WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ลุ้นป.ป.ช.-สตง.-อัยการ เคลียร์ปมเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลงวด2 ทางออกทีวีดิจิตอลรุ่งหรือร่วง

        มติชนออนไลน์ : ณ นาทีนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลหลายรายคงใจเต้นตุ๊มๆ ต่อมๆ รอลุ้นว่าการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ จะอนุมัติให้เลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 ซึ่งมีกำหนดจะต้องจ่ายในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้หรือไม่
       จากเดิมที่ผู้ประกอบการมั่นใจว่า กสทช.จะเลื่อนการจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 ให้อย่างแน่นอนตามที่ได้ร้องขอ เพราะเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา บอร์ด กสทช.ได้อนุมัติในหลักการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมให้นำเรื่องเข้าสู่การทำประชาพิจารณ์อย่างเร่งด่วนภายใน 15 วัน จนเสร็จสิ้นกระบวนการ จึงเรียกได้ว่ากระบวนการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลได้เดินมาจนถึงช่วงโค้งสุดท้าย รอเพียงการอนุมัติว่าจะออกมาในรูปแบบใด ระหว่างเลื่อนจ่ายเงินตั้งแต่งวดที่ 2 เป็นต้นไป งวดละ 1 ปี หรือเลื่อนจ่ายงวด 2 เพื่อมาจ่ายรวมกับงวด 3 ในปี 2559 และการเลื่อนครั้งนี้ผู้ประกอบการต้องรับภาระค่าดอกเบี้ยหรือไม่
      แต่แล้วเหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจผู้ประกอบการ เพราะจู่ๆ กสทช.ก็มีท่าทีกลับลำ เพราะมีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน (เอ็นจีโอ) กลุ่มหนึ่งไปยื่นหนังสือคัดค้านการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 กับประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และมี คตง.บางคนแอบส่งสัญญาณต่อ กสทช.ว่า ถ้า กสทช.เลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 อาจมีความผิดจากการเอื้อประโยชน์แก่เอกชน และทำให้รัฐเสียหายเนื่องจากสูญเสียรายได้จากการได้รับเงินจากค่าประมูลทีวีดิจิตอลงวดที่ 2 ในปี 2558 จำนวนกว่า 8,000 ล้านบาท ทำให้ กสทช.เกิดอาการหวาดหวั่น จึงมีหนังสือสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยัง 3 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ชง 3 หน่วยงานช่วยตัดสิน
       นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การทำหนังสือสอบถามครั้งนี้เพราะต้องการความคิดเห็นว่าจะทำได้หรือไม่ แต่ส่วนตัวมองว่าการเลื่อนระยะเวลาการจ่ายเงินงวด 2 ออกไป เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงที่เกิดวิกฤต หลังประกอบกิจการปีแรกไม่สามารถสร้างรายได้ แต่หากให้เลื่อนไปโดยที่ไม่มีการเก็บดอกเบี้ยนั้น อาจส่งผลให้รัฐเสียหายได้ เพราะยังมีผู้ประกอบการที่ยังยืนยันจ่ายค่างวดตามกำหนดเวลา ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บก็จะต้องพิจารณาด้วยว่าอยู่ที่อัตราเท่าไหร่ โดยทั้ง 3 หน่วยงานจะต้องตอบกลับมาในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ เพื่อที่จะได้นำความคิดเห็นมาประกอบการตัดสินใจของบอร์ด กสทช.ที่จะประชุมในวันเดียวกัน
        และระหว่างรอคำตอบ ผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะเลื่อนการจ่ายเงินงวดที่ 2 ก็ให้ไปยื่นเรื่องด้วยตัวเองที่หน่วยงานทั้ง 3 เพื่อให้แต่ละหน่วยงานประกอบการพิจารณา 

ปัญหาลามทั้งอุตสาหกรรมทีวี
      จากท่าทีดังกล่าวของ กสทช. ทำให้ผู้ประกอบการดูจะไม่แฮปปี้นัก โดยนายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมผู้ประกอบการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลภาคพื้นดิน บอกว่า ผู้ประกอบการรู้สึกสับสนกับท่าทีการเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาของ กสทช. ทั้งที่ผู้ประกอบการชี้แจงจนเข้าใจสถานการณ์แล้ว แต่พอมีคนไปร้อง คตง. ทาง กสทช.กลับเปลี่ยนท่าที ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้ถามเรื่องดังกล่าวกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไปแล้ว ซึ่ง สตง.ไม่ได้ทักท้วงแต่ประการใด 
       โดยนายสุภาพ ระบุว่า การบริหารงานทีวีดิจิตอลปีแรก มีหลายปัจจัยที่รุมเร้า ทำให้การทำธุรกิจไม่เป็นไปตามเป้า ซึ่งหาก กสทช.ไม่อนุมัติให้มีการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลออกไป แน่นอนว่าแต่ละรายก็ต้องเดือดร้อนกันมาก และไม่เพียงแต่ทีวีดิจิตอลที่จะเดือดร้อนและมีปัญหาเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้วปัญหาดังกล่าวก็จะลามไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ หรือผู้จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล 
       "อยากให้ กสทช.อนุมัติให้เลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลออกไปตามเดิม และหากทั้ง 3 หน่วยงานที่ กสทช.ส่งหนังสือไปสอบถาม ต้องการให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลไปชี้แจงเหตุผลการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอล ก็พร้อมที่จะเข้าไปชี้แจง พร้อมทั้งหวังว่าทั้ง 3 หน่วยงานจะตอบกลับหนังสือมาให้ กสทช.ในแง่บวก ส่วนทางผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจะยังคงรอผลการพิจารณาชี้ขาดของบอร์ด กสทช.ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ ก่อนกำหนดท่าทีต่อไป"

เขมทัตต์ ฟันธงผู้ประกอบการรายใหม่เดือดร้อนสุด
       นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด สถานีโทรทัศน์พีพีทีวี กล่าวว่า หาก กสทช.ไม่อนุมัติให้มีการเลื่อนจ่ายเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลออกไป ทางผู้ประกอบการจะต้องนำเงินมาชำระภายในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ โดยกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบหรือเดือดร้อนมากที่สุดคือกลุ่มผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามาในอุตสาหกรรม ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่มาจากธุรกิจทีวีดาวเทียมจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และยังประคองตัวได้เนื่องจากยังมีฐานผู้ชมเดิมของตนเองให้การสนับสนุน ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการรายเดิมในระบบอนาล็อกจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้แต่อย่างใด 
      "ผมอยากให้หลายฝ่ายตัดสินใจให้ดี เพราะหากเกิดผู้ประกอบการเดือดร้อนจริงๆ ถึงขั้นไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ และต้องมีการคืนใบอนุญาต คนที่จะเสียประโยชน์ก็คือรัฐ เพราะจะไม่สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มเติมจากใบอนุญาตนั้นได้อีกเลย" 
      อย่างไรก็ดี จากการแสดงความเห็นของผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์พีพีทีวีนั้น ดูสวนทางกับท่าทีของผู้ประกอบการรายใหญ่ของอุตสาหกรรมที่มาจากทีวีอนาล็อกเดิม คือสถานีโทรทัศน์ช่อง 7 ที่เดินทางมาจ่ายเงินค่าประมูลให้แก่ กสทช.รายแรก จำนวน 638 ล้านบาท โดยไม่ฟังผลมติบอร์ด กสทช.ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ว่าจะออกมาอย่างไร หรือในส่วนของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ที่มีเรตติ้งรวมเป็นอันดับ 2 ซึ่งอ้างอิงจากผลประกอบการในไตรมาส 1 ของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) แม้กำไรจะลดลงจากปีก่อน แต่ก็ยังมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 743.94 ล้านบาท รวมทั้ง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หรือโมเดิร์นไนน์ ก็ยังสามารถทำรายได้ธุรกิจโทรทัศน์ไตรมาสแรกอยู่ที่ 692 ล้านบาท
       ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการที่มาจากธุรกิจทีวีดาวเทียม บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า บริษัทมีผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2558 เท่ากับ 805.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.7% จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยในจำนวนนี้ 82% มาจากธุรกิจสื่อทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 บนทีวีดิจิตอล และช่อง 2 บนทีวีดาวเทียม ด้านบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลประกอบการไตรมาสแรกของปีนี้เช่นกันว่า บริษัทพลิกกลับมามีกำไรสุทธิจำนวน 377 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 148% มีรายได้รวม 3,006 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ผลจากการปรับยุทธศาสตร์มุ่งเน้นธุรกิจหลักและการจัดโครงสร้างธุรกิจทีวีดิจิตอล
       แต่กลุ่มที่ออกมาเปิดตัวทางอ้อมผ่านผลการดำเนินงานว่าธุรกิจเริ่มจะประสบปัญหาแล้วก็คือ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ที่ทำหนังสือชี้แจงผลการดำเนินงานต่อกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ไตรมาสที่ 1 บริษัทขาดทุนสุทธิ 117.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 121.22 ล้านบาท หรือขาดทุนเพิ่มขึ้น 2,902.19% เป็นผลมาจากค่าใช้จ่ายธุรกิจทีวีดิจิตอลของบริษัทย่อยที่เพิ่มขึ้น และบริษัท โมโน เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) แจ้งผลการดำเนินงานต่อกรรมการและผู้จัดการ ตลท. ว่า ผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2558 ขาดทุนสุทธิ 68.05 ล้านบาท จากไตรมาสที่ 1/2557 มีกำไร 43.19 ล้านบาท หรือมีกำไรลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน 111.24 ล้านบาท คิดเป็น 257.56% ซึ่งมีสาเหตุจากค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด และค่าใช้จ่ายในการซื้อเนื้อหาเพิ่มขึ้นจากการลงทุนและขยายตัวของธุรกิจทีวีดิจิตอล
     แม้ยังไม่รู้ว่าผลชี้ขาดจะออกมาเป็นเช่นไร แต่ดูเหมือนธุรกิจทีวีดิจิตอลคงไม่ง่ายอย่างที่คิด!!....

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!