz มาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อจากเอไอเอส ลูกค้าจำนวน 30,434,523 ราย ซึ่งเป็นทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งก็คือ บมจ.ทีโอที เสียหายเป็นมูลค่า 63,912,498,300 บาทต่อปี และมูลค่าทรัพย์สินอุปกรณ์โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของรัฐ ซึ่ง บมจ.ทีโอที รับมอบมา ณ วันที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน คือวันที่ 30 ก.ย.58 มีมูลค่ากว่า 2.1 หมื่นล้านบาทนั้น ทรัพย์สินอุปกรณ์ดังกล่าวจะด้อยค่าทันที
และ บมจ.ทีโอทืไม่สามารถดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อเป็นเครื่องมือถ่วงดุลลดการเอาเปรียบของเอกชนที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ อีกทั้งประชาชนถูกบังคับซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือ 3G 4G ใหม่เนื่องจากจะไม่มีระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ในประเทศไทยอีกต่อไปตามนโยบาย กสทช. ที่กำลังดำเนินการอยู่
นอกจากนี้ สหภาพฯต้องการทราบว่า บมจ.ทีโอทีได้ดำเนินการใดไปแล้วบ้างในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ให้อยู่กับ บมจ.ทีโอที ต่อไป และดำเนินการใดในการเรียกร้องให้เอไอเอสส่งมอบทรัพย์สินอุปกรณ์เครื่อข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น เสาส่ง สายอากาศ สายสัญญาณ อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ อุปกรณ์ระบบสนับสนุนบริการเสริม เครื่องมือ ฯลฯ (ตามการติดตั้งใช้งานจริงและมีไว้ใช้งานในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่) ส่งมอบให้บมจ.ทีโอทีถูกต้องและครบถ้วน ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน
บมจ.ทีโอที ดำเนินการอย่างไรกํบกรณีที่เอไอเอส มีการโอนย้ายลูกค้าผู้ใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากระบบสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่2G 900 MHz ของทีโอที ไปยัง บริษัท AWN ผิดประกาศสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งโอนย้ายแบบผิดกฏหมาย กว่า 30.4 ล้านเลขหมาย รวมถึงดำเนินการตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.)ที่มีมติให้ บมจ.ทีโอที เร่งรัดขอชดเชยค่าเสียประโยชน์จากเอไอเอสจากการแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งที่ 6 และ 7 จำนวน 72,000 ล้านบาทแล้วหรือไม่ อย่างไร
และบมจ.ทีโอทีจะดำเนินการอย่างไรในการเรียกร้องค่าเสียหายจาก กสทช. ในกรณีนำคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ไปประมูล ทำให้ทรัพย์สินของรัฐ อันได้แก่ อุปกรณ์โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 21,000 ล้านบาท หลังหักค่าเสื่อมราคาเรียบร้อยแล้ว กลายเป็นทรัพย์สินด้อยค่า ไม่สามารถนำมาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G ต่อจาก เอไอเอสหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานได้ ถ้าไม่มีคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz รองรับการใชงานให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
อนึ่ง บมจ.ทีโอทีให้สัมปทานดำเนินการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ Cellular 900 กับ ADVANC หรือ เอไอเอส แบบ BTO (Built Transfer Operator) เมือวันที่ 27 มี.ค. 33 อายุสัญญา 25 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 33 ถึงวันที่ 30 ก.ย.58 ตามสัญญาอนุญาตฯ กำหนดให้เอไอเอส มีหน้าที่ต้องดำเนินการให้บริการตามเงื่อนไขตามสัญญา และตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาอนุญาตฯรวมทั้งมีหน้าที่ในการหาผู้ใช้บริการ
อินโฟเควสท์