- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 13 May 2024 17:42
- Hits: 5179
สำนักงาน กสทช. ร่วมส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงดิจิทัลผ่านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หวังอุตสาหกรรมไทยพัฒนาเทคโนโลยีให้เข้าถึงกลุ่มคนพิการอย่างเท่าเทียม
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดสัมมนา “ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการเข้าถึงดิจิทัลผ่านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และการส่งเสริมความเข้มแข็งชุมชนผู้ใช้งาน” โดยมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NiA สถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เข้าร่วม
ศาสตราจารย์คลินิกนายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้กลายมาเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตประจำวัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่เทคโนโลยีพัฒนาไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วนั้น ก็มาพร้อมกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide) ซึ่งนับวันยิ่งทวีความเหลื่อมล้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ยังมีกลุ่มบุคคลอีกหลายกลุ่มในสังคมที่ขาดโอกาสในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับชีวิต เนื่องจากไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ ด้วยปัจจัยทางด้านการเงิน ปัจจัยทางภูมิศาสตร์ ปัจจัยทางสังคม หรือแม้แต่ปัจจัยทางด้านร่างกาย กลายเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
“การเข้าถึงดิจิทัลทำให้วิถีชีวิตมีความสะดวกสบาย การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต เกิดอาชีพ เกิดช่องทางการสร้างรายได้ที่หลากหลาย และในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พัฒนาการที่รวดเร็วของ Artificial Intelligence (AIs) จะยิ่งเร่งให้วิถีชีวิตของพวกเราเปลี่ยนแปลงไป จนเป็นภาพที่เราไม่สามารถจินตนาการถึงได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการทำงาน การผลิต การเข้าถึงสินค้าและบริการ รวมถึงการเข้าถึงข้อมูล ดังนั้นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างกระบวนการคิดที่คำนึงถึงประชาชนทุกกลุ่มอย่าง Inclusive Design และการส่งเสริมให้มี Assistive Technology จึงเป็นพันธกิจที่ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน ที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในประเทศให้ดีขึ้น” ประธาน กสทช. กล่าว
นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ทุกวันพฤหัสบดีที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม หรือปีนี้ตรงกับวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 เป็นวันตระหนักรู้ถึงการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม Global Accessibility Awareness Day หรือ GAAD ซึ่งเป็นวันสำคัญระดับสากลที่จัดขึ้นเพื่อรณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก และเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ สำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุ
GAAD มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในหมู่นักพัฒนาซอฟต์แวร์ ผู้ออกแบบ บริษัท และองค์กรต่างๆ ให้คำนึงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างเท่าเทียมกัน ส่งเสริมให้มีการบรรจุหลักการออกแบบเพื่อการเข้าถึงได้ (Accessible Design) ในหลักสูตรการศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พร้อมทั้งกระตุ้นให้ภาครัฐ และองค์กรต่างๆ พัฒนากฎหมาย และนโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับคนพิการ
GAAD มีความสำคัญ เพราะการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเท่าเทียมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะช่วยให้คนพิการมีโอกาสเท่าเทียมในการศึกษา การทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีศักดิ์ศรี นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และนวัตกรรมต่างๆ ได้คำนึงถึงกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ และบริการนั้นๆ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น จึงได้จัดสัมมนา โดยมี NiA และสถาบันชุณหะวัณเพื่อการพัฒนาธุรกิจเอสเอ็มอี มาร่วมสร้างความตระหนักด้วย
นายต่อพงศ์ กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. นอกจากการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมให้ประชาชนได้ดู ได้ยิน และได้โทรกับกลุ่มประชาชนทั่วไปแล้ว ยังต้องหาแนวทางส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ และลดช่องว่างที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำให้กับกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งมีปัจจัยต่อการเข้าถึงที่แตกต่างกัน ให้เข้าถึงเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด เช่น กลุ่มคนพิการ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องการนวัตกรรมจากเทคโนโลยี เพื่ออำนวยความสะดวกและเอื้อต่อการต่อการใช้ชีวิตให้ดำเนินไปอย่างราบรื่น เช่นเดียวกับทุกคนที่ต่างใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองต่อความต้องการในชีวิตประจำวัน
“ผมมองว่าเทคโนโลยียังต้องมอบความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย ปัจจุบันมีสิ่งที่เรียกว่า AIoT ที่ผมเล็งเห็นว่า เป็นนวัตกรรมจากเทคโนโลยีที่จะเข้ามามีบทบาทช่วยลดช่องว่าง และช่วยเติมเต็มให้กลุ่มคนพิการใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งผมมั่นใจว่าในอนาคตภาคเอกชนจะช่วยกันพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ สืบต่อไป โดยคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกกลุ่ม รวมทั้งกลุ่มคนพิการ แม้พวกเราอาจจะมีข้อจำกัดทางกายภาพและโอกาสที่แตกต่างกัน แต่ผมเชื่อว่าหลายคนพร้อมที่จะเรียนรู้ และปรับตัว เพื่อให้สอดคล้องกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นทุกวัน” นายต่อพงศ์ กล่าว
5325