- Details
- Category: กสทช.
- Published: Monday, 08 April 2024 11:21
- Hits: 7196
สำนักงาน กสทช. ชี้แจงผลการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง จำนวน 4 ฉบับ หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็มไปสู่ระบบใบอนุญาต
เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ ด้านกิจการกระจายเสียง เป็นประธานในการชี้แจงผลการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับผู้ทดลองออกอากาศในกิจการกระจายเสียง หลังจากที่ได้รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งได้มีการผ่อนคลายตามข้อเสนอของผู้ประกอบการในหลายประเด็น ณ หอประชุม สำนักงาน กสทช. โดยมี ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์มากกว่า 200 คน
ตามที่ กสทช. ชุดที่แล้วได้มีมติให้สถานีวิทยุทดลองออกอากาศในระบบเอฟเอ็มทั้งในส่วนของวิทยุชุมชน สาธารณะ และธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 3,809 สถานี (ชุมชน 156 สาธารณะ 592 และ ธุรกิจ 3,061 สถานี) ต้องยุติการทดลองออกอากาศหลังวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทำให้ กสทช. ชุดปัจจุบันต้องพิจารณาแนวทางดำเนินการเพื่อให้ผู้ทดลองออกอากาศดังกล่าวเข้าสู่ระบบการอนุญาตอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด โดยได้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 จากนั้นจึงได้นำความคิดเห็นที่ได้รับมาปรับปรุง (ร่าง) ประกาศฯ สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม ที่ได้จัดทำแผนความถี่วิทยุตามมาตรฐานสากลสามารถรองรับการอนุญาตสถานีวิทยุเอฟเอ็มได้ 2,779 สถานี โดยปราศจากการรบกวน
แต่หลังการรับฟังความคิดเห็นได้นำข้อคิดเห็นที่ดีและเหมาะสมโดยที่ไม่ผิดกฎหมายมาผ่อนคลายเงื่อนไข กล่าวคือ (1) การรบกวนกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งต้องไปทำความตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านภายหลัง (2) การรบกวนที่เกิดจากการใช้งานความถี่ข้างเคียง และ (3) การให้ย้ายที่ตั้งได้ภายในอำเภอนั้น ทำให้สามารถมีคลื่นความถี่เพิ่มขึ้นเป็น 3,346 สถานี จากเดิม 2,779 สถานี (เพิ่มขึ้น 567 สถานี) คงเหลือเฉพาะเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดการรบกวนกับสถานีที่ได้รับการอนุญาตแล้ว ซึ่งไม่สามารถผ่อนคลายได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย
โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดที่ต้องมีสัดส่วนการอนุญาตให้แก่สถานีวิทยุประเภทชุมชนและสาธารณะไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 จึงได้กำหนดจำนวนคลื่นความถี่ให้วิทยุชุมชนและสาธารณะจำนวน 838 สถานี และวิทยุธุรกิจจำนวน 2,508 สถานี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะที่มีอยู่ปัจจุบันรวม 748 สถานี นั้น ตามแผนฉบับนี้ มีคลื่นความถี่รองรับได้ทั้งหมดและสามารถมีสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะเกิดใหม่ได้อีก 90 สถานี อย่างไรก็ตามยังคงมีวิทยุธุรกิจที่คลื่นความถี่ไม่รองรับกับจำนวนสถานีปัจจุบันอีก 553 คลื่นความถี่ จึงได้มีข้อเสนอ 2 แนวทาง คือ (1) ต้องทำการทดลองทดสอบในภาคสนามจริงให้เป็นที่ปรากฏว่าไม่ก่อให้เกิดการรบกวนกับสถานีวิทยุที่ได้รับการอนุญาตแล้ว และ (2) ดำเนินการออกอากาศในระบบวิทยุดิจิทัล ที่จะเปิดโอกาสให้มีการทดลองทดสอบคู่ขนานในปีนี้
โดยมีแผนการดำเนินการ ดังนี้
2. (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงระบบเอฟเอ็ม และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ป้องกันการรบกวนการใช้คลื่นความถี่ของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่อกิจการวิทยุการบิน คงเป็นไปตามที่เสนอ ซึ่งมีข้อคิดเห็นในรายละเอียดเล็กน้อยด้วยการปรับลดขั้นตอนการส่งรายงานทางด้านเทคนิค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ โดยยังคงมีความเป็นมาตรฐานตามหลักสากล เช่นเดิม
“ข้อเสนอของผู้ประกอบการที่คัดค้านส่วนมากได้แก่ ไม่ต้องให้มีการประมูล รวมทั้งอนุญาตให้สถานีที่ทดลองออกอากาศอยู่เดิมได้รับอนุญาตต่อเลย นั้น เป็นสิ่งที่ กสทช.ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมาย ซึ่งที่มีผู้เสนอให้แก้ไขกฎหมายนั้น ส่วนตัวผมไม่ขัดข้อง เพราะเป็นเรื่องนโยบายที่ทางรัฐบาลเป็นผู้พิจารณา เพียงแต่ปัจจุบันบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดเช่นนี้ ในฐานะผู้ที่รับผิดชอบก็ต้องดำเนินการตามที่เป็นอยู่ให้ดีที่สุด ซึ่งสถานีวิทยุชุมชนและสาธารณะไม่ต้องประมูลอยู่แล้วก็จะได้เข้าสู่ระบบ โดยตามแผน กสทช. จะออกประกาศเชิญชวนให้ได้ภายในไตรมาสที่ 2 นี้ เพื่อให้สถานีวิทยุได้ออกอากาศต่อในปี 2568 โดยเป็นการเข้าสู่ระบบที่มีการพัฒนาทั้งรูปแบบและคุณภาพตามมาตรฐานสากล ส่วนสถานีวิทยุธุรกิจก็ควรเข้าสู่ระบบการอนุญาต เพียงแต่จะใช้วิธีประมูลหรือไม่ขึ้นอยู่กับกฎหมาย โดยอาจมีการพิจารณาขยายระยะเวลาสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าสู่ระบบใบอนุญาตระหว่างรอความชัดเจนของกฎหมาย รวมทั้งปัจจุบันได้มีการเปิดโอกาสให้มีการทดลองทดสอบวิทยุระบบดิจิทัลโดยประชาชนหรือผู้ทดลองออกอากาศอยู่เดิม เพื่อให้เกิดความเข้าใจและพัฒนาระบบด้วยตนเองก่อนที่หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตในวิทยุระบบดิจิทัลจะแล้วเสร็จในปีหน้า เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงทั้งรายเก่าและรายใหม่สามารถดำเนินการได้ให้สอดคล้องกับบริบทและเทคโนโลยีในปัจจุบัน ซึ่งผมมีความต้องการในการพัฒนากิจการกระจายเสียงที่ไม่เคยมีการพัฒนามามากกว่า 30 ปี เพื่อให้กิจการกระจายเสียงไทยยังคงดำรงการสร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ต่อไป” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ฯ กล่าว
4262