WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

BNTCฐากร ตณฑสทธกสทช.เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ 4G กำหนดเปิดประมูล 11 พ.ย.58 อาจประมูลพร้อมคลื่น 900

   นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุม กสทช. วาระพิเศษเพื่อพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1710-1722.5 MHz 1805-1817.5 MHz และ 1748-1760.5/1843-1855.5 MHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 MHz และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวันที่ 18 ก.ค. 2558

     ร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4G คลื่นความถี่ 1800 MHz จะเปิดประมูลในวันที่ 11 พ.ย. 2558 กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่เป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 12.5 MHz โดยมีกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 11,600 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาต ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจาก 70% ของมูลค่าคลื่นความถี่ กรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลผ่านคุณสมบัติน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่เปิดให้ประมูล จะเพิ่มราคาตั้งต้นเป็น 16,570 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาต ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจากมูลค่าคลื่นที่แท้จริง

    นอกจากนี้ ร่างหลักเกณฑ์ประมูล 4G ยังกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่ 40% ใน 4 ปี และยังได้กำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ได้ไม่เกิน 60 MHz รวมถึงกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ผู้ชนะการประมูลเสนออัตราค่าบริการที่เหมาะสมเข้ามาด้วย ซึ่งต้องไม่เกินอัตราค่าบริการขั้นสูงที่สำนักงาน กสทช. ได้ประกาศกำหนดไว้

   พร้อมทั้งต้องจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม ที่ครอบคลุมถึงการจัดการขยะอิเล็คทรอนิคส์ สุขภาพของผู้ใช้บริการ บริการสำหรับผู้พิการซึ่งอย่างน้อยต้องมีการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษ และการจัดทำใบแจ้งหนี้หรือสัญญาให้บริการที่ใช้อักษรขนาดใหญ่หรือใช้อักษรสำหรับคนตาบอด (Braille) โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม และแผนคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ครอบคลุมถึงเรื่องมาตรการการรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีค่าบริการ มาตรการจัดการกับบริการบริการที่ไม่เหมาะสม กระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนในการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ใช้บริการเกี่ยวกับสิทธิในการใช้บริการโทรคมนาคม

  นายฐากร กล่าวว่า ตามกรอบการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะเริ่มรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1710-1722.5 MHz/1805-1817.5 MHz และ 1748-1760.5/1843-1855.5 MHz และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 1710-1785/1805-1880 MHz ในวันที่ 18 ก.ค. 2558 คาดว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ไม่เกินวันที่ 26 ส.ค. 2558

    หลังจากนั้นจะประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่มารับเอกสารประกอบในการเตรียมการประมูล (รับซองประมูล) ได้ประมาณวันที่ 28 ส.ค.-28 ก.ย. 2558  และกำหนดให้ผู้สนใจสามารถยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ (ยื่นซองประมูล) ในวันที่ 30 ก.ย. 2558  จากนั้นคาดว่าจะสามารถพิจารณาคุณสมบัติผู้มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายในช่วงระหว่างวันที่ 30 ก.ย.-21 ต.ค. 2558  และจะสามารถประกาศผลผู้ผ่านคุณสมบัติได้ในวันที่ 21 ต.ค. 2558 หลังจากนั้น มีการเตรียมความพร้อมสำหรับผู้เข้าร่วมการประมูล เพื่อซักซ้อมความเข้าใจกฎกติกาการประมูลให้ผู้ที่ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมการประมูลในช่วงระยะเวลาวันที่ 22 ต.ค.-10 พ.ย. 2558 ภายหลังจากเสร็จสิ้นขั้นตอนกระบวนการทั้งหมด

     สำนักงาน กสทช. คาดว่าจะสามารถจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ได้ในวันที่ 11 พ.ย. 2558  และจะสามารถรับรองผลและประกาศผลผู้ชนะการประมูลได้ภายในไม่เกินวันที่ 25 พ.ย. 2558 ทั้งนี้ผู้ชนะการประมูลจะต้องชำระเงินประมูลและรับใบอนุญาตภายในเดือน ธ.ค. 2558

*ลุ้นประมูลคลื่น 900MHz พร้อมกับ 1800 MHz

      นายฐากร กล่าวว่า กสทช.ยังมีการพิจารณาถึงเรื่องคลื่นความถี่ 900 MHz ว่าจะนำมาเปิดประมูลพร้อมกันกับคลื่นความถี่ 1800 MHz ได้หรือไม่ เนื่องจากมีข้อสังเกตุคือ แม้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับก็ไม่ได้ส่งผลให้รัฐมีความเสียหาย ขณะเดียวกันจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz จะนำเสนอต่อคณะกรรมการ กทค.ในวันที่ 16 ก.ค.58 คาดว่าน่าจะมีโอกาสความเป็นไปได้พอสมควร

    ทั้งนี้ ยืนยันว่าหากมีการประมูลพร้อมกัน กรอบการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz ก็จะกำหนดให้ประมูลในวันที่ 11 พ.ย.58 ตามเดิม ไม่ล่าช้าออกไปจากแผน

    นายฐากร กล่าวอีกว่า การเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz แบ่งเป็น 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 12.5 MHz ตามเดิม เนื่องจาก บมจ.กสท โทรคมนาคม(CAT) ส่งหนังสือคืนคลื่นความถี่จำนวน 5 MHz ให้กับ กสทช.ไม่ทันวันนี้

   แต่อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า กสทช.คงไม่มีอำนาจขยายเวลาการถือครองคลื่นความถี่ที่เหลืออีก 20 MHz ให้กับ CAT ตามที่ร้องขอถือครองคลื่นไปจนถึงปี 68 โดยไม่นำไปนับรวมในสัมปทาน ดังนั้น เมื่อหมดสัญญาสัมปทานในปี 61 แล้ว CAT จะต้องนำส่งคลื่นตามครบสัญญาสัมปทาน เพื่อที่จะให้ กสทช.นำไปเปิดประมูลต่อไป

    ทั้งนี้ CAT จะนำคลื่นดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการทำเทคโนโลยี 4G โดยจะทำหนังสือส่งไปทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT)ให้เป็นผู้ประสานงานกับ กสทช. รวมถึงบริษัทจะส่งหนังสือให้กระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงในการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัท เนื่องจากเป็นไปตามข้อกำหนด พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 โดยจะต้องส่งให้คณะกรรมการมาตรา 43 ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 พิจารณาลงมติเห็นชอบต่อไป และกรณีดังกล่าวจะต้องชี้แจงต่อคณะกรรมการเตรียมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) เพื่อการใช้สิทธิของคลื่นความถี่ดังกล่าว

         อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!