- Details
- Category: กสทช.
- Published: Friday, 20 June 2014 00:37
- Hits: 3442
กสทช. ห่วงพนันเพิ่มหลังคนไทยได้ดูบอลโลกฟรี นักวิชาการแนะส่งเสริมองค์กรวิชาชีพกำกับจริยธรรมสื่อ
กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคฯ ร่วมกับ มสช. จัดเวทีหามาตรการคุมเข้มพนันบอล เหตุเพราะห่วงคนเล่นพนันเพิ่มหลังมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวี ด้านนักวิชาการชี้รูปแบบการพนัน ขยับจากโต๊ะบอลสู่พนันออนไลน์มากขึ้น โดยสื่อมีบทบาทอย่างมากทั้งการชี้นำและกระตุ้นให้เกิดการเล่นพนัน การบล็อกเว็บช่วยแก้ปัญหาได้เฉพาะหน้า แต่ระยะยาวทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน แนะองค์กรวิชาชีพจับมือ กสทช. ออกแนวปฏิบัติคุมกำเนิดปัญหา
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ร่วมกับโครงการขับเคลื่อนสังคมและนโยบายสาธารณะเพื่อลดผลกระทบจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)จัดงานเสวนา 'ฟุตบอลโลก : เกมหรือพนัน กับบทบาทอันท้าทายของสื่อ'เพื่อหามาตรการควบคุมและแก้ไขปัญหาพนันบอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำหน้าที่ของสื่อ ตลอดจนการทายผลฟุตบอลผ่านออนไลน์
** พนันออนไลน์โต ห่วงเยาวชนเป็นเหยื่อ
นายประวิทย์ กล่าวว่า แม้สังคมจะยอมรับเรื่องการพนันว่ามีมาแต่เดิม แต่ปัจจุบันรูปแบบการพนันได้เปลี่ยนแปลงจากวิถีชุมชนมาเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ขณะที่ในอดีตชุมชนไม่ได้ตีไก่หรือแทงหวยกันทุกวัน แต่ปัจจุบันมีการเล่นพนันกันเป็นเทศกาล สามารถทายผลฟุตบอลกันได้ทุกวัน และสื่อมีบทบาทสำคัญอย่างมากทั้งการชี้นำและเป็นช่องทางการเล่น โดยเยาวชนสามารถเล่นพนันกันได้แม้กระทั่งอยู่ในห้องนอน ด้วยการเล่นผ่านระบบออนไลน์ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สังคมต้องร่วมกันขีดวงปัญหา เพราะถ้าสังคมไหนปล่อยให้เยาวชนเล่นพนัน นั่นหมายถึงความล้มเหลวของสังคมนั้น
“ทุกครั้งที่มีการแข่งขันฟุตบอลแมตช์สำคัญๆ จำนวนคนเล่นพนันบอลก็จะพุ่ง ซึ่งการแข่งขันฟุตบอลโลกหนนี้มีการถ่ายทอดสดผ่านฟรีทีวี ในอีกด้านหนึ่งจึงน่าเป็นห่วงว่าจะส่งเสริมให้มีการเล่นพนันเพิ่มมากขึ้น จึงมีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้สังคมไม่ยอมรับค่านิยมนี้ โดยถึงแม้จะไม่สามารถทำให้พนันบอลหายไปจากสังคมไทยได้ แต่ทำอย่างไรไม่ให้การพนันแพร่ระบาด เพราะที่ผ่านมาหลังจากจบการแข่งขันฟุตบอล ก็มักมีข่าวตามมาว่า มีเด็กโดนทำร้ายในโรงเรียน เนื่องจากถูกตามทวงหนี้” นายประวิทย์กล่าวด้วยความเป็นห่วง
ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ธุรกิจพนันบอลของไทยเปลี่ยนจากการเล่นพนันผ่านโต๊ะบอลมาเป็นระบบออนไลน์มากขึ้น โดยพนันออนไลน์เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว มีอัตราต่อรองที่หลากหลายและดีกว่าโต๊ะบอล รวมถึงมีความปลอดภัยมากขึ้นต่อการถูกปราบปราม และไม่ต้องจ่ายค่าสินบนให้กับเจ้าพนักงาน
ทั้งนี้ ดร.วิษณุ ระบุว่า จากการสำรวจเมื่อปี 2556 พบประชาชนทั่วไปเล่นพนันผ่านทางเว็บไซต์สูง 18.58% เล่นผ่านโต๊ะบอล 17.60% และเล่นกันเองระหว่างเพื่อนฝูง 19.55% ซึ่งคนเหล่านี้รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์มากที่สุด 55.32% สื่อโทรทัศน์ 36.17% และสื่อหนังสือพิมพ์ 34.57% และมีผู้ยอมรับว่าเคยเป็นทั้งผู้เล่นและเจ้ามือรับแทงพนันบอล 22.70% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ในขณะที่ผลสำรวจการเล่นพนันบอลในกลุ่มนักศึกษา พบว่า เล่นพนันผ่านเว็บไซต์ 31.10% และเล่นผ่านโต๊ะบอล 74.51% โดยเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ถึง 82.57% สื่อโทรทัศน์ 34.13% และสื่อหนังสือพิมพ์ 30.96% และมีนักศึกษายอมรับว่าเคยเป็นทั้งผู้เล่นและเจ้ามือรับแทงพนันบอล 8.2%
** เร่งปรับปรุงกฎหมาย หาแนวร่วมจากทุกฝ่าย
ผศ.ดร.จิรศิลป์ จยาวรรณ ศูนย์การศึกษาด้านการสื่อสารและการบริการครบวงจร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เปิดเผยว่า การสกัดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์พนันออนไลน์ ในทางเทคนิคเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่ก็มีความลำบากยุ่งยากเช่นกัน กล่าวคือ หากใช้วิธีการบล็อก IP ก็อาจพบว่าเว็บไซต์มักมีหลาย IP ถ้าบล็อกไม่หมด เว็บไซต์นั้นก็สามารถเชื่อมต่อได้ ส่วนการบล็อกที่ url ก็มักพบว่าเว็บไซต์ผิดกฎหมายเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง url เรื่อยๆ ซึ่งก็ต้องมีคนคอยเฝ้าระวังหรือมอนิเตอร์ตลอดเวลา ขณะที่หากใช้วิธีการคัดกรองเนื้อหา ถ้าทำในระดับ ISP ก็ต้องตามไปคัดกรองในทุก ISP แต่ถ้าคัดกรองในระดับ gateway ก็ต้องเจอปัญหาการคัดกรองข้อมูลในระดับมหาศาล
“แม้จะมีการปิดกั้นเว็บไซต์พนันบอลออนไลน์ ก็ไม่ได้หมายความว่าการเล่นพนันดังกล่าวจะหมดไป เพราะผู้เล่นก็จะกลับไปเล่นพนันผ่านโต๊ะบอลมากขึ้น ตราบเท่าที่ยังมีความต้องการเล่นพนันกันอยู่ ดังนั้นการกำกับดูแลจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องช่วยกันกำกับดูแลเพื่อลดปัญหานี้”ผศ.ดร.จิรศิลป์ กล่าว
ด้านนายไพศาล ลิ้มสถิต ศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า รูปแบบการเล่นพนันในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ พ.ร.บ. การพนัน พ.ศ. 2478 เป็นกฎหมายที่ล้าสมัย ที่ผ่านมาคนที่เล่นพนันส่วนใหญ่ไม่เคยถูกจับกุมและดำเนินคดี มีเพียง 9-10% เท่านั้นที่ถูกจับกุมดำเนินคดี โดยกฎหมายระบุบทลงโทษผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 4 ทวิ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งคนที่ถูกจับกุมดำเนินคดีส่วนใหญ่ถูกปรับไม่เกิน 1,000 บาท ถือว่าโทษเบามาก
“ข้อเสนอคือยกเลิก พ.ร.บ. พนันฉบับเดิม แล้วออกกฎหมายฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนแจ้งเบาะแสเว็บไซต์พนันผิดกฎหมาย กระทรวงมหาดไทยต้องประสานกับตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลการปิดเว็บไซต์พนัน โดยทำเป็นสถิติไว้เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อดูว่าเว็บไซต์จะโผล่กลับมาอีกหรือไม่ รวมถึงมีมาตรการเรื่องการอายัดการทำธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการพนัน”นายไพศาลระบุ
** นักวิชาการแนะ กสทช. ร่วมกับองค์กรวิชาชีพแก้ปัญหา
ในมิติเรื่องบทบาทของสื่อ ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา (Media Monitor) เปิดเผยว่า จากการศึกษาปัญหาเรื่องพนันบอลนับตั้งแต่การแข่งขันฟุตบอลโลก 2006 พบว่าสื่อมีบทบาทอย่างมากต่อการตัดสินใจเล่นหรือไม่เล่นพนันบอล โดยพบว่าหลายสื่อมีการนำเสนอเนื้อหาทั้งในระดับที่นำไปใช้ในการพนันได้ทันทีโดยไม่ต้องตีความ เช่นการบอกอัตราต่อรอง การฟันธงทีมแพ้ทีมชนะ รวมไปถึงการชี้ช่องทางหรือแม้กระทั่งรับแทงพนันโดยตรง ซึ่งหากพบการกระทำที่ล้ำเส้น องค์กรวิชาชีพก็ต้องตักเตือน
“บางครั้งผู้ดำเนินรายการสายกีฬาก็มีแล่บหลุดไปบ้าง ด้วยความที่มีข้อมูลเยอะ บวกกับเป็นความสนใจส่วนตัว พอวิเคราะห์เกมการแข่งขัน ก็อาจมีการบอกอัตราต่อรองหรือทายผลแพ้ชนะ โดยเฉพาะรายการที่ไม่มีสคริปต์ ดังนั้นจึงต้องมีความระมัดระวัง และรู้จักแยกแยะบทบาทหน้าที่กับความสนใจส่วนตัว ไม่ล้ำเส้นเป็นการพนัน”ผศ.ดร.เอื้อจิต ยกตัวอย่าง
เช่นเดียวกันกับ นายธาม เชื้อสถาปนศิริ สถาบันการสื่อสาธารณะ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ที่มองว่า แนวปฏิบัติของสื่อมวลชนคือต้องระวังไม่นำเสนอเนื้อหาที่ชี้นำหรือชักจูงไปสู่การพนัน เช่น ไม่พูดถึงแต้มต่อรอง ไม่ชี้ช่องการเล่นพนันทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง
พร้อมกันนั้น นายธาม มีข้อเสนอถึง กสทช. ว่า ควรส่งเสริมมาตรการควบคุมและกำกับดูแลกันเองของสื่อ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ต้องสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์กรวิชาชีพตามประเภท แล้วให้องค์กรวิชาชีพเหล่านั้นจัดทำข้อบังคับจริยธรรมหรือแนวปฏิบัติจรรยาบรรณวิชาชีพ แล้วทำหน้าที่กำกับดูแลจริยธรรมกันเอง เมื่อเกิดกรณีผู้ประกอบการกระทำความผิด ก็ให้มีการตักเตือนและลงโทษกันเอง โดยกำหนดความรุนแรงของโทษเป็นลำดับชั้น แต่หากมีการกระทำผิดซ้ำๆ ก็ให้แจ้งมาที่ กสทช. ซึ่งอาจลงโทษถึงขั้นเพิกถอนใบอนุญาต
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย