- Details
- Category: กสทช.
- Published: Thursday, 08 January 2015 12:29
- Hits: 2876
วันที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8807 ข่าวสดรายวัน
5 ค่ายมือถือ ปรับค่าโทร. ยอมคิดเป็นวินาที กสทช.สั่งใช้ 1 มีค.
วินาที - กสทช. แถลงข่าวหลังเชิญผู้ให้บริการทางด้านโทรศัพท์มือถือทั้ง 5 รายเข้า หารือ เรื่องการปรับโครงสร้างการคิดค่าบริการโทรศัพท์เป็นวินาที ตามที่มติสภาปฏิรูป แห่งชาติ(สปช.) โดยจะมีผลในวันที่ 1 มี.ค.นี้ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. |
กสทช.ถก 5 ค่ายมือถือ ยอมปรับ-คิดค่าโทร.เป็นวินาที ตามความเห็นชอบของสปช. ประเดิมโปร โมชั่นใหม่ทุกเครือข่าย 1 มี.ค.นี้ ทั้งเอไอเอส-ทรู-ดีแทค-ทีโอที-กสท ด้านเลขาธิการกสทช.เผยทุกค่ายมือถือยินดีปฏิบัติตาม หากปชช.ต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่นใหม่ไม่เสียค่าใช้จ่าย เตรียมประชาสัมพันธ์ให้ทราบ ชี้ไม่เกินปี เช็กผลการใช้งานได้
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 7 ม.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. และคณะกรรมการกิจการโทร คมนาคม (กทค.) ประกอบด้วย พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา และนายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ เข้าหารือเรื่องการคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ร่วมกับ ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5 ราย ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อดูความเป็นไปได้ในการคิดค่าใช้บริการโทรศัพท์มือถือตามจริงเป็นวินาที แทนการปัดเศษขึ้นเป็นนาที
ก่อนการหารือ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกทค. กล่าวว่า การคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้ให้เสร็จโดยเร็ว เพราะทางเทคนิค เอกชนต้องดูว่ามีปัญหาเรื่องซอฟต์แวร์หรือไม่ และการอภิปรายของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. ที่ผ่านมา ส่วนตัวได้รับฟังและเห็นว่าข้อเสนอในประเด็นนี้ ต้องดูที่ข้อเท็จจริงกับความเป็นไปได้ด้วย ประเทศไทยยังอยู่ในระบบการพัฒนาเทคโนโลยี มีทั้ง 2 จี, 3 จี และ 4 จี ไม่เหมือนต่างประเทศที่ไม่มีปัญหาเรื่องสัมปทาน ซึ่งการหารือครั้งนี้ต้องดูเอกชน ก่อนว่ามีปัญหาอุปสรรคหรือไม่
จากนั้นทั้งหมดได้ร่วมกันหารือ โดยใช้ระยะเวลาเกือบ 2 ช.ม. ก่อนนายฐากรแถลงผลการหารือว่า ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือทุกรายยินดีกลับไปทำโปรโมชั่นใหม่ ที่คิด ค่าใช้บริการตามจริงเป็นวินาทีและจะออกพร้อมกันในวันที่ 1 มี.ค.นี้ ขณะที่โปรโมชั่นเดิมที่คิดค่าใช้บริการตามนาทียังมีอยู่ สำหรับผู้ใช้บริการที่ไม่ต้องการเปลี่ยนโปรโมชั่น แต่โปรโมชั่นใหม่ที่คิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาที หากประชาชนต้องการเปลี่ยนมาใช้ก็สามารถเปลี่ยนได้ โดยผู้ประกอบการจะไม่คิดค่าใช้จ่าย และสามารถยกเลิกแจ้งโปรโมชั่นเดิมได้ พร้อมกันนี้ให้ผู้ประกอบการมือถือนำโปรโมชั่นใหม่นี้ขึ้นบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ และหลังจากที่ประชาชนเลือกใช้โปรโมชั่นใหม่ ต้องตรวจสอบการใช้งานได้ตามการใช้งานจริงทางเว็บไซต์ของ ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานอยู่
"เรื่องนี้ได้รับการประสานมาจากสปช. ตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค.2557 และกสทช.ตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2557 โดยมีนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการกสทช. เป็นประธาน จากนั้นเมื่อวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม สปช.มีมติเห็นชอบ โดยจะส่งเรื่องไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้พิจารณา ขณะเดียวกันตอนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของกสทช. จึงเชิญค่ายมือถือมาหารือร่วมกัน และได้ผลสรุปที่จะคืนความสุขให้กับประชาชน ด้วยการออกโปรโมชั่นใหม่ ที่มีการคิดค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาที ไม่เกิน 1 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะดูระยะหนึ่งว่ามีผู้ใช้บริการมากน้อยแค่ไหน ไม่เกิน 6 เดือนถึง 1 ปีน่าจะเช็กผลการใช้งานได้ จึงจะได้เห็นโปรโมชั่นการคิดค่าบริการเป็นวินาทีออกมามากขึ้นตามทิศทางของตลาด" นายฐากรกล่าว
นายฐากร กล่าวอีกว่า ความจริงต้องการให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือสามารถทำได้ในวันที่ 14 ก.พ.นี้ แต่ผู้ประกอบการต้องการเวลาไปปรับระบบ และวันที่ 14 ก.พ. อาจไม่ทัน ดังนั้นจึงเห็นร่วมกันว่าไม่เกิน 1 มี.ค.นี้ ส่วนเรื่องอื่นๆ อาทิ การผูกแพ็กเกจที่มีเงื่อนไข จ่ายค่าบริการล่วงหน้าไปแล้ว เป็นการบ้านที่ผู้ประกอบการมือถือต้องกลับไปทำมา โดย กสทช.ยืนยันว่าจะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเต็มที่ ประชาชนได้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างมีคุณภาพในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม
ด้านตัวแทนเอไอเอสกล่าวว่า ปัจจุบัน เอไอเอสมีโครงสร้างราคาคิดเป็นนาที ส่วนโครงสร้างราคาที่คิดเป็นวินาทีถือเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาต่อไป โดยเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ต้องใช้เวลา และจากนี้ต้องดูเงื่อนไข ขอเวลาก่อนว่าจะสามารถทำได้ตามเวลาหรือไม่ แต่เอไอเอสจะทำอย่างเต็มที่
ส่วนตัวแทนของทรูกล่าวว่า ตอนนี้ปัญหาคือ ระบบจัดเก็บเงิน (บิลลิ่ง ซิสเต็ม) ที่ต้องกลับไปพัฒนา ซึ่งถือเป็นเรื่องยาก แต่บริษัทต้องดำเนินการ โดยที่ผ่านมาบริษัทกำหนดโครงสร้างอัตราค่าบริการของแต่ละโปรโมชั่น เป็นไปตามพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้าอยู่แล้ว
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า การออกโปรโมชั่นใหม่คิดค่าบริการจริงเป็นวินาทีในวันที่ 1 มี.ค.นั้น ยังไม่รวมถึงทุกโปรโมชั่น เป็นเพียงโปรโมชั่นทางเลือกเท่านั้น จึงอยากเสนอให้กสทช. ออกประกาศเป็นข้อบังคับอย่างเป็นทางการ บรรจุไว้ในร่างประกาศการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ที่สำนักงานกสทช.ยกร่างขึ้น เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการถูกเอารัดเอาเปรียบ เพื่อให้ผู้ประกอบการค่ายมือถือทุกรายต้อง มีทุกโปรโมชั่นที่คิดค่าบริการเป็นวินาที เพื่อเป็นผลประโยชน์ต่อผู้บริโภค และจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าที่สู่ประชุมคณะกรรมการกสทช.ใหญ่ในวันที่ 21 ม.ค.
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้สปช.และสังคมต้องตอบว่าต้องการคิดค่าบริการเป็นวินาทีที่เป็นโปรโมชั่นทางเลือกหรือไม่ ซึ่งการคิดค่าบริการเป็นนาทีนั้น พบว่าประเทศไทย มีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ลงทะเบียนในปัจจุบัน 100 ล้านเลขหมาย จะได้รับผลกระทบทั้งหมด เพราะส่วนใหญ่จะใช้บริการเกิน 1 นาทีและมีเศษวินาที โดยโอกาสที่โทร.ลงตัวครบ 1 นาทีคิดเป็น 1 ใน 60 เท่านั้น และมีถึงร้อยละ 99 โทร. เป็นวินาทีที่ถูกปรับเศษเป็นนาทีทั้งหมด จึงประเมินว่าทุกวันจะมีการใช้งานที่ถูกปรับเศษวินาทีเป็นนาทีเกิน 100 ล้านนาที รวม ต่อเดือนกว่า 3,000 ล้านนาที ทำให้ผู้ประกอบการมือถือได้รับรายได้ส่วนเกินมากกว่า 4,500 ล้านบาท ต่อเดือน คิดเป็นปีมากกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท