- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 26 February 2015 22:35
- Hits: 2364
นายกฯ เผยจะพยายามเปิดประมูล 4G ภายในปีนี้ ด้าน'หม่อมอุ๋ย'เชื่อจะเปิดประมูลได้ ก.ย.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความ สงบแห่งชาติ(คสช.)ระบุว่า จะพยายามเปิดประมูล 4G ภายในปีนี้ เพราะประชาชน มีความต้องการ ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเรื่องนี้แล้ว ส่วนจะ เปิดประมูลได้ในเดือน ส.ค.หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการฯ และ กฎหมาย
"จะพยายามทำให้เร็วที่สุด ก็อยากให้ทันปีนี้ เพราะประชาชนทุกคนต้องการ ตอนนี้คณะกรรมการที่เพิ่งตั้งขึ้นมากำลังพิจารณาอยู่ แล้วต้องดูว่ากฎหมายทำได้ไหม ถ้าทำได้ก็ทำ กลไกต้องไปด้วยกัน"
ด้านนายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ระบุว่า เรื่องกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลไม่ได้ส่งผลให้การเปิดประมูล 4G ต้องเลื่อน ออกไป คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ(กสทช.)สามารถเดินหน้าเปิดประมูลต่อไปได้
"เรื่องกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเปิดประมูล 4G เลย เพราะเรื่องเปิดประมูล กสทช.สามารถเดินหน้าเปิดประมูลได้เลย เพราะอำนาจ ทั้งหมดอยู่ที่ กสทช.อยู่แล้ว" นายพรชัย กล่าวกับ"รอยเตอร์"
เขากล่าวว่า ก่อนหน้านี้การเปิดประมูล 4G ถูกระงับด้วยคำสั่งของ คสช.ซึ่งคำสั่งดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 17 ก.ค.นี้ ซึ่ง กสทช.ก็สามารถดำเนินการเรื่อง เปิดประมูลไปได้เลย ซึ่งเท่าที่มีการพูดคุยกันก่อนหน้านี้ การประมูล 4G จะเกิดขึ้น ในปีนี้อย่างแน่นอน ไม่น่าจะมีปัญหาอุปสรรคอะไร ทำให้การประมูลล่าช้าออกไป
ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะไม่มีการเลื่อนเปิดประมูล 4G โดยเชื่อว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน ก.ย.นี้
ทั้งนี้ รัฐบาลจะไม่ก้าวก่ายการเปิดประมูล 4G ของ กสทช.แต่รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการเสริม เพื่อดูเรื่องเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งจะมาพิจารณา เรื่อง 4G ด้วย ก่อนจะมอบอำนาจให้ กสทช.ไปดำเนินการเรื่องนี้ ซึ่งคำสั่ง ในการจัดตั้งคณะกรรมการเสริม น่าจะลงในราชกิจจานุเบกษาเร็วๆนี้ และ น่าจะเริ่มประชุมในเดือนกลางมี.ค.นี้
สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย
เอไอเอส'บุกพบ'อุ๋ย'หนุน 4 จี ขอความมั่นใจหลังส่อเลื่อนประมูล หุ้นกลุ่มสื่อสารร่วงยกแผงผวาข่าว
มติชนออนไลน์ : วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
บิ๊กเอไอเอสพบหม่อมอุ๋ย ยันรัฐบาลผลักดันเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 จี หนุนนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ด้านบรรยากาศซื้อขายหุ้น 25 ก.พ. กลุ่มสื่อสารร่วงต่อเนื่อง เอไอเอสมากสุด ชี้ผลกระทบเลื่อนเปิดประมูล คาดแค่ระยะสั้น จะดำเนินการได้ในครึ่งปีหลัง เร็วสุด ส.ค.นี้
นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวภายหลังเข้าหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธรรับปากว่ารัฐบาลจะให้การสนับสนุนและผลักดันการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4จี อย่างเต็มที่ เนื่องจากเรื่องนี้มีประโยชน์และเป็นเครื่องมือที่จะเป็นการสนับสนุนนโนบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารโดยเฉพาะหุ้นของค่ายโทรศัพท์มือถือทั้ง 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เคลื่อนไหวในแดนลบตลอดทั้งวัน ซึ่งเอไอเอสและทรูอยู่ติดอันดับหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด 2 อันดับแรกของวัน หลังกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาให้ข่าวว่า เรื่องการประมูล 4จี คณะกรรมการยังรอหนังสือตอบกลับจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องหากพ้นกำหนดคำสั่งชะลอการประมูลความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 4จีแล้ว จะสามารถเปิดประมูลได้ทันทีเลยหรือไม่ โดยหุ้นค่ายมือถือปิดการซื้อขาย เอไอเอสลดลงมากที่สุด ปิดการซื้อขายที่ 227 บาท ลดลง 10 บาท หรือ 4.22% รองลงมาคือ ดีแทค ปิดการซื้อขายที่ 85.50 บาท ลดลง 3 บาท หรือ 3.39% ขณะที่ ทรูปิดที่ 14.30 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อนหน้า
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ เอเชีย กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากรัฐบาลมีแผนจะเดินหน้าเป็นเศรษฐกิจดิจิทัล การเริ่มประมูลคลื่นความถี่ 4จี ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก จึงประเมินว่าผลกระทบการเลื่อนประมูลอาจเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น ซึ่งคาดว่าการประมูลจะสามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง หรือเร็วที่สุดเดือนสิงหาคม 2558 อย่างไรก็ตาม ค่ายมือถือเอไอเอสได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะมีย่านความถี่น้อย และมีฐานลูกค้ามาก
นางนัฐิยา พัวพงศกร ผู้จัดการงานนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่า กสทช.จะยังเปิดประมูล 4จี ตามกำหนดเดิม แต่หากไม่เปิดประมูล บริษัทได้เตรียมแผนการรองรับไว้แล้ว ปี 2558 บริษัทวางงบลงทุนไว้ 40,000 ล้านบาท โดยไม่รวมเงินลงทุนสำหรับ 4จี เน้นในการขยายความจุโครงข่าย 3 จี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น ทั้งนี้ ตั้งเป้าในการติดตั้งสถานีฐานเพิ่มขึ้นเป็น 29,000 สถานีฐาน รวมถึงอัพเกรดไวไฟให้มีความเร็วสูง 650 เมกะบิท
นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ในปี 2558 ตั้งเป้ารายได้จากการให้บริการไม่รวมค่าเชื่อมโยงโครงข่ายเพิ่มขึ้น 3-4% มาจากคุณภาพโครงข่ายที่สูงขึ้น โดยปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้รายได้เพิ่มขึ้น คือ โครงข่าย 3จี และ 2จี มีคุณภาพดีขึ้น และทดแทนรายได้จากการใช้งานเสียงที่คาดว่าจะลดลง
หม่อมอุ๋ย ตั้งเป้าพัฒนาระบบ 4G ทั่วปท. มั่นใจเปิดประมูลได้ในก.ย.นี้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนาขับเคลื่อนเอสเอ็มอีด้วยเศรษฐกิจดิจิตอลว่า เศรษฐกิจดิจิตอลเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิตอลได้ ประการแรกที่ต้องให้ความสำคัญ คือ "เงินทุน" เพราะต้นทุนในการเข้าถึงเว็บไซต์ หรือการจัดทำระบบออนไลน์ค่อนข้างสูงสำหรับ SMEs หากสามารถลดต้นทุนในการใช้ระบบดิจิตอลได้ ประชาชนหรือผู้ประกอบการก็จะสามารถเข้าถึงระบบดิจิตอลได้มากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่ตอบโจทย์ตรงนี้ได้ คือ 1. เนชั่นแนล บรอดแบนด์ โดยการพัฒนาระบบ 4G ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าใน 1 ปี ทุกหมู่บ้านต้องสามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ และอีก 1 ปีถัดไป ทุกบ้านต้องสามารถใช้ระบบออนไลน์ได้อย่างทั่วถึง
"รัฐบาลจะเร่งผลักดันการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 จีอย่างเต็มที่ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของรัฐบาล โดยการเปิดประมูลคลื่นความถี่ 4 จี จะเป็นเรื่องแรกที่คณะกรรมการเตรียมการเศรษฐกิจดิจิตอล ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานจะหารือในที่ประชุม หลังจากที่คณะรัฐมนตรีจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆในการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอลก่อนที่ร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลจะเสร็จสมบูรณ์ เพื่อให้การขับเคลื่อนการประมูล 4 จี และวางระบบอินเตอร์เน็ตเดินหน้าไปได้ มั่นใจว่าจะเปิดประมูลได้ภายในกันยายนนี้" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
โดยคณะกรรมการเตรียมการฯ ชุดนี้อยู่ระหว่างรอการประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากมีการประกาศจะเรียกประชุมทันที คาดว่าจะสามารถเรียกประชุมได้ภายใน 2 สัปดาห์หรือประมาณเดือนมี.ค.
รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอลจำนวน 10 ฉบับ มีการแบ่งคณะทำงานออกเป็น 2 ชุด โดยชุดแรกเป็นคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(บอร์ดดีอี) และคณะกรรมการปรับปรุงกฎหมายของกระทวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ(ไอซีที) เพื่อเปลี่ยนเป็นกระทรวงเศรษฐกิจดิจิตอล คาดว่าการตั้งคณะกรรมการฯทั้ง 2 ชุดจะตั้งเสร็จภายใน 2-3 เดือน โดยคณะกรรมการฯจะต้องขับเคลื่อนจัดตั้งนิติบุคคลร่วมระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อพิจารณาวางโครงการระบบเนชั่นแนลบอร์ดแบรนด์ การวางสายไฟเบอร์ออฟติกให้ครอบคลุมทั่วประเทศทุกหมู่บ้านภายใน 1 ปี ครึ่ง
2.จัดตั้งศูนย์ 'ดาต้า เซ็นเตอร์' ผ่านการก่อตั้งหน่วยงานวิเคราะห์ตลาดในทุกกระทรวง เช่น ตลาดสำหรับเด็ก ตลาดสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้ในทุกกระทรวงและสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการแต่ละตลาดมากที่สุด
และ 3.อินเตอร์เนชั่นนัล เกตเวย์ เป็นช่องทางเพื่อให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการสามารถหาข้อมูลจากเว็บไซต์ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม คือ การให้คำแนะนำวิธีการใช้ การเข้าถึงเว็บไซต์ รวมทั้งการจัดตั้งเป็นอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งมีกว่า 2.7 ล้านราย สามารถดำเนินธุรกิจได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ ได้วางแผนในการกำหนดกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินธุรกรรมข้ามแดนเป็นไปได้สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลทุกอย่างที่ส่งผ่านระหว่างกันเป็นไปได้ถูกต้องและเชื่อถือได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากจะให้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังส่งผลต่อการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข และการเกษตร ซึ่งช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้นอีกด้วย
ด้านนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า เศรษฐกิจดิจิตอลเป็นผลมาจากความเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัตของสังคมโลก อาทิ สถานการณ์การเงิน เศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี 2 มิติ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของระบบสังคมและปฏิสัมพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงฐานของการแข่งขันและแบบจำลองธุรกิจ เกิดเป็นรูปแบบใหม่ที่ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นพื้นฐาน และเปลี่ยนกระบวนการทางเศรษฐกิจจากเศรษฐกิจทางกายภาพ ไปสู่เศรษฐกิจดิจิตอล จึงเป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตมวลรวมของประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมได้ผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กไปสู่ขนาดใหญ่และเชื่อมโยงกับภาครัฐเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจมีการเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
ขณะที่นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมฯ ได้มีการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเพื่อเอสเอ็มอี ภายใต้แนวคิดดิจิตอลเอสเอ็มอีผ่านกิจกรรม 5 ด้านหลัก ซึ่งประกอบด้วย 1. ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิตอล อาทิ กลุ่มผู้เขียนแอพพลิเคชั่น และเกมส์ต่างๆ บนสมาร์ทโฟน หรือกลุ่มผู้ทำแอนิเมชั่นหรือกราฟฟิกดีไซน์ 2. เอสเอ็มอี อาทิ ระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กรโดยรวม ที่ใช้ในการบริหารด้านต่างๆ การจัดการห่วงโซ่อุปทานหรือการสต็อกสินค้า และการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ 3. การเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการโอทอป ส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโอทอปที่มีศักยภาพสามารถทำการการตลาดด้วยสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์
4. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิตอล อาทิ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน การอบรมสัมมนาในหลักสูตรการตลาดแห่งอนาคต และหลักสูตรเปิดร้านค้าออนไลน์แบบเข้าใจมีชัยแน่นอน และ 5. การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ เป็นการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรองรับการขยายตัวของการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล โดยตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบกว่า 2,500 ราย
สำหรับ ปี 2558 กรมฯ ได้วางแนวทางในการเน้นองค์ความรู้ในเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ การฝึกอบรมการใช้เฟซบุ๊ก เพื่อเพิ่มศักยภาพการตลาดเชิงลึก ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านซัพพลายเชนด้านไอทีแบบเจาะลึกตั้งแต่ขั้นตอนการสั่งซื้อวัตถุดิบ การวางแผนการผลิต กระบวนการผลิตสินค้า การบรรจุหีบห่อ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวมากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมให้นำระบบเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนในการทำการตลาด ช่วยลดขั้นตอนการทำงาน และช่วยจัดระบบให้กับงานเอกสาร เพื่อประสิทธิภาพในการเก็บข้อมูลให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงข้อมูลผลิตภัณฑ์ได้ทั่วโลก อีกทั้งจะเป็นปัจจัยเอื้อที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายและแพร่หลายขึ้นอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมที่ดีขึ้นด้วย
อินโฟเควสท์