- Details
- Category: กสทช.
- Published: Tuesday, 03 February 2015 22:25
- Hits: 2438
กทค.พรุ่งนี้พิจารณาคำขอ TOT บริการคลื่น 900 MHz เองหลัง ADVANC หมดสัญญา
รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจกาโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 3/2558 ในวันพรุ่งนี้มีวาระที่น่าจับตา คือ บมจ. ทีโอที จำกัด (TOT) ขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตและเสนอแผนการให้บริการคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz
สืบเนื่องจากสัญญาสัมปทานระหว่าง บมจ. ทีโอที และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือ เอไอเอส กำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายน 2558 บมจ.ทีโอที จึงได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช.เพื่อขอแก้เงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 และเสนอแผนการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 900 MHz หลังสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อนำคลื่นความถี่ไปใช้ให้บริการต่อไปเอง
อย่างไรก็ตาม เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ เมื่อการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในการให้เอกชนเป็นผู้ประกอบการสิ้นสุดลง สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ก็สิ้นสุดลงด้วย ดังนั้น ต้องคืนคลื่นความถี่ให้กับ กสทช.เพื่อนำไปจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลต่อไป ดังนั้น บมจ. ทีโอที ไม่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่ต่อไปได้
ก่อนหน้านี้ กรณีที่สัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับบริษัท ทรู มูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด สิ้นสุดลง ครั้งนั้น บมจ. กสท โทรคมนาคม ก็ได้ทำแผนขอปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ถึงสำนักงาน กสทช. ซึ่งที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 11/2556 ก็มีมติชี้ว่าสิทธิในการใช้คลื่นความถี่ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม สิ้นสุดลงตามสัญญาสัมปทาน ครั้งนี้จึงคาดว่ามติที่ประชุม กทค. ไม่น่าสวนทางแตกต่างออกไป
"ที่น่าลุ้นต่อจึงอยู่ที่ว่า สำนักงาน กสทช. จะสามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายก่อนสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดด้วยหรือไม่"รายงานข่าว ระบุ
นอกจากนี้ ยังมีวาระพิจารณา (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการอนุญาต และเงื่อนไขการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการดาวเทียมสื่อสาร พ.ศ. ... หลังจากเลื่อนการเสนอเข้าสู่การพิจารณามาหลายครั้ง
รายงานข่าวระบุว่า กิจการดาวเทียมสื่อสารของไทยถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่าเป็นกิจการที่มีลักษณะผูกขาด โดยผู้ให้บริการช่องสัญญาณมีเพียงบมจ.ไทยคม (THCOM) เพียงรายเดียว ขณะที่การยกร่างประกาศดังกล่าวก็เต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมาย ทั้งเรื่องหน่วยงานใดกันแน่ที่มีอำนาจหน้าที่ในการเป็น ITU Administrator เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลวงโคจร เรื่องผู้ประกอบการฝ่ายใดต้องเป็นผู้ประมูลใช้คลื่นความถี่ ระหว่างผู้ประกอบการดาวเทียมที่อยู่ในอวกาศหรือผู้ประกอบการสถานีภาคพื้นดิน
รวมถึงนโยบายเรื่อง Landing Rights ก็ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งถ้าหากอนุญาตให้ผู้ประกอบการดาวเทียมต่างชาติสามารถเข้ามาใช้สิทธิวงโคจรของประเทศ หรือสามารถเปิดให้บริการเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมกับสถานีภาคพื้นดินในประเทศ ก็จะช่วยให้ตลาดบริการโครงข่ายและช่องสัญญาณดาวเทียมเกิดการแข่งขัน ส่งผลให้อัตราค่าบริการถูกลง คุณภาพบริการดีขึ้น ดังนั้น การพิจารณาวาระนี้ของที่ประชุม กทค. จึงมีความสำคัญอย่างมากว่าจะเป็นการเปิดประตูนำไปสู่การแข่งขันกันมากขึ้น หรือยังให้ผูกขาดในกิจการประเภทนี้ต่อไป
อินโฟเควสท์