WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สนช.ตีกลับสรรหา'กก.กสทช.' หลังพบผู้สมัคร 4 รายมีปัญหา!!

    แนวหน้า : ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานในการประชุม ซึ่งมีวาระการประชุมเลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประเภทผู้ที่มีผลงานหรือมีความรู้ และความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ทางด้านกฎหมาย แทนตำแหน่งที่ว่างลง เนื่องจาก นายสุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช.ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไปดำรงตำแหน่งคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

   เป็นการดำเนินการตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 หลังจากที่คณะกรรมาธิการที่มี พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต ได้ดำเนินการตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการ กสทช.

    ทั้งนี้ มีผู้สมัครจำนวน 4 คน ได้แก่ 1.นายทวีเดช เส้งแก้ว ทนายความ 2.นายธนกรณ์ พูนภิญโญศักดิ์ ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย 3.พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ ผู้ปฏิบัติงานประจำรองประธาน กสทช.และ 4.รศ.นิพันธ์ จิตะสมบัติ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

    จากนั้นที่ประชุมได้มีมติให้ประชุมลับเรื่องดังกล่าว ใช้เวลาเกือบ 2 ชั่วโมง ภายหลังการประชุมลับ นายพรเพชร เปิดประชุมอีกครั้ง และมีมติด้วยคะแนนเสียง 138 ต่อ 13 คะแนน ไม่รับพิจารณาบัญชีรายชื่อที่ กสทช.ส่งมา เนื่องจากพฤติกรรมของผู้สมัครทั้ง 4 คนมีปัญหา อาทิ บางคนมีคดีความเรื่องคดีบุกรุก หรือบางคนเคยมีประวัติเรื่องการใช้งบประมาณในหน่วยงานราชการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งบางคนยังถ่ายรูปแอบอ้างใส่เครื่องหมายราชองครักษ์ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ทั้งที่ไม่มีคุณสมบัติมาติดในแผ่นพับแนะนำตัวเป็นกรรมการ กสทช.และบางคนยังมีความสัมพันธ์พิเศษกับกรรมการ กสทช.ชุดปัจจุบัน ดังนั้น ที่ประชุม สนช.จึงมีความเห็นให้ส่งเรื่องไปยังต้นสังกัด เพื่อเริ่มกระบวนการใหม่อีกครั้ง

นัดแรก-กสทช.เสนอวาระ เคาะประมูล 4 จีภายในปีนี้

     บ้านเมือง : รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (หรือบอร์ดดีอี-ดิจิตอล อีโคโนมี) นัดแรก มีการเปิดเผยวาระการประชุมกว่า 20 วาระ อาทิ เรื่องการประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ 4จี ในย่านความถี่ 900-1800 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ในวาระที่ กสทช.เสนอเปิดประมูลตามกำหนดการเดิม คือประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม หรืออย่างช้าภายในสิ้นปีนี้

    โดยใบอนุญาตที่จะเปิดให้ประมูลมีด้วยกัน 4 ใบอนุญาต คาดจะนำเงินเข้ารัฐ 4 หมื่นล้านบาท และเกิดการลงทุนติดตั้งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่นับแสนล้านบาท

   นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย คณะทำงานด้าน National Boardband, คณะทำงานด้านดาต้าเซ็นเตอร์, คณะทำงานด้านอี-คอมเมิร์ซ, คณะทำงานด้านดิจิตอลคอนเทนต์, คณะทำงานด้านกฎหมาย และคณะทำงาน Long Life education เป็นต้น โดยคณะทำงานแต่ละชุดจะมาจากข้าราชการ และหน่วยงานเอกชน เป็นต้น

    สำหรับ เรื่องการตั้งคณะทำงานเพื่อต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งในภาพรวมเริ่มคุ้นเคยมากขึ้น เพราะมีการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพิ่มขึ้น โดยบอร์ดดีอีต้องการให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจน โดยจะมีโครงสร้าง 5 เสาหลักคือ Hard Infrastructure, Soft Infrastructure, Service Infrastructure, Digital Economy Promotion และ Digital Society ทำหน้าที่ขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม

ระบุ'กสทช.'เจอประกาศิต'บิ๊กตู่' สั่งประมูล 4Gเสร็จในเดือนส.ค.นี้

   แนวหน้า : ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เป็นประธานว่า รับทราบการเตรียมการประมูล 4จี ภายใต้คลื่นความถี่ 900เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยมอบหมายให้ กสทช. ไปเริ่มขั้นตอนเปิดประมูลให้เสร็จสิ้นภายในเดือนส.ค.นี้ หลังจากประกาศของ คสช.ที่สั่งให้ชะลอการประมูลออกไป 1 ปี จะสิ้นสุดในวันที่ 17 ก.ค.นี้

   การเปิดประมูลครั้งนี้ต้องเปิดประมูลแบบไม่จำกัดคลื่นความถี่ เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น จึงขอให้เริ่มเลย เพราะจะได้ใช้ประโยชน์ หากมีการประมูลความถี่หลากหลายจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยไม่ได้ล็อกตัวเองอยู่ที่คลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพราะยังมีความถี่อีกเยอะ และเมื่อทำทั้งทีก็ทำให้สู้ต่างประเทศให้ได้ โดยเป็นอำนาจของกสทช.ที่จะไปหาวิธีการประมูล ซึ่งรัฐบาลจะไม่เข้าไปก้าวก่าย และในการประชุมครั้งนั้น นายกฯ ก็บอกว่า เดือน ส.ค.นี้ต้องทำให้เสร็จ ทางกสทช.ก็ตกลง ส่วนวงเงินในการประมูลก็อยู่ที่ กสทช.จะพิจารณา และจากนี้กสทช.จะรายงานความคืบหน้ามายังคณะกรรมการฯ เป็นประจำทุกเดือน

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบการเตรียมการเรื่องบรอดแบนด์แห่งชาติ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงระบบอินเตอร์เน็ตให้ได้ภายในปี 60 โดยต้องรวมโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติกของทุกหน่ายงานเข้ามาด้วยกัน ส่วนขั้นตอนการเตรียมความพร้อมเรื่องบุคลากร คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนจากนั้น จึงตั้งบริษัทขึ้นในช่วง 6-7 เดือน เพื่อดำเนินการ เช่นเดียวกับการเตรียมความพร้อมเรื่องศูนย์ข้อมูลในประเทศ (ดาต้า เซ็นเตอร์) คาดว่า จะใช้เวลาดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปี ทั้ง 2 เรื่องนี้ จะทำให้เสร็จให้ได้ภายในรัฐบาลนี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง

     ขณะเดียวกัน ยังได้รับทราบการเตรียมการให้บริการภาครัฐ โดยไม่ต้องแนบสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน ล่าสุดมีหน่วยงานภาครัฐรวม 7 กระทรวง ที่จะเริ่มดำเนินการก่อน เช่น กระทรวงมหาดไทย จะเริ่มวันที่ 23 เม.ย.นี้ ส่วนการเตรียมการด้านบุคลากร จะทำให้เสร็จใน 5 เดือนจากนี้ รวมถึงเรื่องการส่งเสริมการค้าผ่านสื่อดิจิตอล และการส่งเสริมธุรกิจเกิดใหม่ดิจิตอล

หม่อมอุ๋ย เผยมติบอร์ดดิจิทัลให้ประมูล 4G ให้แล้วเสร็จภายในส.ค.

    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมว่า รัฐบาลจะเดินหน้าเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4G โดยคาดว่าจะให้แล้วเสร็จภายในเดือนส.ค.58 ทั้งนี้ได้มีการหารือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ซึ่ง กสทช.ยืนยันว่าสามารถทำได้

    โดยในเรื่องของรูปแบบ หลักเกณฑ์ เงื่อนไขการเปิดประมูลต่างๆ นั้นรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง แต่จะให้เป็นหน้าที่การพิจารณาของ กสทช. เพียงแต่แนะนำว่าต้องการให้ขยาย Bandwidth ให้เพิ่มมากขึ้นเหมือนเช่นในต่างประเทศ ทั้งนี้ให้กสทช.เริ่มดำเนินการเปิดประมูลคลื่น 4G ได้ และต้องมีการรายงานความคืบหน้าให้คณะกรรมการเตรียมการด้านดิจิทัลฯ ได้รับทราบทุกเดือน

     ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่ารัฐบาลจะรวบรวมเส้นใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออฟติกของเอกชนและหน่วยงานราชการเพื่อสร้างเครือข่ายบอร์ดแบรนด์ โดยใช้เวลา 3 เดือน ซึ่งในระหว่างนั้นจะจ้างผู้เชี่ยวชาญในการวางแผน และตั้งบริษัทใน 6-7 เดือน และสร้างเน็ตเวิร์คใน 10 เดือน ซึ่งเชื่อว่าภายในปี 2560 จะมีอินเทอร์เน็ตจะครอบคลุมได้ทั่วถึงทุกหมู่บ้าน โดยตนเองจะเป็นประธานในการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่ายมือถือหลายค่ายเพื่อให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จ

    ขณะเดียวกัน จะมีการเปิดดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นใหม่ สำหรับเป็นศูนย์เครือข่ายรวบรวมข้อมูลทุกด้าน ซึ่งศูนย์นี้จะทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง โดยเปิดให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและรัฐจะเปิดให้เอกชนมาประมูล โดยจะให้แล้วเสร็จภายใน 12 เดือน และเปิดใช้งานให้ได้ภายใน10 เดือน

     นอกจากนี้ ยังมีโครงการลดสำเนากระดาษ เพื่อบริการประชาชน ซึ่งสามารถดึงข้อมูลได้จากบัตรประชาชนเพียงใบเดียว โดยจะขอความร่วมมือไปยังกระทรวงต่างๆ เพื่อออกกฎระเบียบในการให้บริการใหม่ โดยเฉพาะกระทรวงนำร่อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงมหาดไทย รวมถึงการขออนุญาตต่างๆ ก็จะลดให้การใช้สำเนากระดาษลง ซึ่งคาดว่าทั้ง 2 โครงการจะใช้เวลา 5 เดือนในการดำเนินการ

     รองนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า จะมีการเตรียมการส่งเสริมดิจิตอลคอมเมิร์ซ และสอนการใช้ดิจิตอลในธุรกิจเอ็สเอ็มอี พร้อมทั้งมีการจัดตั้งกองทุนดิจิตอลเพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงมีโครงการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่มีการตั้งคณะกรรมการรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีเครือข่ายการเรียนรู้ทางไกล โดยจะต้องมีการจัดแผนและนำเสนอในการประชุมครั้งต่อไป

                        อินโฟเควสท์

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!