- Details
- Category: กสทช.
- Published: Saturday, 30 May 2015 13:53
- Hits: 2436
ครม.อนุมัติกู้กองทุน กสทช. 1.43 หมื่นลบ.ใช้บริหารจัดการน้ำ-ระบบขนส่งระยะเร่งด่วน
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงให้สามารถส่งเสริมสนับสนุนด้านงบประมาณ โดยให้กระทรวงการคลังสามารถยืมเงินกองทุนของ กสทช.เพื่อใช้ในกิจการของรัฐอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้นั้น
ในวันนี้ ครม.เห็นชอบให้ยืมเงินจากกองทุนดังกล่าวจำนวน 14,300 ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งโครงการดังกล่าวจะต้องมีการกู้เงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท และกระทรวงคลังสามารถกู้เงินสกุลต่างประเทศได้ราว 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากการเงินการคลังในประเทศมีเสถียรภาพก็อนุมัติให้กู้เงินบาทได้
กรณีนี้กระทรวงคลังจึงขอกู้เงินจากกองทุน กสทช.แทน ซึ่งมีเงินเหลือจากการประมูลคลื่นความถี่ 4,351.90 ล้านบาท และเงินกองทุนเหลืออยู่ 15,440 ล้านบาท แต่เงินจำนวนหลังต้องเก็บไว้ใช้ในการดำเนินการเกี่ยวกับบริการโทรคมนาคมประมาณ 5,400 ล้านบาท จึงเหลือเงินกองทุนฯ ที่สามารถให้ยืมได้ 10,000 ล้านบาท รวมกับเงินเหลือจากการประมูลคลื่นความถี่ 4,300 กว่าล้านบาท เป็นให้กู้ได้ 14,300 ล้านบาท ทำให้สามารถประหยัดดอกเบี้ยได้ถึง 560 ล้านบาท
ทั้งนี้ มติ ครม.เมื่อวันที่ 17 มี.ค.58 เป็นแผนงานโครงการตามเงินกู้เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน ซึ่งของเดิมมี 1,200 รายการ ของใหม่เพิ่มเป็น 1,297 รายการ แต่ให้ใช้วงเงินเท่าเดิมคือ 78,294.85 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นเงินกู้จาก กสทช.จำนวน 14,300 ล้านบาท
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบแผนจัดการน้ำระยะเร่งด่วน แต่ให้มีการปรับรายละเอียดโครงการตามมติ ครม.เมื่อ 24 ก.พ.58 ที่กำหนดใช้งบกลาง มีการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดจากเดิม 224 รายการ จากทั้งหมด 1,838 รายการ เนื่องจากบางพื้นที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เช่น อยู่ในเขตพื่นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่อุทยาน พื้นที่ประวัติศาสตร์ บางกรณีเป็นพื้นที่ซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น
"เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ตำหนิว่าการบูรณาจัดทำแผนงานในระดับกระทรวง กรมเป็นไปตามปกติ แต่ระดับล่างหรือระดับท้องถิ่นคิดแผนมาไม่ดี ถ้าทำตามที่สั่งตั้งแต่แรกคือมีการบูรณาการแผนงานตั้งแต่ระดับจังหวัดก็จะไม่เกิดเรื่องแบบนี้"แหล่งข่าว กล่าว
นายกรัฐมนตรี ได้สอบถามว่าเรื่องนี้จะกระทบต่อภาพใหญ่แผนบริหารจัดการน้ำหรือไม่ ซึ่ง พล.อ.ฉัตรชัย ชี้แจงว่าไม่มีผลกระทบ เพราะได้ปรับแผนทุกอย่างให้สอดคล้องกับข้อมูลสภาพอากาศที่ได้จากกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแล้ว สามารถตอบโจทย์ต่อวิกฤติการณ์ต่างๆได้
อินโฟเควสท์